Next Station ! EV ในการขนส่งสินค้าทางถนน

Next Station
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ปุญญภพ ตันติปิฎก 
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนและก้าวสู่ net zero จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) พบว่า ในปี 2019 ภาคขนส่งมีการปล่อยก๊าซ CO2 สูงเป็นอันดับ 3 รองจากภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม และหากคิดเฉพาะการขนส่งสินค้าทางถนน จะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ถึงราว 30% ของภาคขนส่ง

ด้วยเหตุนี้การขนส่งสินค้าทางถนนจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ทั่วโลกต่างเร่งวางแผนลดการปล่อยก๊าซ CO2 โดยวิธีที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (electrical vehicle : EV)

ในปี 2022 ที่ผ่านมา การใช้รถ EV ในภาคการขนส่งของไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะรถขนส่งผู้โดยสารที่การใช้งานเร่งตัวขึ้น สะท้อนจากยอดจดทะเบียนสะสมมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตกว่า 150% กับ 240% มาอยู่ที่ราว 1.65 หมื่นคัน กับ 1.35 หมื่นคัน ตามลำดับ และการใช้รถเมล์/รถบัสไฟฟ้าตามแผนการจัดหารถเมล์ใหม่ของไทยสมายล์บัส

อย่างไรก็ดี การใช้รถขนส่งสินค้ากลับเพิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงปลายปี โดยผู้ประกอบการขนส่งหลายรายได้เริ่มนำรถบรรทุกไฟฟ้าขนาด 4 ล้อ 6 ล้อ และรถหัวลากไฟฟ้ามาทดสอบขนส่งสินค้าแล้ว เช่น FedEx, DHL, SCGJWD และไปรษณีย์ไทย

รวมถึงแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ก็สนับสนุนให้ผู้ขับขี่หันมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขนส่งสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าหลายรายตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV ให้มากกว่า 50% ของรถขนส่งทั้งหมดภายในปี 2030

SCB EIC มองว่าภาคขนส่งควรเริ่มวางแผนนำรถ EV มาใช้ขนส่งสินค้ามากขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

1.นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จากแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาคมนาคมขนส่งตามที่ไทยเข้าร่วมความตกลงปารีส ประกอบกับกระแสรักษ์โลก และปัญหาฝุ่นมลพิษที่ผลักดันให้ภาคขนส่งเริ่มวางแผนลดคาร์บอนฟุตพรินต์

โดยการใช้รถ EV ซึ่งนอกจากจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์โดยตรงของผู้ประกอบการขนส่งในขอบเขตที่ 1 แล้ว ยังสามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น ๆ ที่มีการขนส่งใน value chain ภายใต้ขอบเขตที่ 3 ด้วย

2.นโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV จากภาครัฐ ภายใต้นโยบาย 30@30 (การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV สัดส่วน 30% จากกำลังผลิตทั้งหมดในปี 2030) ด้วยการออกมาตรการลดภาษี พร้อมให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และมอเตอร์ไซค์

3.การพัฒนาเทคโนโลยีและความคุ้มทุน จากสมรรถนะรถ EV ขนส่งสินค้าที่พัฒนาขึ้น ราคาแบตเตอรี่ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ได้ส่งผลให้การใช้ EV มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์มากขึ้น

4.product availability โดยตัวเลือกที่หลากหลายในตลาดมีส่วนสำคัญที่ทำให้รถ EV สำหรับขนส่งผู้โดยสารได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ขณะที่รถ EV สำหรับขนส่งสินค้ายังมีตัวเลือกน้อย แต่ก็มีค่ายรถหลายเจ้าทั้งค่ายรถจีน ญี่ปุ่น หรือไทยเองที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีและเตรียมออกขาย หรือกำลังจะขายรถ EV ขนส่งสินค้า อีกหลายรุ่นเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์, รถกระบะ, รถบรรทุก 6 ล้อ, รถบรรทุก 10 ล้อ และรถหัวลาก

โดยผู้ขนส่งสามารถเริ่มพิจารณานำรถ EV มาใช้ในเส้นทางขนส่งระยะทางสั้น-กลางก่อน เช่น การเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถบรรทุกขนาด 4 ล้อกับ 6 ล้อ ในการขนส่งและกระจายสินค้า โดยเฉพาะการขนส่งแบบ last mile และแบบดีลิเวอรี่ที่มีลักษณะงานที่เหมาะกับสมรรถนะรถ EV ในปัจจุบัน เนื่องจากบรรทุกสินค้าน้ำหนักไม่มาก และมีระยะทางวิ่งเฉลี่ยต่อวันเหมาะสมกับความจุแบตเตอรี่

ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเวลาชาร์จ ชาร์จเพียงรอบเดียว หรือใช้วิธีสลับแบตเตอรี่แทนได้ อีกทั้งยังสามารถติดตั้งสถานีชาร์จที่คลังสินค้าหรืออู่รถได้ ขณะที่เส้นทางขนส่งระยะยาว ซึ่งใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งเฉลี่ยวันละ 600 กิโลเมตร ผู้ขนส่งอาจเริ่มจากการทดสอบและเลือกใช้งานรถบรรทุกไฟฟ้าในรูปแบบงานที่เหมาะกับข้อจำกัดด้านสมรรถนะของรถ EV ในปัจจุบันเช่น

ระยะทางวิ่งที่ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 400 กิโลเมตร ความสามารถในการบรรทุกที่ลดลงจากการบรรทุกแบตเตอรี่ ระยะเวลาชาร์จที่ค่อนข้างนานตามความจุแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จที่ยังมีน้อยและไม่ครอบคลุม

ทั้งนี้ การใช้รถ EV ขนส่งสินค้ายังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1.การพัฒนาสถานีชาร์จสำหรับรถขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ให้มีความเหมาะสมทั้งในด้านจำนวนสถานี พื้นที่ครอบคลุม กำลังในการจ่ายและปริมาณสำรองไฟฟ้า

2.การเพิ่มความสนับสนุน ทั้งจากภาครัฐในด้านการเงินและไม่ใช่การเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนรถ EV สำหรับขนส่งสินค้าและจากเอกชนในการวางเป้าหมายการใช้รถ EV

3.การส่งเสริมการผลิตรถ EV สำหรับขนส่งสินค้าในไทย โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งความต้องการมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตทั้งจากไทยและทั่วโลก และไทยเป็นฐานการผลิตรถประเภทนี้ที่สำคัญ และสามารถต่อยอดไปสู่รถ EV ได้

การเปลี่ยนผ่านการขนส่งสินค้าทางถนนไปสู่การใช้รถ EV นี้ จะเป็นทั้งกำลังหลักในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นโอกาสต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน