เก็บค่าเหยียบแผ่นดินกระทบมาเลย์เที่ยวไทยลด 50%

หาดใหญ่

ธุรกิจโรงแรม-ท่องเที่ยวสงขลา-นราธิวาส ร้องจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” กันยายนนี้ คาดชาวมาเลย์หายวูบกว่า 50% กระทบรายได้ด้านท่องเที่ยว-การค้าหนักเฉียด 2 หมื่นล้าน เหตุเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น คนมาเลย์ลดเดินทางมาจับจ่ายสินค้าในไทย จี้รัฐทบทวนนโยบายเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พ.ศ. …(หรือเรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน”) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ

โดยกำหนดค่าธรรมเนียม 300 บาทต่อคนต่อครั้ง สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางอากาศ และ 150 บาทต่อคนต่อครั้งสำหรับผู้เดินทางเข้าช่องทางบกและช่องทางน้ำ ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับหนังสืออนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ ตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ผู้โดยสารผ่าน (transit passenger) ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการ ท.ท.ช.กำหนด โดยมีสวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวผ่านประกันอุบัติเหตุ การเสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศนั้น

ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา กรรมการผู้จัดการโรงแรมออสการ์ พาเลส จ.สงขลา และนายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือนกันยายน 2566 ทางรัฐบาลจะเริ่มจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 150 บาทต่อคนต่อครั้งสำหรับผู้เดินทางเข้าช่องทางบก

ส่วนช่วงวันหยุด และช่วงเช้า-เย็น นอกเวลาราชการ บวกเพิ่มอีก 25 บาท รวมเป็น 175 บาทต่อคนต่อครั้ง ซึ่งตนคิดว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาที่มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งปกติชาวมาเลเซียจะนิยมเดินทางเข้ามาใน จ.สงขลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เทศกาล และวันหยุดยาว ใน 2 ลักษณะคือ ด้านการท่องเที่ยวและด้านการค้า

ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดประเทศมีชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาใน จ.สงขลาเฉลี่ยประมาณ 2 แสนคนต่อเดือน ซึ่งเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คิดเป็นประมาณกว่า 2 ล้านคนต่อปี เคยสร้างรายได้ประมาณ 34,000 ล้านบาท แต่หากมีการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขการเดินทางของชาวมาเลเซียหายไปประมาณ 50% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้การค้าของประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว

“ที่ผ่านมาทางสมาคมโรงแรมฯ ได้ทำหนังสือขอให้ทบทวนเรื่องนี้เข้าไป แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ผมเองเป็นห่วง อย่างเทศกาลสงกรานต์ เมื่อวันที่ 12-16 เมษายน 2566 ชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์กว่า 40,000 คน โรงแรมมีการใช้บริการเต็ม ทั้ง อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา จ.สงขลา

ปกติชาวมาเลย์หลายคนนิยมขับรถเดินทางเข้ามาในหาดใหญ่เป็นประจำทุกวัน โดยวันปกติเข้ามาหลัก 1,000 คน ช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวหลัก 10,000 คน บางคนเข้ามาเดือนละหลายครั้ง เพื่อมาซื้อสินค้าหลายตัวที่มีราคาถูกกว่าในมาเลเซีย

แต่หากมีการเก็บค่าธรรมเนียมค่าเหยียบแผ่นดินเพิ่มขึ้น เมื่อบวกรวมแล้วราคาสินค้าอาจจะเท่ากับที่ซื้อในมาเลเซีย หรืออาจจะสูงกว่าก็เป็นได้ จะส่งผลกระทบให้ร้านค้าของชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบ หรือบางครอบครัวในช่วง 1 เดือนอาจจะแวะเข้ามากินข้าวที่หาดใหญ่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ พ่อแม่ลูก 4 คน ต้องเสียเงินค่าเหยียบแผ่นดินแล้ว 600 บาท ต่อไปอาจจะลดจำนวนครั้งของการเดินทางเข้ามาสงขลา ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการในพื้นที่”

ดร.สิทธิพงษ์กล่าวว่า ทางประเทศมาเลเซียมีการจับเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แต่จะจัดเก็บเฉพาะคนต่างชาติที่เข้าพักในโรงแรม แต่คนที่เดินทางไป-กลับ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตัวนี้ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลบอกว่าการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินของไทยมีสวัสดิการคืนให้นักท่องเที่ยวผ่านประกันอุบัติเหตุ การเสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศนั้น

จริง ๆ ไส้ในของเงิน 150 บาท แบ่งเป็นค่าประกันอุบัติเหตุ ประมาณ 20-30 บาทเท่านั้น เงินที่เหลือส่งเข้ากองทุน และเงินที่เก็บไปไม่รู้จะได้นำกลับมาพัฒนาด่านชายแดนหรือไม่ เพราะทุกวันนี้นักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามาต้องยืนต่อแถวแดดร้อนไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้

ดร.นิเมต พรมพยัต ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาสเปิดเผยว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไทย-มาเลเซีย ได้รับผลกระทบแน่นอนจากการจับเก็บค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดิน 150 บาท/คน/ครั้ง โดยเฉพาะด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก นราธิวาส และด่านศุลกากรเบตง จ.ยะลา

เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียส่วนใหญ่เดินทางมาเป็นครอบครัว การเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างมีความกังวลว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียเข้ามาลดลง

“ปัจจุบันชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาทางจังหวัดภาคใต้ของไทย ไม่ไปท่องเที่ยวภูมิภาคอื่น ๆ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่ดี จึงมาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ มั่นใจว่าจะเกิดผลกระทบทันที นโยบายนี้ต้องรอรัฐบาลใหม่ ที่จะต้องมีการแก้ไขเพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้าการท่องเที่ยวชายแดน”

นายวิทยา แซ่ลิ่ม มัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดินที่จะเก็บจากนักท่องเที่ยวชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่สตูล สงขลา นราธิวาส และ จ.ยะลา จะกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่จะกระทบก่อนคือกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวที่จัดทำโปรแกรมทัวร์ไว้ล่วงหน้า