ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร วันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จ.หนองบัวลำภู ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติ “โครงการเขียนแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จ.เลย ถือหนึ่งในโครงการประวัติศาสตร์ ซึ่งผลักดันกันมาเนิ่นนานกว่า 40 ปี
พิชิตภูกระดึงอันซีน จ.เลย
ในอดีตสมัยรุ่นพ่อแม่จีบกันบอกใครต้องการพิสูจน์รักแท้ต้องพากันไป “อุทยานแห่งชาติภูกระดึง” ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทราย ยอดภูกระดึงมีระดับความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตร จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร
ใครที่ต้องการขึ้นไปพิชิตยอดภูกระดึงในช่วงฤดูหนาว ต้องใช้การเดินเท้าขึ้นเขาไปกว่า 4-5 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นความท้าทายของหลายคนที่อยากไปเยือน ท่ามกลางความสวยงามของธรรมชาติ
แต่ด้วยระยะทางขึ้นเขาค่อนข้างลำบาก ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีปัญหาในการแบกสัมภาระต่าง ๆ ขึ้นเขาไปด้วย จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนผันมาทำอาชีพ “ลูกหาบ” รับจ้างแบกข้าวของเครื่องใช้ของนักท่องเที่ยวขึ้นไปให้ เฉลี่ยคนหนึ่งมีรายได้เกือบ 2,000 บาทต่อวัน
ทำให้แนวคิดในการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงมีมาตั้งแต่ปี 2525 เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และได้มีการศึกษามาไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ไม่ประสบความสำเร็จ
เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่ประกอบอาชีพลูกหาบ
ย้อนรอยเส้นทางศึกษา 40 ปี
แนวคิดการทำโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เริ่มต้นจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเสนอกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2525 และวันที่ 11 ตุลาคม 2526 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติเห็นชอบในหลักการ แต่ให้ศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับความเหมาะสมทั้งในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและในด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
ปี 2528 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และได้เส้นทางที่เหมาะสม แต่ครั้งนั้น มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์ภาคประชาชนและคนในท้องถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกหาบ
ปี 2541 กรมป่าไม้ได้ให้บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ จำกัด ศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ผลการศึกษาและกำหนดรูปแบบเบื้องต้นของกระเช้าไฟฟ้าและองค์ประกอบต่าง ๆ
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัดเลย (กรอ.จังหวัดเลย) คาดว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 20,000 คน/วัน หรือปีละ 7 ล้านคน
ในวันที่ 28 กันยายน 2548 คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร สรุปผลการพิจารณาศึกษาและมีข้อเสนอแนะการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงควรแยกออกจากทางเท้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางประเภทยังต้องการอนุรักษ์เส้นทางเดินอยู่ โดยต้องการให้ปรับปรุงเส้นทางเดินเท้าควบคู่ไปกับการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า รวมถึงศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพดินและน้ำ
25 พฤศจิกายน 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งให้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แยกนักท่องเที่ยวเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการเดินขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหวก็ให้ขึ้นกระเช้าไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม (EIA) เพราะภูกระดึงมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของไทยในปัจจุบัน โดยวิเคราะห์จุดอ่อนสร้างกระเช้าไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้บอกว่า อพท.ได้ร่วมกับจังหวัดเลย มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพากับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย
โดยเป็นการทบทวนผลการศึกษาเดิมที่ อพท. เคยนำผลการศึกษาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบในปี พ.ศ. 2559 แต่ครั้งนี้จะเน้นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านผลดี ผลเสีย และความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวคิดในมิติใหม่ที่ต่างจากที่ผ่านมา ให้มีความเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ตามปัจจัยต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไป ทั้งจำนวนประชากร จำนวนนักท่องเที่ยว เป็นต้น คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จราวกลางปี 2566
ทั้งนี้ จะศึกษากรอบแนวคิดในการดำเนินงานพัฒนา เน้นให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า การสร้างคุณค่าการเรียนรู้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่นด้วยหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ยังคงคุณค่าความเป็นอุทยานแห่งชาติ
มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และยังมีภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของการเดินเท้าที่แยกส่วนกัน มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การลดจำนวนการค้างแรมในพื้นที่ยอดภูกระดึง ให้สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับของพื้นที่ตามมาตรฐานสากล
ชงรัฐบาลเศรษฐาศึกษาอีกครั้ง
ล่าสุดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ครม.เห็นชอบในหลักการตามที่จังหวัดเลยเสนอของบประมาณ 25 ล้านบาทในการเขียนแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย แต่ที่มอบให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาว่าเป็นโครงการเร่งด่วนหรือไม่
นายธเนศ หาญถนอม ประธานหอการค้าจังหวัดเลยกล่าวกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าทางหอการค้าจังหวัดเลยขอสนับสนุนและผลักดันให้มีโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มูลค่าในอดีตที่เคยศึกษาไว้ประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภูกระดึงเพิ่มมากขึ้น
โดยปี 2565 จังหวัดเลยมียอดรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2,278.37 ล้านบาท และปี 2566 ยอดรายได้การท่องเที่ยวเดือนมกราคม-กันยายน มีรายได้แล้วประมาณ 5,000 ล้านบาทแล้ว
“ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่มีใครคัดค้านแล้ว เนื่องจากชาวบ้านที่ทำอาชีพลูกหาบมีอายุมากขึ้น และรุ่นลูกหลานไม่มีใครอยากสืบต่ออาชีพลูกหาบ เพราะเป็นงานที่ใช้แรงงานหนัก เพียงแต่ภาครัฐต้องสร้างอาชีพและส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านบางส่วนที่ยังประกอบอาชีพลูกหาบกันอยู่” นายธเนศกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อ ครม.เศรษฐาเห็นชอบในหลักการ “โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” แล้ว คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า เมื่อไหร่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จะจัดสรรเงินงบประมาณลงมาให้ เพราะในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ แต่ละโครงการที่แต่ละจังหวัดเสนอมา ล้วนเป็นโครงการเร่งด่วนทั้งสิ้น