ดัน “กองทุนขนส่งมวลชน” จี้รัฐลงทุนซื้อรถ-เอกชนรับสัมปทาน

ขนส่งมวลชน

ระบบการขนส่งมวลชนในประเทศไทย มีความหลากหลาย แต่ยังไม่มีความเป็นระเบียบและค่าใช้บริการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการให้บริการรถขนส่งตามต่างจังหวัด ที่ทางภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ ทางสมาคมผังเมืองไทยจึงมีการจัดงานเสวนาเพื่อเตรียมการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหัวเมืองภูมิภาค” ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “การสนับสนุนเชิงนโยบายและสิทธิประโยชน์เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตเมือง”

แนะรัฐซื้อรถ-เอกชนสัมปทาน

นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า การทำกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภาครัฐควรมีงบประมาณมาสนับสนุน เพราะภาครัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมเรื่องบริการสาธารณะให้ความสะดวกสบายแก่ประชาชน

ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบก หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีกองทุนส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำไปใช้ดูแลการเดินทางซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐสามารถเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะที่ดีได้ จะทำให้ลดภาระหลาย ๆ อย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดปัญหาการจราจรติดขัดลง หากจำนวนรถยนต์ส่วนตัวลดลง ฯลฯ ซึ่งเกิดประโยชน์กับท้องถิ่นโดยตรง และทำให้ประชาชนรู้สึกได้รับการดูแลจากท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน อยากเสนอให้ทางรัฐบาลลงทุนเรื่องการซื้อรถขนส่งมวลชน และให้เอกชนรับสัมปทานไปดำเนินการ ซึ่งทางเอกชนไม่ต้องลงทุนแบกรับภาระ แต่ตอนนี้ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญ และถ้าจะให้เอกชนมาลงทุนคิดว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

อีกทั้งยังมีเอกชนจำนวนมากที่ให้บริการขนส่งสาธารณะซึ่งมีรถวิ่งอยู่แล้ว ถ้าเปลี่ยนไปให้ภาครัฐลงทุน ต้องดูว่าเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้อย่างไรที่จะทำให้เอกชนที่มีรถอยู่แล้วไม่ได้รับผลกระทบ

“ที่ผ่านมา บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง ตัดสินใจทำโครงการ Smart Bus นำร่องนำรถบัสไฟฟ้ามาวิ่งรับส่งผู้โดยสารรอบเมืองสระบุรี เชื่อมกับระบบขนส่งในจังหวัด รองรับรถไฟความเร็วสูงในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยมีนักธุรกิจในจังหวัดกล้าลงทุนและขนส่งจังหวัดให้ความร่วมมือ

มีความมุ่งมั่นที่อยากให้จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบของระบบสมาร์ททรานซิต เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของรถบัสโรงเรียน ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในอำเภอเมืองสระบุรีได้เดินทางอย่างสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น และพยายามทำแอปพลิเคชั่นรวมกับ ViuBUS เพื่อที่จะนำมาใช้ที่สระบุรี ปัจจุบันได้ผลตอบรับอย่างดี

โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน และผู้ปกครองที่สะดวกเรื่องการรับส่ง ทำให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ อย่างไรก็ตามจากสถิติเห็นได้ชัดเจนว่าช่วงเสาร์-อาทิตย์และช่วงปิดเทอมแทบไม่มีผู้โดยสาร”

“ตอนนี้สระบุรี มีรถบัสระบบไฟฟ้าวิ่งอยู่ 2 คัน เป็นงบประมาณของภาคเอกชนทำเอง และถ้าหากมีการตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขึ้นโดยให้เอกชนลงทุนกันเอง ก็ค่อนข้างมีปัญหาและอุปสรรค ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจทราบดีอยู่แล้วว่ารายได้จากค่าโดยสาร ไม่สามารถทำให้ธุรกิจมีกำไรได้

เรามองว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการส่งเสริมเรื่องบริการสาธารณะให้ความสะดวกสบายแก่ประชาชน และน่าจะมีกำลังในการสนับสนุนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนอยู่แล้ว หลายคนพูดว่าภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจทั้งที่มีงบประมาณ ทางเราจึงตัดสินใจทำโครงการนำร่องไปก่อนว่าจะดีหรือไม่ เมื่อประชาชนเห็นว่าควรมีรถสาธารณะให้บริการรูปแบบนี้มากขึ้น คิดว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น”

ขนส่งมวลชน

สงขลา-เชียงใหม่จี้ลดภาษีนำเข้า

ด้าน นายวชรินทร์ แก้วอภิชัย บริษัท โพธิทองขนส่ง จำกัด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า การตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ที่ผ่านมาทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.)

