7 ปีที่รอคอย ท่อลอดใต้ทะเล 4 พันล. กปภ.ส่งน้ำจากสุราษฎร์ไปเกาะสมุย

เกาะสมุยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางไปท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ ทำให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยการเสนอให้นำน้ำประปาที่ผลิตบนฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจัดส่งตามท่อใต้ทะเลไปยังเกาะสมุยตั้งแต่ประมาณปี 2553 แต่ได้รับการคัดค้านมาตลอดจากนักสิ่งแวดล้อม เพราะเกรงผลกระทบต่อระบบนิเวศ จนมาถึงรัฐบาล คสช. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดท่อใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560

ล่าสุด กปภ.ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร พิธีเปิดโครงการฟื้นฟูปะการังในพื้นที่เกาะสมุย ดูความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดท่อใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย เมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคม 2561 โดยได้ลงพื้นที่สถานีผลิตน้ำบ้านนาทราย ต.หนองไทร อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และเกาะสมุย เพื่อดูความพร้อมในการเตรียมรับมือกับภัยแล้ง

รองรับการขยายตัวของประชากรและนักท่องเที่ยวในอนาคตนำทีมโดย “นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย” ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กปภ.มีการผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนภายในเกาะสมุยอยู่แล้ว แต่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เมื่อโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาจากสุราษฎร์ธานีลอดท่อใต้ทะเลไปยังเกาะสมุยเสร็จ คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

เป็นน้ำที่มีคุณภาพได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และช่วยสร้างเศรษฐกิจของเกาะสมุยให้ดีขึ้น มีน้ำสะอาดรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ

“กิตติศักดิ์ เกื้อกาญจน์” ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค (ชั้นพิเศษ) สาขาสุราษฎร์ธานี บอกว่า การส่งน้ำประปาลอดท่อไปยังเกาะสมุย จะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตอำเภอดอนสัก อำเภอขนอม และอำเภอเกาะสมุย

ซึ่งจะทำการผลิตที่ กปภ.สาขาสุราษฎร์ธานี จากสถานีผลิตน้ำบ้านนาทรายส่งไปยังบ้านท้องโหนดเป็นระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตร หลังจากนั้นส่งลอดท่อใต้ท้องทะเลไปยังเกาะสมุยเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และจากฝั่งเกาะสมุยขึ้นไปบนเกาะอีก 13 กิโลเมตร

ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีปริมาณการใช้น้ำอยู่ที่ 113,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน มีกำลังการผลิตน้ำจากโรงกรองของ กปภ.สาขาสุราษฎร์ธานี 4 แห่ง คือ 1.โรงกรองน้ำ กม.5 2.โรงกรองน้ำพุนพิน 3.โรงกรองแบบ mobile plant และ 4.โรงกรองบ้านนาทราย

ซึ่งมีผู้ใช้น้ำกว่า 78,324 ราย รวมรายได้ประมาณ 164 ล้านบาท/ปี คาดว่าหากสามารถส่งน้ำไปยังเกาะสมุยได้จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกหลายสิบล้านบาทต่อเดือน และผู้ใช้น้ำกว่า 5 หมื่นครัวเรือน จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

ขณะเดียวกันสถานีผลิตน้ำบ้านนาทรายได้น้ำดิบมาจากคลองพุมดวง ที่ระบายมาจากเขื่อนรัชชประภา ก่อนนำมาเข้ากระบวนการกรอง โดยใช้กำลังการผลิต 2,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง แบ่งเป็นจ่ายน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุราษฎร์และพื้นที่บริเวณรอบนอกตัวเมือง รวมถึงจะส่งลอดท่อไปยังเกาะสมุยในอนาคต ซึ่งกำลังการผลิตเต็มอัตราสูงสุดอยู่ที่ 4,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง สามารถรองรับการขยายตัวของประชาชนที่ต้องการใช้น้ำได้อีก 10 ปี

“ธงชัย ระยะกุญชร” โฆษกและผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร การประปาส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า ท่อส่งน้ำประปาจากสุราษฎร์ธานีมายังเกาะสมุยเรียกว่า ท่อ PE ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเลได้เป็นอย่างดี จุดที่ท่อขึ้นมายังบนเกาะสมุยคืออ่าวพังกา ณ วันนี้อยู่ในระหว่างทดสอบท่อ โครงการก่อสร้างดังกล่าวแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 การสร้างอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะที่ 2 การก่อสร้างอยู่ในทะเล ระยะที่ 3 จะอยู่บนเกาะสมุย โดยระยะที่ 2 และ 3 เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ส่วนระยะที่ 2 หรือท่อลอดใต้ทะเล 20 กิโลเมตร ต้องทดสอบเป็นพิเศษ และจากการทดสอบได้ผลที่น่าพอใจ แต่เพื่อความมั่นใจต้องใช้เวลาทดสอบอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถส่งน้ำจากสุราษฎร์ธานีมายังเกาะสมุยได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2561 อย่างแน่นอน หากไม่เกิดข้อผิดพลาดหรือเจอมรสุม

“ท่อที่ลงไปในทะเลมีอายุการใช้งานหลายสิบปี เราจะมีจุดพิกัดบอกเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เรือทิ้งสมอลงไป เพื่อป้องกันผลกระทบต่อท่อ โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญ ใช้งบประมาณเกิน 4 พันล้านบาท ตอบโจทย์การใช้น้ำของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะได้ใช้น้ำดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ก่อให้เกิดมลพิษใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งมีการฟื้นฟูปะการังที่ได้รับผลกระทบจากการเดินท่อบ้างเล็กน้อย ทาง กปภ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปลูกปะการังเป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มในปีนี้เป็นปีแรกด้วยงบประมาณ 2 ล้านบาท”


นอกจากนี้ กปภ.ยังมีโรงกรองน้ำเก่า 5 โรงกรอง สำรองน้ำไว้ใช้ได้หากมีปัญหาจากการส่งน้ำลอดท่อจากสุราษฎร์ธานีมาบนเกาะสมุย แต่ในการส่งน้ำประปามาเราจะมีท่อวัดแรงดันทั้งสองฝั่ง หากมีตัวเลขแรงดันต่างกันเพียง 1 บาร์ จะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่ามีปัญหาหรือไม่