พืชศก.อ่วม 19จังหวัดวิกฤตแล้ง สุพรรณ-โคราชขาดน้ำ5แสนไร่

19 จังหวัดส่อแล้งหนัก ขอฝนหลวงก่อนวิกฤต “ข้าว-ข้าวโพด-อ้อย-มันสำปะหลัง” กระทบหนัก “สุพรรณบุรี-โคราช” ขาดน้ำมากสุดรวมกว่า 5 แสนไร่ เร่งสร้างฝายกักน้ำเพิ่ม อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว พื้นที่เงาฝน นาข้าวยืนต้นตาย กรมฝนหลวงฯเร่งช่วย “อุตรดิตถ์” ประกาศเขตภัยแล้งซ้ำซาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตร 19 จังหวัด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งและร้องขอฝน ได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ลำพูน ตาก ลำปาง แพร่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสระแก้ว เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่าง ๆ

พท.เกษตรนอกชลประทานอ่วม

นายมานะ จิวสิทธิประไพ เกษตร อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า อ.ด่านช้าง เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากแล้ง 2 แสนไร่ ข้าวโพด 3.5 หมื่นไร่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเสียหายยังไม่ชัดเจน หากต.ค.-พ.ย. 61 ฝนหมดเร็วอาจทำให้ผลผลิตลดลง 10-15% ขณะที่ข้าวโพดรุ่นแรกต้องตัดขายทิ้งเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย 10% อีก 20% ขาดน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เหลือ 70% ยังไม่เก็บเกี่ยว แนวทางป้องกันคือ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลายอิงสถิติน้ำฝน

นางแสงเสน่ห์ เกตุกระทุ่ม หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าพื้นที่ที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากฝนแล้ง และขอสนับสนุนฝนหลวงจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) 4 อำเภอ 3 แสนไร่ ได้แก่ ด่านขุนทด แก้งสนามนาง บัวใหญ่ และหนองบุญมาก ส่วนใหญ่เป็นข้าว มันสำปะหลัง และอยู่นอกเขตชลประทาน ขณะที่แนวทางการแก้ไขระยะยาวอยู่ระหว่างเร่งสร้างฝายชะลอน้ำและแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม

“สระแก้ว” นาข้าวยืนต้นตาย

ขณะที่นายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว เปิดเผยว่า อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่เงาฝน ส่งผลให้นาข้าวยืนต้นตาย ขณะที่อ่างเก็บน้ำหลัก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง มีน้ำเพียง 9.5 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อน 40 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียนมีปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อน 20 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯเร่งทำฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 61 แต่ยังไม่เพียงพอ เบื้องต้นคาดว่าพืชในเขตชลประทานไม่น่ามีปัญหา แต่นอกพื้นที่ชลประทานจะเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนผลักดันให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน สามารถใช้เพาะปลูกได้ 2 หมื่นไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 61

นายสุรพันธ์ สุวรรณไพบูลย์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วทำเรื่องขอให้กรมฝนหลวงฯมาช่วย โดยเน้นเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน ซึ่งช่วยพื้นที่เกษตร 160,000 ไร่ ตามแผนที่วางไว้จะปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึงปลายเดือน ต.ค. 61

“บุรีรัมย์” ประหยัดน้ำรับโมโตจีพี

เช่นเดียวกับ อ.พล แวงน้อย แวงใหญ่ หนองสองห้อง และบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง นายวรวุฒิ ขอดจันทึก เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เริ่มมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ อ.พลและหนองสองห้องรายงานคาดการณ์ว่าเสียหาย จึงได้ประชุมขอฝนหลวง อย่างไรก็ตาม ได้ให้เกษตรกรลดรอบการทำนาปรัง และปลูกพืชใช้น้ำน้อย

นายสมชาย จงบัญญัติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จ.อุตรดิตถ์ ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง 51 หมู่บ้าน ต.นาอิน และนายาง อ.พิชัย มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 3,263 ราย นาข้าว 51,478 ไร่ ซึ่งต้องสำรวจว่าเสียหายสิ้นเชิง ต้องให้ชลประทานเข้าไปดูว่าจะส่งน้ำจากเขื่อนเก็บน้ำผาจุกเข้าในพื้นที่ได้หรือไม่ รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรโครงการพืชน้ำน้อยโดยมุ่งเน้นข้าวโพด เนื่องจากอุตรดิตถ์มีการปลูกข้าวโพดได้ดีอยู่แล้วราว 1.9 แสนไร่/ปี

นายนพรัตน์ พงศ์กิตติโชติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ทำหนังสือขอสนับสนุนการทำฝนหลวง ทำให้ฝนตกบ้างและข้าวไม่เสียหาย แต่ห่วงว่าน้ำจะไม่เพียงพอที่จะออกรวง รวมถึงห่วงเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจาก ต.ค. มีการจัดแข่งขันโมโตจีพี ซึ่งสถานประกอบการต่าง ๆ ต้องใช้น้ำมาก จึงประชาสัมพันธ์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ลดการทำนาปรังและปลูกพืชอายุสั้นน้อยลง

“เชียงใหม่-ลำพูน” รับหน้าแล้ง

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วง พ.ย.จึงจะทราบว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้งหรือไม่ ซึ่งพื้นที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บนภูเขา และเชิงเขาที่ระบบน้ำชลประทานเข้าไม่ถึง เช่น อ.ดอยเต่า อ.ดอยหล่อ อ.ฮอด อ.สะเมิง เป็นต้น

จากสถานการณ์ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันจะรองรับฤดูแล้งปี 2561-2562 ได้ โดยวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสภาพน้ำฝน เพื่อรับมือฤดูแล้งตามลำดับความสำคัญ คือ 1.น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 3.น้ำเพื่อการเกษตร 4.น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

ลุ้นข้าวเปลือกมะลินาปี 8 ล.ตัน 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2561/2562 ที่กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยวปลายเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2560/2561 ปริมาณ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก บวกลบกว่านี้เล็กน้อย เพราะพื้นที่นาปีในภาคอีสานเหนือน้ำท่วมบางส่วน เช่น อีสานใต้ และบางส่วนประสบภัยแล้ง เช่น จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์

นายวิชัย ศรีนวกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และประธานชมรมโรงสีข้าวหอมมะลิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การคาดการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลินาปี ปี 2561/2562 จะชัดเจนในช่วงกลางเดือน ต.ค. เพราะจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้รับน้ำจากพายุมังคุดก่อนหน้านี้ จึงมีผลผลิตดีประมาณ 3-4 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นสัดส่วน 50% ส่วนที่เหลือยังต้องรอประเมินอีกครั้งช่วง 15-20 ตุลาคมนี้ เพราะในบางพื้นที่ผลผลิตไม่ดี สภาพอากาศต่างกัน เช่น ในนครราชสีมาตอนกลาง-ล่าง ผลผลิตดี ส่วนตอนเหนือของจังหวัด อ.ประทาย ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ อ.พุทไธสง และ อ.ชุมพวง ติดกับ จ.บุรีรัมย์ ผลผลิตไม่ดี

“วันที่ 25 ต.ค.นี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างละเอียดอีกครั้ง”