สยาม ทีซี รุกคาร์บอนเครดิต หนุนคน “เกาะลันตา” กระบี่สร้างรายได้

ป่าโกงกาง

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (carbon credit) เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างกว้างขวาง เพราะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และพื้นที่ป่าชายเลนถือเป็นหนึ่งในแหล่งสะสมคาร์บอน

ซึ่งหนาแน่นมากกว่าป่าบกทั่วไปหลายเท่าตัว เช่นเดียวกับป่าชายเลนชุมชนบ้านโคกยูง หมู่ที่ 3 ต.คลองยาว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ที่เริ่มพัฒนาพื้นที่เพื่อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตแล้ว

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต และมีบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด (สยาม ทีซี) เข้ามาร่วมพัฒนารวมระยะเวลา 30 ปี ซึ่งป่าชายเลนชุมชนบ้านโคกยูงดำเนินโครงการมาแล้วประมาณ 1 ปี

               

“ประนอม หัวงเสล่ะ” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านโคกยูง ต.คลองยาว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวชาวบ้านเข้าใจว่าสามารถปลูกป่าชายเลนสร้างก๊าซที่ดีไปขายให้กับบริษัทอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซพิษที่ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษลงได้ โดยพื้นที่เกาะลันตามีข้อดี ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม

“ในเกาะลันตาเราปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตตามโครงการของภาครัฐ และบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี ให้เงินสนับสนุนชาวบ้านเริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นปีแรกจำนวน 450 บาท/ไร่ ปีถัดมาได้ 200 บาท/ไร่/ปี จนกว่าจะครบ 30 ปี

นอกเหนือจากนั้นให้เงินกับชุมชนอีกเพื่อบริหารจัดการกันเอง จำนวน 2 แสนบาท/ชุมชน ตอนนี้ตำบลคลองยาวมี 7 ชุมชน ขึ้นทะเบียนเข้าโครงการไปแล้ว 5 ชุมชน รอดำเนินการ 2 ชุมชน”

สำหรับหน้าที่ของชาวบ้านคือ 1.ลาดตระเวน 2.จดบันทึกในแต่ละวัน ว่ามีกุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ หลังจากนั้นจึงส่งรายงานไปให้บริษัท เมื่อครบทุกสิ้นปีทางบริษัทจะมาวัดค่าคาร์บอนเครดิต และดำเนินการต่อเอง โดยชุมชนยังคงมีรายได้ มีงานทำ มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง

โครงการสร้างรายได้ให้ชุมชน

“อภิชัย เอกวนากุล” รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบดูแลป่าชายเลนทั้งประเทศ ประมาณ 2.86 ล้านไร่

รวม 24 จังหวัด ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อยู่เพียง 1.73 ล้านไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 9.4 ตัน/ไร่/ปี และหลายจังหวัดมีบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด เข้ามาร่วมพัฒนา

สำหรับการจัดทำโครงการเริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.ปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอก หรือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่สนใจมาลงทุนปลูกป่าในส่วนของพื้นที่ที่ตรวจยึดทวงคืนจากคดีต่าง ๆ พื้นที่นากุ้งร้าง พื้นที่เสื่อมโทรม หรือพื้นที่ดินเลนเหมาะสมสำหรับปลูกป่าชายเลน โดยวางเป้าหมาย 10 ปี จำนวน 3 แสนไร่ และในปี 2565 ตั้งเป้าไว้ประมาณ 44,000 ไร่ แต่ภาคเอกชนจาก 17 หน่วยงาน สนใจขอเข้าร่วมปลูกป่าชายเลนมากกว่า 5 แสนไร่

2.โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ส่วนนี้คนในพื้นที่หรือชาวบ้านเจ้าของแปลงปลูกป่า ต้องมีบทบาทดูแลรักษาและต่อยอดเพื่อประเมินคาร์บอนเครดิต โดยต้องแบ่งสัดส่วนคาร์บอนเครดิตให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10% ส่วนอีก 90% เป็นของชุมชนเจ้าของพื้นที่ตกลงกับบริษัทผู้สนับสนุนเงินลงทุน เพื่อแบ่งสัดส่วนกันเอง

“เราเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการ เพราะการประเมินคาร์บอนเครดิตมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง กำลังของชุมชนเองทำเองไม่ไหว แต่ชาวบ้านยังถือกรรมสิทธิ์ทำมาหากินตามปกติ แค่ดูแลระบบนิเวศป่าให้สมบูรณ์ และสิ่งที่บริษัทผู้ร่วมลงทุนได้เพียงคาร์บอนเครดิตเท่านั้น”

ป่าโกงกาง

DITTO ทุ่มลงทุน 30 ปี

“ฐกร รัตนกมลพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยว่า บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ โดย DITTO ถือหุ้น 100% เป็นผู้ได้รับสิทธิปลูกและดูแลรักษาป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต รวมระยะเวลา 30 ปี

และล่าสุดได้รับสิทธิดูแลพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มอีกจำนวน 62,781.72 ไร่ จาก 39 ชุมชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และชุมพร

ทั้งนี้ DITTO มีพื้นที่ปลูกป่าชายเลนที่่ได้รับสิทธิโดยตรงและร่วมกับชุมชน รวมทั้งสิ้น 48,166.75 ไร่ แบ่งเป็นป่าชายเลนที่ต้องปลูกใหม่จำนวน 21,658.19 ไร่ และได้รับสิทธิดูแลป่าชายเลนซึ่งมีสภาพป่าอยู่แล้วร่วมกับชุมชนอีก 14 ชุมชน ในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา จำนวน 26,508 ไร่

ดังนั้น เมื่อรวมกับพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่ อีกจำนวน 62,781.72 ไร่ ทำให้ DITTO ได้รับสิทธิดูแลพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต รวมทั้งสิ้น 110,948.47 ไร่ ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 1 แสนไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ให้การสนับสนุนในด้านเงินลงทุน ชุมชนละ 2 แสนบาท ทั้งหมด 53 ชุมชน รวมเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท

“สำหรับความคืบหน้าโครงการ ขณะนี้บริษัทได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารเพื่อเข้าร่วมโครงการ Premium T-VER ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานขั้นสูงสุดของประเทศไทย และหลังจากที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่

คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … เสนอเข้า ครม.พิจารณาและนำเสนอต่อรัฐสภาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป”

ด้าน “จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สำหรับ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกร่างเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเสนอให้ปฏิบัติตามโดยภาคสมัครใจ

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประชุมประเด็นดังกล่าวในเวทีระดับโลก ที่ทุกประเทศต้องรับรู้ร่วมกัน ประเทศไทยจึงกลับมาแก้ไข พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ โดยเพิ่มการบังคับใช้รวมถึงเรื่องราคาเข้าไป และจะนำเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดูรายละเอียดและเชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปพูดคุยกันอีกครั้ง

“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าต้องรอรัฐบาลใหม่เพื่อเข้าไปสู่ขบวนการของสภานิติบัญญัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน แม้ตอนนี้เราเดินหน้าไปมาก แต่จะให้ภาคประชาชนเข้าสู่ขบวนการต้องใช้เวลาในทุกมิติ เพราะจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯยังดำเนินการตั้งกรมใหม่ คือ ‘กรมการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ เพื่อมารองรับเรื่องนี้โดยตรงและผ่าน ครม.แล้ว ที่เหลือแค่รอรัฐบาลใหม่”