
ชาวสวนยิ้มรับต้นฤดูทุเรียนตะวันออกราคาพลิกกลับ เกรด AB พุ่ง 280 บาท/กก. จีนแย่งซื้อคาดราคาสูงถึงต้นเมษายน เพราะใกล้ “เทศกาลเช็งเม้ง” ปัจจัยบวกเพราะผลผลิตยังออกน้อย เวียดนามเจอสารตกค้างเพียบถูกจีนระงับส่งออกถึง มิ.ย. 68 เผยชาวสวนลุยใช้ “จันทบุรีโมเดล” แก้ปัญหาสารปนเปื้อนแคดเมียม และสารย้อมสี BY2 รวมทั้งทำบิ๊กคลีนนิ่งเป็นประจำ เป็นข้อมูลส่งให้รัฐบาลเจรจากับจีน หวังต่อรองลดการตรวจเข้ม 100% และลดซ้ำซ้อนที่ต้องตรวจทั้งสวนและล้ง
ต้นฤดูราคาพุ่ง 280 บาท
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจราคาตลาดทุเรียนภาคตะวันออกปี 2568 ในช่วงแรกคาดการณ์ว่า ราคาทุเรียนอาจจะลดต่ำลงจากปัญหาของการตรวจเข้มสารแคดเมียมและสารย้อมสี Basic Yellow 2 (BY2) ของจีน แต่เมื่อถึงต้นฤดูกาลของภาคตะวันออกทุเรียนเริ่มออกสู่ตลาด ราคากลับพุ่งสูงขึ้น โดยเกรด AB ราคาสูงถึง กก.ละ 280 บาท ราคาเหมาหน้าสวนหมอนทอง ราคา กก.ละ 230-240 บาท และราคาหน้าล้งที่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี เปิดรับซื้อ AB กก.ละ 240-245 บาท
นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย เปิดเผยว่า ราคาทุเรียนในตลาดจีนพุ่งสูงมาก เนื่องจากปัจจัย 1.เป็นช่วงต้นฤดูทุเรียนภาคตะวันออก ผลผลิตมีปริมาณน้อย ทุเรียนภาคใต้ขาดช่วง และทางเวียดนามไม่มีทุเรียนออกสู่ตลาด 2.ด่านจีนตรวจทุเรียนไทยไม่พบสารแคดเมียมและสารย้อมสี Basic Yellow 2 (BY2) ตั้งแต่ 20 ก.พ.-10 มี.ค. 68 ถือเป็นระยะเวลานาน ทำให้จีนเชื่อมั่นทุเรียนไทย และตลาดจีนนิยมทุเรียนภาคตะวันออกของไทย
3.ตลาดจีน เริ่มไม่มีผลไม้ชนิดอื่น เช่น เชอรี่ ที่เคยมีอยู่เต็มตลาดเริ่มบางตา และ 4.ปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น ใกล้เทศกาลเช็งเม้งตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน มีการซื้อขายล่วงหน้ากันตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ราคาทุเรียนสูงขึ้นเรื่อย ๆ มาแตะ กก.ละ 200-240 บาท คาดว่าเป็นราคาสูงช่วงสั้น ๆ หลังจากวันที่ 5 เมษายน คาดว่าราคาจะปรับลงเมื่อปริมาณผลผลิตทุเรียนออกมากขึ้น
พายุฝนทำเหลือ 6 แสนตัน
“ต้นฤดูราคาทุเรียนสูง เพราะปริมาณผลผลิตออกน้อยมาก ถือเป็นรุ่นพิเศษ แต่ในรุ่นที่จะออกต่อไปหากประเมินสภาพอากาศที่แปรปรวนช่วงนี้ เกิดทั้งลมพายุ ฝนตก อากาศหนาว มีผลต่อการติดลูก ถ้าลูกอายุเกิน 70 วันจะรอด แต่รุ่นที่ผลผลิตออกเท่าไข่ไก่ ไข่ห่าน ดอกบาน หางแย้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะร่วง
ดังนั้น ปีนี้คาดการณ์ว่าผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกน่าจะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมถึง 40% จะเหลือประมาณ 600,000 ตัน จากที่ประมาณการไว้ 1.04 ล้านตัน ลดลงจากปี 2567 ที่มีผลผลิตประมาณ 720,000 ตัน ปีนี้ทุเรียนที่คาดว่าจะทยอยออก 4-5 รุ่น จะลดลงเหลือ 2-3 รุ่น และทุเรียนต้นใหม่จะไม่ติดลูก บางรุ่นรอดแต่รูปทรงไม่สวย เป็นโบ้ (จัมโบ้ลูกใหญ่) เข้ (ผิวเหมือนจระเข้ ลูกใหญ่เปลือกหนา) เป็ด (ทรงตูดแหลมคล้ายตูดเป็ด) ขายส่งออกได้เพียง 20% ที่เหลือต้องขายตลาดภายในประเทศ” นายสัญชัยกล่าว
ตราดรุ่นแรก 240 บ./กก.