ซึ่งมีรายได้จากการประมูลทะเบียนรถทั่วประเทศไทย เฉลี่ย 1 ปี มีเงินทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท ค่อนข้างมาก มองว่าภาครัฐสามารถนำเงินในกองทุน กปถ. บางส่วนมาช่วยในการสนับสนุนได้ เช่น ช่วยในเรื่องลดภาษีการนำเข้ารถยนต์ให้ถูกลง หรือลดภาษีการนำเข้ารถสาธารณะเป็นสินค้าควบคุมราคา เพราะมีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของประชาชน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและยกระดับการขนส่งมวลชนระดับหัวเมือง

“ตอนนี้อยากให้ผู้ประกอบการเข้าถึงรถโดยสารที่มีคุณภาพ ราคาที่ถูกลง และหลังจากโควิด ผู้โดยสารหันไปใช้รถส่วนตัว ส่งผลให้จำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้น ทำอย่างไรที่จะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะ นี่เป็นอีก 1 โจทย์ที่ต้องทำ

ถ้าหากทางเอกชนมีการนำเข้ารถโดยสารสาธารณะ ควรจะได้รับการยกเว้นภาษีบางชนิด และลดค่าน้ำมัน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่พยายามคุยกับกระทรวงพลังงานว่าไม่ไหวเพราะค่าน้ำมันแพงขึ้น ถึงแม้จะมี LPG NGV เข้ามาช่วย แต่ยังไม่ตอบโจทย์โดยเฉพาะ NGV”

นายไพบูลย์ ภู่ทอง ผู้จัดการทั่วไป ขนส่งมวลชน RTC Chiang Mai City Bus จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาการเดินรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องค่าโดยสารที่ไม่สามารถควบคุมราคาเองได้ 2.เรื่องการให้บริการ แม้จะมีผู้โดยสารหรือไม่มีผู้โดยสาร รถต้องวิ่งให้บริการตลอดเวลา ซึ่งเป็นภาระต้นทุนสูงของผู้ประกอบธุรกิจ ประกอบกับต้นทุนเชื้อเพลิงต่างจังหวัดแพงกว่าในกรุงเทพฯ

โดยเฉพาะราคา NGV ที่กรุงเทพฯ 15 บาท ที่เชียงใหม่ 19 บาท ดังนั้นควรมีกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพหลัก ให้ความสำคัญและสนับสนุน 2 ส่วน คือ ต้นทุนรถโดยสาร ถ้าสังเกตตามต่างจังหวัด 90% เป็นรถสองแถว เพราะต้องทำให้สอดคล้องกับบริบท แต่ปัญหาคือมีความปลอดภัยน้อย

ฉะนั้น วิธีการแก้ปัญหาคือการนำรถบัสเข้ามา แต่ต้นทุนสูง รัฐบาลควรจะยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนำเข้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอย่างมาก

โมเดลดึงบริษัทใหญ่หนุน

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานกรรมการ บริษัท ขอนแก่น ซิตี้บัส จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยว่าควรจะมีกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน แต่เป็นห่วงเรื่องการคอร์รัปชั่นเหมือนที่ผ่านมา ทำอย่างไรจะให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ผู้ประกอบการเอกชนที่ให้บริการรถโดยสารสาธารณะอยู่ ลงขันกันเองเพื่อทำการศึกษาประโยชน์ของขนส่งมวลชน

เมื่อทำการศึกษาเสร็จก็ไปนำเสนอทางภาครัฐ คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ที่สุด และเห็นด้วยทางภาครัฐควรลงทุนซื้อรถโดยสารและให้ทางเอกชนรับสัมปทานไปดำเนินการ ซึ่งต่างประเทศก็ดำเนินการในลักษณะนี้ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับเงินกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนก้อนแรกควรมาจากทางภาครัฐ ซึ่งการสนับสนุนการหาเงินเข้ากองทุนสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ภาครัฐซัพพอร์ตค่าตั๋วโดยสารเพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง หากค่ารถโดยสารราคา 30 บาท ภาครัฐออกช่วย 20 บาท ประชาชนที่ใช้บริการจ่ายอีก 10 บาท

ฐาปนา บุณยประวิตร
ฐาปนา บุณยประวิตร

และช่วงสิ้นเดือนให้บริษัทขนส่งทำการเบิกเงินซัพพอร์ตกับทางภาครัฐ หรือจะซัพพอร์ตค่าเดินทางเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มนักเรียน หากทำแบบนี้เชื่อว่าจะมีประชาชนให้ความสนใจในการใช้รถสาธารณะมากขึ้น

ที่ผ่านมาได้เคยพูดคุยกับทางกองทุน กปภ. อยากให้ทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานแบบเชิงลึก เพื่อแบ่งเงินต่าง ๆ เข้ามาช่วยซัพพอร์ต ซึ่งกระทรวงพลังงานมีกองทุนค่อนข้างเยอะ ทั้งกองทุนของภาครัฐดูแลและกองทุนนอกงบประมาณ


ขณะเดียวกันได้มีการพูดคุยกับบริษัทใหญ่ที่ลงทุนในจังหวัดต่าง ๆ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด ที่ลงทุนใน จ.นครสวรรค์ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ลงทุนใน จ.ขอนแก่น เพื่อขอเม็ดเงินสนับสนุนและทำข้อตกลง ซึ่งเราต้องทำนโยบายขึ้นมาให้ชัดเจน เพื่อที่บริษัทใหญ่ ๆ จะนำเงินลงทุนช่วยเหลือไปหักหรือลดหย่อนภาษีกับทางภาครัฐได้