กรมการขนส่งทางราง เปิดแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ระยะ 20 ปี

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดแผนพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ ระยะ 20 ปี พร้อมความคืบหน้าสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงของ โดยเร่งทำสัญญาเวนคืนที่ดิน เตรียมส่งมอบพื้นที่ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2571 หวังเชื่อมต่อขนส่งไทย-ลาว-จีน

วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยระหว่างการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่และเสริมสร้างโอกาสในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ในการรองรับและเชื่อมโยงเส้นทางระบบขนส่งทางรางสายใหม่ “รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เส้นทางสายใหม่ กับโอกาสในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ว่า ได้มีการนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ ระยะ 20 ปี เพื่อเป้าหมายเปิดเส้นทางขนส่งที่สะดวกมากขึ้น

สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ ระยะ 20 ปีนั้น ประกอบด้วย การพัฒนารถไฟทางคู่ การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ การพัฒนารถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งนำเสนอสถานะความคืบหน้า โดยโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทาง 323.10 กม. ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยาและเชียงราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 3 จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดลำปาง) 17 อำเภอ 59 ตำบล

มีสถานีและที่หยุดรถไฟรวม 26 แห่ง มีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 4 แห่ง ที่สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดดและสถานีเชียงราย และมีลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์เชื่อมต่อกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของอีก 1 แห่ง

ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้มากกว่าร้อยละ 50 และส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

โดยกรมขนส่งทางราง (ขร.) ได้มีการลงพื้นที่อุโมงค์แม่กา หนึ่งในสี่ที่เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว มีความยาว 2,700 เมตร ซึ่งปัจจุบันได้ขุดเจาะไปแล้วประมาณ 42-44 เมตร คาดว่าจะใช้เวลาขุดเจาะประมาณ 4 ปี แต่โครงการดังกล่าว จะมีอุโมงค์ที่ยาวที่สุด 6.2 กม. ที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง

ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟสายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับแหล่งเกษตรกรรม รองรับการขนส่งสินค้าการเกษตรทางราง ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางรางประเภทควบคุมอุณหภูมิไปยัง สปป.ลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาเชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะได้อีกด้วย รวมทั้งมีการเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยว  และรองรับการเชื่อมต่อระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571 จะช่วยพลิกโฉมการเป็น Logistic Hub ของภูมิภาค เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ

รวมทั้งเชื่อมต่อการขนส่งไทย-ลาว-จีน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) เปิดประตูการค้าชายแดนภาคเหนือ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างโอกาสที่ดีต่อการค้าและการลงทุน ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและช่วยการกระจายความเจริญให้กับคนในพื้นที่ ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง มีความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน