น้ำเค็มรุก 3 อำเภอเมืองแปดริ้ว กู้ระบบประปา-ทำฟาร์มปลาตายยกบ่อ

เร่งแก้ปัญหาทำนบดินชั่วคราวประตูระบายน้ำท่าถั่วพัง ส่งผลน้ำเค็มรุกเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา กระทบ 3 อำเภอ บางปะกง-บางคล้า-อ.เมืองฉะเชิงเทรา ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดตายยกบ่อ ประปาหมู่บ้านห่างประตูท่าถั่ว 10 กม.เค็มกินไม่ได้ ด้านกรมชลประทานประสาน กก.ลุ่มน้ำป่าสัก ขอน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 35 ล้าน ลบ.ม.ไล่น้ำเค็ม ส่วนประปาภูมิภาคฉะเชิงเทรา-บางคล้า ใช้น้ำอีสท์วอเตอร์-ประปานครหลวง ผลิตน้ำประปาแทน พร้อมติดตามสถานการณ์เป็นรายชั่วโมง

การพังทลายของทำนบดินชั่วคราวในโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบท่าถั่ว (ประตูระบายน้ำท่าถั่ว) ที่ ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ส่งผลให้ “น้ำเค็ม” จากแม่น้ำบางปะกง ไหลทะลักเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชนถึง 3 อำเภอ

ได้แก่ อำเภอบางปะกง อำเภอบางคล้า และอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ตั้ง หน่วยปฏิบัติการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต เพื่อแก้ไขปัญหาให้สภาพน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์กลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด

ใช้น้ำเขื่อนป่าสักฯไล่น้ำเค็ม

การพังทลายของทำนบดินชั่วคราวกันน้ำของโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าถั่ว ส่งผลให้ “น้ำเค็ม” จากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีค่าความเค็มในช่วง 20.83-26.40 กรัม/ลิตร ไหลทะลักเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์อย่างรวดเร็ว และยังทำให้ฝายที่กักเก็บน้ำไว้บริเวณปากคลองลัดยายหรั่ง มีน้ำเค็มท่วมสูงและพังทลายลงมา ในวันที่ 10 เมษายน 2567 ส่งผลให้น้ำเค็มจำนวนมากทะลักลงสู่คลองลัดยายหรั่ง ออกสู่คลองหนามแดง-บางพระ คลองพระองค์ไชยานุชิต

กระจายตัวไปยังพื้นที่ตำบลบางกะไห ตำบลบางเตย ตำบลโสธร ตำบลบางพระ ตำบลเกาะไร่ ตำบลคลองเปรง และตำบลคลองประเวศ จนชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณดังกล่าว (อ.เมืองฉะเชิงเทรา-อ.บ้านโพธิ์) ได้รับผลกระทบเบื้องต้นในเรื่องของน้ำกิน น้ำใช้-พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 23 หมู่บ้าน จำนวน 3,428 ครัวเรือน ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว

ด้านกรมชลประทานได้ดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราว และติดตั้งบิ๊กแบ็กเสริมความมั่นคง ปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมทั้งดำเนินการตอก Sheet Pile บริเวณด้านหน้าและหลังของทำนบดินเพื่อความแข็งแรงในระยะยาว รองรับฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึง

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกันก็ได้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาคุณภาพน้ำที่มีค่าความเค็มค่อนข้างสูงในหลายจุด รวมถึงกำจัดวัชพืชเพื่อชะลอการเน่าเสียของน้ำ นอกจากนี้ ยังได้สร้างทำนบชั่วคราวเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สามารถสูบระบายน้ำเค็มออกได้โดยเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

“การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในคลองประเวศบุรีรมย์จะต้องวางแผนระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงมาช่วยเจือจางค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง และฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ รวมทั้งคลองสาขา เบื้องต้นจะพิจารณาผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยามาช่วย โดยใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้ปล่อยน้ำความเร็ว 20 ลบ.ม./วินาที

โดยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯที่จะมาช่วยเจือจางความเค็ม จะต้องไหลผ่านมาทางคลองบริเวณพระราม 6 ไหลสู่คลองระพีพัฒน์ ลงมาคลองแสนแสบ ก่อนผ่านบึงฝรั่ง จนไหลมาถึงคลองพระองค์ไชยานุชิต จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 4 วัน โดยจะต้องใช้น้ำจืดมากถึง 34-35 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการผลักดันน้ำเค็มและเติมน้ำเข้าคลองให้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน ในการแก้ไขปัญหานี้” หนึ่งในคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากล่าว

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นอันดับแรก จะมีการเสนอแผนต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อขอความเห็นชอบ เนื่องจากเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ และหากปริมาณ “น้ำต้นทุน” ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีไม่เพียงพอ จะมีการพิจารณาขอใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มาใช้สนับสนุนเพิ่มเติม

โดยสำนักงานชลประทานที่ 11 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำลาดขวาง ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ และบริเวณคลองขวาง-เปรง ตำบลคลองเปรง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเร่งสูบระบายน้ำเค็มลงสู่แม่น้ำบางปะกง และคลองประเวศบุรีรมย์

สำนักงานชลประทานที่ 10 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง กำจัดวัชพืชบริเวณคลองระบาย 2 ซ้ายป่าสัก กม.13+900 ตำบลบ้านช้าง อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานชลประทานที่ 10 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ กำจัดวัชพืชบริเวณคลองระบายน้ำหนองนาค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสำนักงานชลประทานที่ 12 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร กำจัดวัชพืช
สิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองส่งน้ำ 3 ซ้าย-1 ขวา บริเวณตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

ล่าสุดได้มีการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 18 เม.ย. 2567 ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะเวลา 3 วัน ก่อนจะมีการประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอีกครั้ง ในวันที่ 21 เม.ย. 2567

และที่ประชุมมีมติให้พิจารณาแก้ไขปัญหาในคลองที่ใช้ประโยชน์ในด้านประมงก่อน ทั้งในการแก้ไขปัญหาให้คำนึงถึงคุณภาพน้ำเน่าเสียด้วย นอกเหนือจากการพิจารณาเฉพาะค่าความเค็มและให้พิจารณาสูบน้ำเค็มออกจากในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ก่อนนำน้ำคุณภาพดีเข้าในระบบคลอง เพื่อเป็นการลดการใช้น้ำและใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้เร่งก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นน้ำเค็ม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าคลองประเวศบุรีรมย์ โดยดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 13 เมษายน 2567 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างทำนบกึ่งถาวร (โครงสร้างเหล็ก) ทดแทนทำนบดินชั่วคราว

คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 เมษายน 2567 หากแล้วเสร็จจะป้องกันปัญหาน้ำเค็มไหลย้อนเข้าคลองได้อย่างถาวร นอกจากนี้ได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำประปาช่วยเหลือพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากระบบประปาหมู่บ้านไม่สามารถสูบน้ำจากคลองขวาง-เปรง มาผลิตทำน้ำประปาได้

เลี้ยงปลาน้ำจืดตายทั้งระบบ

นายประโยชน์ โสรัจจกิจ ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ปลากะพงยักษ์ ฉะเชิงเทรา และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า น้ำเค็มที่ทะลักเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์ และลำคลองสาขาต่าง ๆ พื้นที่ในอำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และอำเภอบางปะกงบางส่วน ส่งผลให้คุณภาพน้ำมีค่าความเค็มสูงกว่าปกติ

มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในพื้นที่รับน้ำใช้ประโยชน์จากคลองประเวศ 33,648 ไร่ โดยเฉพาะผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่น ปลากะพง, ปลาชะโอน, ปลาคัง และปลาดุก ตายเกือบทั้งระบบ มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท รวมทั้งหมู่บ้านบางส่วนไม่สามารถนำน้ำคลองมาผลิตเป็นน้ำประปาเพื่อใช้อุปโภค-บริโภคได้

