นิคมอุดรฯชงขอสิทธิเทียบ EEC “ซีพี-2ยักษ์จีน” จ่อลงทุน

อรพิน พิพัฒน์วิไลกุล
สัมภาษณ์

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จังหวัดอุดรธานีเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว เนื่องจากมีชายแดนติดกับ สปป.ลาว ทำให้นักธุรกิจทั้งคนไทยและต่างชาติ มองถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก “โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว”

โดย นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธาน บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงรูปธรรมที่ปรากฏชัดว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นับรวมแล้ว นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีลูกค้า 4 ราย คือ แม่พยอม ซึ่งเป็นทุนท้องถิ่นเมืองอุดร, กลุ่มทุนจากเดนมาร์ก, บมจ.ซีพี ออลล์ และไอศกรีมเอเต้ เรามั่นใจว่า เมื่อซีพี ออลล์ เข้ามาตั้งฐานก็จะมีลูกค้ารายอื่น ๆ ตามมา เช่น อาจจะเป็นบริษัทลูก หรือบริษัทในเครือ เป็นต้น

2 ยักษ์โลจิสติกส์จีนจ่อลงทุน

ขณะเดียวกันช่วงนี้มีลูกค้าชาวจีนเข้ามาสอบถามข้อมูลค่อนข้างมากเรื่องสิทธิประโยชน์ และราคา เท่าที่สอบถามกิจการที่สนใจมาลงทุนเป็นประเภท นำวัตถุดิบเข้ามาผลิต และส่งออก คล้ายกึ่งอีคอมเมิร์ซก็มี และต้องการให้ออกใบรับรองการผลิตสินค้าที่ประเทศไทย Made in Thailand ก็มี และบางคนต้องการแรงงานไทย และใช้วัตถุดิบของไทยบางตัว รวมถึงเรื่องการเชื่อมรถไฟจีน-ลาว-ไทย

เมื่อครั้งที่ไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน นักธุรกิจในคุนหมิงให้ความสำคัญกับนิคมอุดรค่อนข้างมาก และกำลังหาวิธีเชื่อมต่อกับไทยอยู่ นักลงทุนจีนศึกษาแม้กระทั่งว่าท่าเรือบกของประเทศไทยที่ใกล้ที่สุดคือที่ไหน เราโชคดีมากที่กงสุลใหญ่จีนเคยมาเยี่ยมนิคมอุดร และเอานิคมอุดรไปกำหนดในผังแม่บทของจีนเรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดคือ มีโลจิสติกส์ใหญ่ 2 รายมาคุยกับเรา คือ “ไชน่าโพสต์” เป็นของรัฐบาลจีน ให้ความสนใจอยากจะเชื่อมโยงกับเรา เพียงแต่ขอให้มีไปรษณีย์ไทยอยู่ในพื้นที่เราด้วย เพื่อจะได้ง่ายต่อการขนส่งกระจายสินค้าภายในประเทศ

ส่วนอีกรายคือ “เสินจิ้งโลจิสติกส์” มีท่าเรือบกอยู่แล้ว มีทั้งรางรถไฟ และในอนาคตสนใจทำห้องเย็น เพื่อส่งสินค้าอาหารทะเล และผลไม้

ขอรัฐหนุน One Stop Service

สิ่งที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเน้น คือพยายามให้ลูกค้าที่เข้ามาลงทุนสามารถสร้างโรงงานได้ และไม่มีอุปสรรค ซึ่งตอนนี้กำลังทำโรงงาน และคลังสินค้า สำหรับลูกค้า SMEs กำลังจะเสร็จ 2 หลัง และกลางปีนี้จะทำคลังสินค้าสำหรับลูกค้า SML 25 หลัง

ส่วนที่กำลังเร่งอยู่คือ ซีวาย พื้นที่ 30 ไร่ มีคลังสินค้า 2 หลัง มีศุลกากรมาอยู่ด้วย ส่วนอาคารออฟฟิศกำลังก่อสร้างคาดว่าจะเสร็จปลายปีนี้ จะเริ่มเปิดใช้ต้นปี 2567 เป็นอาคาร 5 ชั้น มูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท ที่สำคัญกำลังขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ

1.สนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง อาหารและยา มาอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก ในพื้นที่ CY, ICD และ free zone

2.ด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างถนน local road เชื่อมต่อจากถนนเลียบทางรถไฟหนองตะไก้ จนถึงทางหลวงหมายเลข 216 ซึ่งได้ก่อสร้างระยะแรกไปแล้ว 1 กม. คงเหลือส่วนต่อขยายระยะทาง 12.74 กม. เพื่อเพิ่มเส้นทางสัญจรของประชาชนโดยรอบนิคม รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร รองรับการเป็น logistic hub ของนิคม รวมถึงวางเงินให้การรถไฟแห่งประเทศไทยก่อสร้างรางรถไฟเข้ามาภายในพื้นที่นิคมแล้ว

ขอสิทธิประโยชน์เทียบ EEC

ที่ผ่านมา กนอ.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์กิจการนิคม หรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ สำหรับโครงการเดิมและโครงการใหม่ สอดคล้องกับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่ต้องการเป็น “นิคมสมาร์ท” ต้องใช้เงินลงทุน ประมาณ 400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ทางคณะกรรมการบอร์ด กนอ.ได้มาประชุมความคืบหน้าโครงการ ทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จึงได้นำเสนอ 6 ข้อ ได้แก่

