WHA เสนอทำสาธารณูปโภคนิคมอุดรฯ

WHAUP ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เสนอออกแบบวางแผนระยะยาวทำระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมแนะเปลี่ยนใช้พลังงานโซลาร์ ขณะที่ผู้บริหารนิคมอุดรฯ ลุ้นหวังจีบเป็นพันธมิตร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่า วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP และคณะได้เดินทางลงพื้นที่โครงการนิคมอุดรธานี โดยมีนายกองโท สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด, นายเสนีย์ จิตตเกษม ประธานกรรมการบริหาร, นางอรพิน พิพัฒนาวิไลกุล รองประธานกรรมการบริหาร และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ โดยช่วงเช้าเป็นการลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แหล่งน้ำดิบ พื้นที่จัดตั้งศูนย์ logistic ส่วนช่วงบ่ายเป็นการประชุมหารือแนวทางร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ที่อาคารต้อยติ่ง ถนนทหาร เขตเทศบาลนครอุดรธานี

นายเสนีย์ จิตเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ WHAUP ได้ไปรับฟังบรรยายสรุปที่สำนักงานกรุงเทพฯ มีความสนใจที่จะร่วมมือกัน โดยตั้งใจที่มาดูพื้นที่จริง ทางนิคมให้ข้อมูลไปมากมาย เชื่อว่าความร่วมมือกับ WHAUP ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมาดำเนินการโครงการ หรือทำกิจกรรมในพื้นที่นิคม เพราะโครงการส่วนหนึ่งทางนิคมอุตสาหกรรมได้ลงทุนไปพอสมควร ต่อจากนี้ไปมีความสำคัญและถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะสิ่งที่ลงทุนทำไปเป็นเพียงพื้นฐาน แต่ตอนนี้ทำเรื่องการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ ต้องอาศัยเรื่องการอำนวยความสะดวกกับนักลงทุน ต้องอาศัยประสบการณ์ WHAUP ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ หลังลงดูรายละเอียดแล้ว ทางนิคมยินดีถ้าสนใจดำเนินกิจกรรมกับนิคมในรูปแบบใดก็แล้ว และมีความเชื่อมั่นว่าหลัง WHAUP ได้ไปดูแล้วจะมีข้อคิดเห็นแจ้งมาดำเนินการ จะมีการศึกษาและกิจกรรมอย่างไรต่อไป

การลงพื้นที่จะได้เห็นกระบวนการ ข้อมูลพื้นที่สภาพภูมิประเทศ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้บริหารระดับสูงในการใช้ในการตัดสินใจ โดยเบื้องต้นทาง WHAUP เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ WHAUP ให้ความสนใจ ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือ ยอมรับ ทั้งในและต่างประเทศ มีชื่อเสียงที่จะนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะการมาดูในเรื่องการลงทุนแหล่งน้ำสำรองที่จะนำไปใช้ในอนาคต และเรื่องการใช้ไฟฟ้าที่ผู้มาลงทุนต้องมีพลังงานที่มีความเสถียร รวมถึงการดูเรื่องความก้าวหน้าของท่าเรือบก (CY)

“เรายินดีที่จะร่วมศึกษาร่วมเป็นพันธมิตรคู่ค้าคู่ขนานกัน มาบรรจบกันได้ในแง่ของข้อมูลและองค์ความรู้ที่พัฒนาไป ในส่วนที่เราคิดว่าเราจะสามารถ kick off ได้ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมเอง คือเรากำลังมองเรื่องรัฐส่งเสริมความเป็นไปได้ เช่น อาจนำพื้นที่ส่วนหนึ่ง จำนวน 40 ไร่ ทำเป็นโกดังสินค้า จากสภาพจังหวัดอุดรธานีมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด จากรถบรรทุกที่เข้าไปในเมืองประสานกลุ่มทุนต่าง ๆ ในเมืองอุดรฯ ว่าต้องการที่จะมีคลังสินค้าหรือไม่ เพื่อเก็บรักษา บริหารสต๊อกสินค้า ดีกว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย มีแผนรองรับเรื่องท่าเรือบกหรือคอนเทนเนอร์ยาร์ด ต้องใช้ความร่วมมือและศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปได้คิดว่า WHAUP จะเป็นพี่เลี้ยง หรือให้ข้อมูลกับเรา ส่วนความคืบหน้าเฟสแรก 900 กว่าไร่ คาดว่าจะเกิดขึ้นได้กลางปี 2562”

นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า ทางบริษัทมีความสนใจในฐานะเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคมาเป็นเวลานาน ตามเป้าประสงค์ของบริษัทให้บริการไม่จำกัดเพียงนิคมอุตสาหกรรมของ WHA เท่านั้น แต่มองเห็นโอกาส การเดินทางมานิคมอุตสาหกรรมอุดรฯวันนี้ โดยภาพรวม WHAUP มีความสนใจ 2 ส่วน คือความร่วมมือกับทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯในการศึกษาและช่วยวางแผนระยะยาวเรื่องระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ

เนื่องจาก WHAUP มีประสบการณ์ในการลงทุนเรื่องระบบน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า ดังนั้นทาง WHAUP สามารถออกแบบเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้ เช่น หากนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯจะเปลี่ยนระบบพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ จะไม่มีมลพิษ และไม่ใช้น้ำในการผลิต ส่วนในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ในระยะแรกจะมีปริมาณขยะเกิดขึ้นไม่มากพอที่จะทำเป็นโรงไฟฟ้า ต้องวางแผนรองรับไว้

ทั้งนี้ จากการพิจารณาองค์ประกอบของนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯทั้งหมดแล้ว โดยความเห็นส่วนตัว อาจมีข้อจำกัดที่ต้องศึกษาให้ดี 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องปริมาณน้ำ แต่ละธุรกิจต้องใช้ปริมาณน้ำไม่เท่ากัน และ 2.เรื่องวัตถุดิบ คือนำสู่เป้าหมายของลูกค้าที่จะเข้ามาในนิคมเหลืออีก 1 องค์ประกอบที่ต้องร่วมกันทำการบ้าน คือลูกค้าที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องวางกลยุทธ์และเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามา

“เราแชร์ประสบการณ์ภาพจริงที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกิจนิคม ทุกอย่างต้องวางแผนทำเป็นช่วงเป็นกระบวนการ จะมีช่วงเวลาในการพัฒนาเรื่องพื้นที่ ลูกค้าที่มาซื้อจะมีช่วงเวลา เรื่องขนาดของเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีน้ำ เทคโนโลยีน้ำเสีย เทคโนโลยีเรื่องขยะที่จะแปลงเป็นพลังงานน้ำ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเชิงตัวเลขที่สามารถใช้ในการวางแผนและประมาณการได้ เป็นสิ่งที่เรายินดีแชร์ข้อมูลในส่วนของการศึกษาช่วยทำช่วยคิด อย่างไรก็ตาม เรามาดูแล้วมีความประทับใจ มีความเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนจังหวัดอุดรธานีให้การสนับสนุนธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ ทั้งหมดน่าจะมาจากผู้บริหารมีแนวคิดการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนจะได้ผลประโยชน์ไปพร้อม ๆ กับนิคม จุดหลักนี้มีความสำคัญมากในการประกอบการนิคม หรือประกอบการใด ๆ” นายวิเศษกล่าว