หมูเถื่อนล้นท่าเรือแหลมฉบัง พิรุธสวมพิกัด “นำเข้าปลา”

หมูเถื่อน

“หมูเถื่อน” เหิมเกริมนำเข้าหนัก ทำผู้เลี้ยงหมูกระอัก ราคาดิ่งหมูมีชีวิตเหลือ 72-73 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนเกือบ 100 บาท/กก. ขาดทุนยับ ประชุมด่วนร้องตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายแก้ปัญหา หากไม่ได้รับการแก้ไขเตรียมแจ้งความ-ร้อง DSI-ป.ป.ช.เอาผิด เผยสถิตินำเข้าปลาปี 2564-2565 พุ่งผิดปกติระดับเฉียด 2 หมื่นล้าน

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากการนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศที่มีอย่างมโหฬาร ผ่านแหล่งต้นทางใหญ่นำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มซื้อขายกันจริงดิ่งลงเหลือเพียง 72-73 บาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนผู้เลี้ยงรายย่อยตกเกือบ 100 บาทต่อ กก. ผู้เลี้ยงรายกลางต้นทุนอยู่ที่ 80 บาทต่อ กก. และต้นทุนรายใหญ่อยู่ที่ 70 กว่าบาทต่อ กก. และราคายังมีทิศทางดิ่งลงอีก

สวนทางกับต้นทุนราคาอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่กำลังการบริโภคลดลง แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว แต่การบริโภคยังน้อย ส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายเล็กและรายกลางที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มกลับมาลงเลี้ยงใหม่ไม่สามารถอยู่รอดได้ ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่อยู่ได้เพียงประคองตัว เพราะราคาขายระดับนี้ไม่มีกำไร ดังนั้น จึงได้เสนอตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงสุกร กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เข้ามาแก้ปัญหากันอย่างจริงจังก่อนที่ผู้เลี้ยงจะตายกันหมด

“ราคาหมูตอนนี้ขึ้นกับจำนวนหมูเถื่อนที่เข้ามา หากเข้ามามากราคาถูกกดไว้ ตอนนี้ปริมาณหมูในระบบของคนเลี้ยง เป็นหมูแม่พันธุ์ยื่นอุ้มท้องเกิน 1 ล้านตัว จะคลอดช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2566 จะทำให้ปริมาณหมูภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันหมูขุนมีประมาณ 17-18 ล้านตัว ถ้าการนำเข้าหมูเถื่อนยังทะลักเข้ามา ราคาหมูดิ่งลงไปอีก คนเลี้ยงตาย โดยจะเริ่มปลดแม่หมูออก เพราะไม่มีเงินค่าซื้ออาหารสัตว์ให้กิน เพราะราคาอาหารสัตว์สูง คนจะกลับมาเลี้ยงใหม่ คงชะลอหยุดก่อนดีกว่า”

เล็งแจ้งความ-ร้อง DSI-ป.ป.ช.

แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เชิญสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภาคมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกกรณีปัญหาหมูเถื่อน โดยแหล่งต้นทางใหญ่นำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง โดยการสำแดงเท็จว่า เป็นสินค้าอื่น โดยเฉพาะปลา และนำออกมาขายเกลื่อนตลาด ทำให้ราคาหมูในดิ่งลงมาก ที่ประชุมได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางถึงความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงในแต่ละภาค ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมูเถื่อนที่มีการนำเข้าอย่างเป็นกระบวนการ มีการเหิมเกริมโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