ด้านนายคมญ์คริษฐ์ กล่อมสงข์ เจ้าของสวนทุเรียน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า ต้นฤดูทุเรียนปี 2568 รุ่นแรกออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 10 ตันเศษ มีพ่อค้ามาเหมาซื้อ ABC ราคา กก.ละ 230-240 บาท ซึ่งช่วงนี้ทุเรียนมีปริมาณน้อยได้ราคาดีใกล้เคียงกับปีก่อน
ทั้งนี้ ทุเรียนที่เป็นไซซ์ส่งออกจะได้ราคาดีมาก ทุเรียนในสวนมี 4-5 รุ่น ทยอยออกตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป คาดว่าราคาเฉลี่ยจะไม่ต่ำกว่า กก.ละ 200 บาท ปีนี้ทุเรียนยังคงทำราคาได้ดี จากเดิมวิตกกังวลปัญหาทุเรียนภาคใต้ที่มีปัญหาสารปนเปื้อนแคดเมียม และสาร BY2 ที่อาจจะกระทบราคาทุเรียนตะวันออกไม่ถึง กก.ละ 200 บาท
จีนยังไม่ขึ้นทะเบียน DOA
นายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ อุปนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน ผู้ส่งออกทุเรียน กล่าวว่า ปัญหาการตรวจเข้มแคดเมียมและ BY2 ของจีน ทำให้ต้องเร่งยกระดับสวนและโรงคัดบรรจุ (ล้ง) เพื่อให้ทุเรียนไทยได้มาตรฐานปราศจากสารปนเปื้อน เพื่อจีนจะได้ผ่อนคลายการตรวจอย่างเข้มข้น 100% ในช่วงที่ทุเรียนออกเป็นจำนวนมากวันละ 700-1,000 ตู้ ปีนี้มีล้งใหม่ ๆ ที่ต้องการเข้ามาซื้อทุเรียนมากขึ้น แต่จีนยังไม่ขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ใบ DOA) ให้
ถ้าล้งมีจำนวนมากจะทำให้แข่งขันสูง แย่งกันซื้อ ราคาทุเรียนจะเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลดีกับเกษตรกร ไม่มีการกดราคาแน่นอน ทุเรียนซื้อราคาแพงมาก กำไรมาก หากล้งไหนตรวจแล้วไม่มีปัญหาสารปนเปื้อนที่ด่านจีน ราคาปลายทางดีมาก ทำแล้วมีกำไร
“ตอนนี้ภาคตะวันออกพยายามขับเคลื่อน ‘จันทบุรีโมเดล’ เริ่มจากสวนทำตามหลักปฏิบัติ GAP ตรวจสารแคดเมียมและ BY2 เพื่อทราบผลด้วยความสมัครใจ และโรงคัดบรรจุ ทำ Big Cleaning 100% อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และการปฏิบัติตามนโยบาย 4 ไม่ ของกรมวิชาการเกษตร โดยสมาคมทุเรียนไทย (TDA) จัดทำสื่อ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน เผยแพร่ไปยังจีน เป้าหมายคือ เพื่อให้รัฐบาลนำหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ไปเจรจากับจีนลดการตรวจ 100% คือทางรอดที่แท้จริง”
ยันไม่มีสารย้อมสี BY2 ในสวน
นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาล้งให้เกษตรกรยื่นขอตรวจสอบสารปนเปื้อนแคดเมียม และ BY2 ด้วยความสมัครใจ และล่าสุด กรมวิชาการเกษตรยืนยันแล้วว่า สารย้อมสี BY2 ไม่มีในสวน ดังนั้น ชาวสวนไม่ควรเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ BY2 ซึ่งจะเป็นการตรวจที่ซ้ำซ้อนกับล้ง
ที่สำคัญ ในการตรวจแคดเมียมตรวจล่วงหน้าได้เป็นเดือน ค่าตรวจเพื่อนำผลไปยืนยันกับล้งประมาณ 500-600 บาท แต่ค่าตรวจ BY2 ตัวอย่างละ 3,500 บาท ต้องตรวจล่วงหน้าก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน ในช่วงพีกเกรงว่าแล็บที่ให้บริการไม่เพียงพอ
ทุเรียนตราดออกก่อน-ราคาดี
แหล่งข่าวจากเกษตรกร 3 จังหวัดภาคตะวันออก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลผลิตทุเรียน จ.ตราด จะออกก่อน จ.จันทบุรี และระยอง เพียง 10-15 วัน เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เริ่มมีพันธุ์กระดุมออก ราคาไม่สูงมาก กก.ละ 130-160 บาท เดือนมีนาคม 2568 เริ่มมีหมอนทองรุ่นแรก เกรด AB ราคา กก.ละ 280 บาท ต่อมากลางเดือนมีนาคม 2568 เกรด ABC ราคา 230-240 บาท/กก. ช่วงนี้กระดุม ราคา กก.ละ 185-200 บาท ต้นเมษายน หมอนทองชุดใหญ่จะออก ชาวสวนแปลงใหญ่จะเหมาให้พ่อค้าตีราคา 5-7 วันก่อนตัด เพื่อให้ได้ราคาตลาดที่แน่นอน
โต้กลาง ครม.ปมส่งออกทุเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มี.ค. หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการส่งออกทุเรียนของไทยที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของประเทศจีน เกี่ยวกับการตรวจจับสารย้อมสี BY2 โดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประเทศไทยควรมีเครื่องมือตรวจจับปริมาณสารย้อมสี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสองกระทรวงหลักคือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รีบแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวอย่างดุเดือด และใช้เวลาพอสมควร
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เมื่ออายัดทุเรียนมาได้แล้ว ทำไมไม่ทำลาย ทำให้ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รีบโต้แย้งขึ้นมาด้วยเสียงเข้ม และมั่นใจว่าตามขั้นตอนเมื่ออายัดของได้แล้ว ไม่สามารถทำลายได้ในทันที
ต่อมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้สองรัฐมนตรีไปคุยนอกรอบให้ยุติ ก่อนนำมารายงาน ครม.อีกครั้ง