ทั้งนี้ มีรายงานน้ำเค็มรุกตัวเข้าไปในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ได้รับผลกระทบ ดังนี้ 1) คลองประเวศบุรีรมย์ น้ำมีค่าความเค็ม 26.7 กรัม/ลิตร 2) คลองประเวศ 26.2 กรัม/ลิตร 3) คลองพระยาสมุทร 22.8 กรัม/ลิตร 4) คลองเปรง 16.9 กรัม/ลิตร ด้านประมง มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในพื้นที่รับน้ำใช้ประโยชน์จากคลองประเวศ 3,389 ราย พื้นที่ 33,648 ไร่ มีพื้นที่และความเสียหายด้านประมง ประกอบด้วย

1) อ.บ้านโพธิ์ มีเกษตรกรอยู่ในเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ จำนวน 7 ตำบล ประกอบด้วย ต.เกาะไร่ ต.คลองประเวศ ต.เทพราช ต.บางกรูด ต.ลาดขวาง ต.สนามจันทร์ และตำบลแสนภูดาษ เกษตรกร 829 ราย พื้นที่ 6,907.3 ไร่ ยังไม่มีข้อมูลเกษตรกรได้รับความเสียหาย

2) อ.เมือง มีเกษตรกรอยู่ในเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ จำนวน 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.คลองเปรง ต.คลองอุดมชลจร ต.บางกะไห ต.บางเตย ต.บางพระ และ ต.หนามแดง เกษตรกร 1,261 ราย พื้นที่ 14,483.2 ไร่ ยังไม่พบเกษตรกรได้รับความเสียหาย

3) อ.บางปะกง มีเกษตรกรอยู่ในเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.บางเกลือ ต.สองคลอง ต.บางสมัคร ต.พิมพา ต.หนองจอก และ ต.หอมศีล เกษตรกร 1,199 ราย พื้นที่ 12,257.5 ไร่ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวได้รับความเสียหาย 2 ราย เนื่องจากไม่มีน้ำเติมในบ่อเลี้ยง ทำให้ปลาน็อกน้ำตาย 2 บ่อ (ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง) สัตว์น้ำหลักที่เลี้ยงในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ ประกอบด้วย กุ้งทะเล-ปลากะพงขาว-กุ้งก้ามกราม และปลาน้ำจืด

คุมสถานการณ์น้ำประปาได้

นายสิงหชัย อินทพิชัย ผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาค เขต 1 (ผอ.กฟภ.ข.1) ชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเค็มรุกเข้าคลองประเวศบุรีรมย์จะกระทบกับการทำน้ำประปา 3 สถานี คือ ประปาฉะเชิงเทรา 1 สถานี และประปาบางคล้า 2 สถานี ในช่วง 2-3 วันแรกหลังการพังทลายของทำนบดินชั่วคราวประตูระบายน้ำท่าถั่ว ค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐาน 0.5 g/l

ทางสำนักงานได้แก้ไขด้วยการใช้น้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเสริมให้ได้ค่าความเค็มไม่เกินมาตรฐาน โดยสถานีประปาที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา ใช้น้ำจากอีสท์วอเตอร์ (EASTW) ส่วนสถานีที่ อ.บางคล้า ใช้น้ำจากการประปานครหลวงส่งมาช่วย

“ขณะนี้ค่าความเค็มของน้ำอยู่ที่ประมาณ 0.4 g/l หรือลดลงแล้ว เราได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยอมรับว่ามีปัญหาน้ำเค็มในช่วงวันแรก ๆ หลังจากนั้นเราควบคุมคุณภาพน้ำประปาได้ด้วยการใช้น้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเสริม ทั้งน้ำจากอีสท์วอเตอร์และน้ำจากการประปานครหลวง จนสถานการณ์น้ำประปาของทั้ง 3 สถานี อยู่ในภาวะปกติแล้ว

ส่วนปัญหาน้ำประปาเค็มตอนนี้จะเป็นในส่วนของประปาหมู่บ้าน หรือประปาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ 10 กิโลเมตร นับจากประตูระบายน้ำท่าถั่ว หรือจนถึงปากคลองสวน เราได้ประสานไปแล้วว่า ประปาหมู่บ้านไหนมีปัญหาน้ำเค็ม ไม่สามารถผลิตน้ำประปาหมู่บ้านได้ให้ประสานมาที่เรา จะส่งรถบรรทุกน้ำประปาไปสนับสนุนให้” นายสิงหชัยกล่าว