1.ขอให้ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC จังหวัดอุดรธานี เป็น 1 ใน 4 จังหวัด ที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ NeEC และเป็นจังหวัดเดียวในภาคอีสาน ที่มีนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ยังไม่ได้รับการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC (ไข่แดง)

เหมือนกับที่ EEC ดำเนินการ เนื่องจากผู้ประกอบการในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี

2.สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

ปัจจุบันผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ตามประเภทกิจการ โดยผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี ซึ่งยังไม่จูงใจสำหรับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน อุตสาหกรรมเป้าหมายของนิคม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการ A4 ของ BOI ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

ขอเสนอแนะ ขอให้พิจารณาให้ผู้ประกอบการในนิคมได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจาก BOI ตามเกณฑ์ area base คือ ผู้ประกอบการที่ลงทุนในนิคมทุกประเภทกิจการให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเพิ่มการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี

หรือได้รับการยกเว้นรวม 15 ปี ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะถือว่าเป็นการกระจายการลงทุนไปต่างจังหวัดที่ห่างไกลจากความเจริญ (zone 3) เหมือนที่ BOI เคยให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเมื่อก่อนปี 2558

3.การส่งเสริม logistics park ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ถือเป็น strategic location เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นประตูสู่ประเทศ CLMV และจีนตอนใต้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมแห่งเดียวที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน

บริษัทจึงมีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ logistic park โดยระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า และขออนุญาตจัดตั้งโรงพักสินค้าพร้อมลาน CY เพื่อบรรจุและตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก ระยะที่ 2 ขออนุญาตจัดตั้ง ICD พร้อมเชื่อมระบบรางเข้ามาภายในพื้นที่เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางเต็มรูปแบบ

ขอเสนอแนะ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จึงประสงค์ให้ กนอ.ช่วยผลักดันระดับนโยบาย ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนา logistic park ในนิคมอุดร ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อสร้างรางรถไฟภายนอกโครงการเชื่อมเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยการลงทุนก่อสร้างภายในนิคม บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด กรมศุลกากร อนุญาตการจัดตั้งโรงพักสินค้า และ ICD พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานพิธีการศุลกากรในพื้นที่นิคม

กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง มาอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก ในพื้นที่ CY, ICD และ free zone ของนิคม BOI ส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ประกอบการด้าน logistics

4.ด้านการกำกับดูแลและอนุมัติอนุญาตผู้ประกอบการในนิคม ปัจจุบันโครงการมีลูกค้ามาซื้อพื้นที่แล้ว 4 ราย ประกอบกิจการเกี่ยวกับแปรรูปอาหาร, ผลิตอะไหล่เครื่องจักรกล และศูนย์กระจายสินค้า ผู้ประกอบการต้องดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการตามกระบวนการที่ กนอ.กำหนด เช่น การขอใช้พื้นที่ประกอบกิจการ การขออนุญาตก่อสร้างอาคารโรงงาน เป็นต้น ปัจจุบันการยื่นเอกสารต่าง ๆ ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ กนอ.อธิบายให้ความรู้ ความเข้าใจ และให้ข้อแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความล่าช้า ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของผู้พัฒนานิคมอุดรไม่มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการขออนุมัติอนุญาตเพียงพอที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ

ขอเสนอแนะ จึงขอให้ กนอ.พิจารณาจัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน กำกับดูแล และอนุมัติอนุญาตในพื้นที่โครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นพี่เลี้ยง ร่วมแก้ไขปัญหาให้ความรู้ และข้อแนะนำให้แก่ผู้ประกอบการได้โดยตรง ขอให้ กนอ.จัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของผู้พัฒนาและผู้ประกอบการ ให้ทราบถึงกระบวนการขออนุมัติอนุญาตในเรื่องต่าง ๆ ในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม

5.ด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย โครงการมีพื้นที่ขายประมาณ 1,600 ไร่ ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ขายอีกประมาณ 1,200 ไร่ (หักพื้นที่ logistics park แล้ว) จึงขอความอนุเคราะห์ กนอ.ช่วยประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายพื้นที่ของโครงการด้วยอีกทางหนึ่ง

ขอเสนอแนะ ขอให้ กนอ.จัดทำแผนส่งเสริมประชาสัมพันธ์ การขายพื้นที่ของโครงการนิคมอุดร

6.การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) นิคมอุดรมีความสนใจพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และสร้าง Smart Building การใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าหลักเกณฑ์การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ได้ และจะได้รับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์พิเศษ จาก BOI แต่บริษัทยังมีคำถามในประเด็น

นิคมอุดรจัดอยู่ในประเภทโครงการเดิมที่ยังมีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) เหลืออยู่ตามประกาศ BOI ข้อ 1.2.1 (ปัจจุบันได้รับยกเว้น CIT 8 ปี และได้รับลดหย่อน CIT 50% เป็นเวลา 5 ปี) หากนิคมอุดรได้เป็น Smart I.E. แล้ว จะได้รับการยกเว้น CIT เพิ่มเติม 3 ปี (แต่ BOI ยกเว้น CIT สูงสุดได้ไม่เกิน 8 ปี)

ขอเสนอแนะ ขอให้ กนอ. วางข้อกำหนดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของนิคมอุดร สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้มีความชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการพัฒนา Smart Industrial Estate ตามข้อกำหนดของ กนอ.ต่อไป ขอให้ BOI พิจารณาการให้สิทธิประโยชน์พิเศษที่จูงใจให้ผู้พัฒนาและผูุ้ประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