ดังนั้น ข้อสรุปทางสมาคม ประกอบด้วย 1.เสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ตัวผู้เลี้ยงเองในนามสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว 2.สมาคมจะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรให้เปิดเผยรายชื่อผู้นำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย เพื่อจะได้ประสานงานกับกรมปศุสัตว์ในการเข้มงวดผู้นำเข้าที่ผิดระเบียบ 3.หากกรมศุลกากรไม่ยอมเปิดเผยอาจจะต้องแจ้งความ รวมถึงมีการหารือเรื่องการตั้งทนาย เพื่อทำเรื่องฟ้องร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะถือเป็นกระบวนการทำลายตลาดสุกรในประเทศ ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สมาคมได้เข้าพบผู้บริหารกรมศุลกากรที่แหลมฉบัง เพราะอยากทราบว่า ทำไมหมูเถื่อนถึงผ่านเข้าออกจากแหลมฉบังได้เป็น 1,000 ตู้ต่อเดือน ตลอดปีกว่าที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า กรมศุลกากรได้มีการตรวจสอบพบหมูเถื่อนในท่าเรือแหลมฉบัง 140 ตู้ สำแดงเป็น “ผลิตภัณฑ์แช่แข็ง” ไม่ได้บอกเป็นเนื้อหมู และไปตรวจสอบพบหมูเถื่อนที่ท่าเรือเอกชนอีก 21 ตู้

โดยเฉพาะหมูเถื่อน 140 ตู้ บรรจุตู้ละประมาณ 30 ตัน ได้ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังมานาน 7-8 เดือน สมาคมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดไม่มีการแจ้งกรมปศุสัตว์เข้าไปตรวจสอบ ลงตราประทับว่า ผิดกฎหมายและทำลาย ขณะเดียวกันทางสมาคมต้องการให้กรมศุลกากรเปิดเผยรายชื่อผู้นำเข้า แต่ทางกรมศุลกากรไม่ยอมเปิดเผยชื่อผู้นำเข้าและชิปปิ้ง ทั้งที่ปกติหากสินค้าใดตกค้างอยู่ 30 วัน ตามขั้นตอนกรมศุลกากรสามารถติดต่อเจ้าของสินค้า

หากไม่มาเคลียร์สามารถนำสินค้ามาเปิดประมูลขายได้ แต่กลับปล่อยให้หมูเถื่อนวางตู้ในพื้นที่ โดยเรียกเก็บค่าเช่า 3,000 บาทต่อตู้ต่อเดือน และเก็บค่าไฟ เนื่องจากเป็นตู้ห้องเย็นอีก 1,000 บาทต่อตู้ต่อเดือน สินค้าค้างอยู่ 8 เดือนเท่ากับ 5,152,000 บาท โดยไม่ดำเนินการอย่างใด สะท้อนว่า เรื่องนี้น่าจะมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ทำให้ข้าราชการผู้น้อยไม่กล้าแตะต้อง

ขณะเดียวกันได้มีบริษัทผู้ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใส่หมูเถื่อนดังกล่าวได้โทรศัพท์มาที่สมาคม ต้องการให้สมาคมช่วยบี้กรมศุลกากร เพราะต้องการเอาตู้กลับ เพราะค้างมา 7-8 เดือนแล้ว โดยบริษัทให้เช่าตู้บอกว่า มีเจ้าหน้าที่กรมศุลฯแนะนำให้นำตู้กลับออกไปนอกราชอาณาจักร (reexport) โดยให้สำแดงเป็นสินค้าอย่างอื่น

ทูตบราซิลขอพบสมาคมหมู

นายสุรชัย นายกสมาคมได้แจ้งเพิ่มเติมว่า เมื่อเช้าวันที่ 24 เมษายน 2566 เลขาฯของเอกอัครราชทูตประเทศบราซิล ได้ติดต่อขอพบตน ซึ่งที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่บราซิลอยากจะมาคุยกับสมาคม เพราะหมูเถื่อนกล่องที่เข้ามาส่วนหนึ่งระบุต้นทางข้างกล่องชัดเจนว่ามาจากประเทศบราซิลหรือไม่ คนที่ติดต่อมาพยายามบอกว่า หมูจากบราซิลได้มาตรฐานสุขอนามัย ซึ่งเป็นคนละประเด็น เพราะหมูที่นำเข้ามาเป็นหมูผิดกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ทราบกันในวงการว่า มีผู้บริหารระดับสูงของกรมปศุสัตว์ได้แนะนำให้ทูตบราซิล reexport ตู้หมูเถื่อนดังกล่าวกลับไป

สถิตินำเข้าปลา 3 ประเทศพุ่ง

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงตัวเลขสถิติการนำเข้าสินค้าของกรมศุลกากร เปรียบเทียบช่วงปี 2564 และปี 2565 มีการนำเข้าปลาจำนวนมากผิดปกติมาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ บราซิล สเปน ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตหมูส่งออก และตรงกับข้างกล่องของหมูเถื่อนส่วนใหญ่ที่นำเข้ามา ซึ่งทราบกันดีในวงการที่ผ่านมามีการสำแดงเท็จเป็นปลา ทำให้ยอดนำเข้าปลาสูงผิดปกติ

ขณะที่สถิติการนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรและเครื่องใน รหัส HS CODE 0203 เครื่องในสุกร 0206 ปี 2565 ปกติ โดยสินค้ารหัส 0301-0307 กลุ่มปลา กุ้ง หอย สัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะรหัส 0303 ตั้งแต่ปี 2562/2563/2564/2565 จะเห็นว่า มียอดการนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2565 มีการนำเข้าที่สำแดงเป็น “ปลา” เพิ่มขึ้นมากถึง 16,606,386,533 บาท

รหัส 0303 ที่ระบุเป็นปลาแช่แข็ง นำเข้าจากประเทศสเปน ปี 2564 นำเข้า 154,438,295 บาท ปี 2565 นำเข้าเพิ่มเป็น 1,205,471,212 บาท นำเข้าจากประเทศบราซิล ปี 2564 นำเข้า 47,397,958 บาท ปี 2565 เพิ่มเป็น 640,532,425 บาท และประเทศฝรั่งเศส ปี 2564 นำเข้า 167,569,933 บาท ปี 2565 นำเข้าเพิ่ม 774,357,530 บาท ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ส่งออกหมู ซึ่งในระบบทราบกันดีอยู่แล้วว่า หมูเข้ามาสำแดงเท็จ ดังนั้น หมูตกค้างอยู่ 161 ตู้ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

ขณะที่นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร/โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า สถิติการจับกุมเนื้อสุกรแช่แข็ง ทั้งหมด 13 คดี รวมน้ำหนัก 4,655,442 กิโลกรัม มูลค่า 240,549,640 บาท และมีการเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งกรมศุลกากรได้ทยอยเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างเรื่อยมา จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2566 ได้ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ไปทั้งสิ้น จำนวน 220 ตู้

พบว่า เป็นสินค้าประเภทสุกรจำนวน 161 ตู้ น้ำหนัก 4.50 ล้านกิโลกรัม และสินค้าประเภทเนื้อสัตว์อื่น ๆ จำนวน 59 ตู้ น้ำหนัก 1,650,000 กิโลกรัม และส่งมอบบางส่วนให้กรมปศุสัตว์นำไปทำลายแล้วจำนวน 13 ตู้ ทั้งนี้ คิดเป็นเนื้อสุกรแช่แข็ง น้ำหนัก 4,500,000 กิโลกรัม มูลค่า 225,000,000 บาท

ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 ตุลาคม 2565 กรมศุลกากรได้เข้าตรวจค้นห้องเย็น ที่จังหวัดสมุทรสาคร พบเนื้อสุกรแช่แข็ง ไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร เอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรมาแสดง จำนวน 83,400 กิโลกรัม มูลค่า 5,838,000 บาท และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ตรวจค้นบริเวณลานขนถ่ายสินค้า จังหวัดสงขลา พบรถต้องสงสัยกำลังมีการขนถ่ายสินค้าจึงขอตรวจค้น พบเนื้อสุกรแช่แข็งมีถิ่นกำเนิดประเทศบราซิล โดยไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากรเอกสารใบอนุญาตนำเข้า น้ำหนัก 30,000 กิโลกรัม มูลค่า 4,290,000 บาท