“เลย” ทุ่ม40ล.ผุดสกายวอล์กปักหมุดเที่ยวริมน้ำโขง

เลย-โขง
บูมท่องเที่ยว - จังหวัดเลยถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความงดงามทางธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไป ดังนั้น ทางจังหวัดเลย และหอการค้าจังหวัดเลยจึงได้ของบประมาณผลักดันการท่องเที่ยวในอำเภอต่างๆ ให้เติบโต

จังหวัดเลย เดินหน้าบูมท่องเที่ยวริมโขง รุก 4 โครงการ “สกายวอล์ก-แก่งคุดคู้-ร้อยแก่งพันเกาะ-พัฒนาอำเภอปากชม” หนุนรายได้ท่องเที่ยวโต 10% ด้านหอการค้าชวนต่างจังหวัดมาลงทุน หวังเพิ่มความคึกคักเมือง

นายวิโรจน์ เปี่ยมสกุล กรรมการที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดเลย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน จ.เลย เติบโตจากภาคการท่องเที่ยวต่อเนื่องมาตลอด 4-5 ปี โดยปี 2561 จังหวัดได้รับงบประมาณมาดำเนินโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว 4 แห่ง คือ

1.การส่งเสริมการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงตลอดแนว ตั้งแต่ อ.ปากชม ถึง อ.เชียงคาน และ อ.ท่าลี่ รวมถึงมีโครงการก่อสร้างสกายวอล์กริมแม่น้ำโขงสุดเขตประเทศไทย เป็นลักษณะตัวยู ยื่นออกไป 20 เมตร กว้าง 20 เมตร ตั้งอยู่ที่ อ.เชียงคาน

โดยบริเวณนี้มีลักษณะเหมือนสามเหลี่ยมทองคำ มีแม่น้ำเหืองกั้นระหว่างแขวงไซยะบุรี แขวงเวียงจันทน์ และประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง งบประมาณ 40 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2561

2.โครงการพัฒนาแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เลย เป็นผู้รับผิดชอบ

3.โครงการพัฒนาร้อยแก่งพันเกาะ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ อ.ปากชม ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยบริเวณนี้เป็นแอ่งน้ำวนของแม่น้ำโขง มีหินผุดจำนวนมาก ประกอบกับมีปลาชุกชุม ทั้งนี้จะสร้างเป็นแหล่งพักผ่อนและจุดพักรถ โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาเปิดร้านอาหาร

และ 4.โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณที่ว่าการ อ.ปากชม ให้มาท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์ได้ รวมถึงมีโครงการก่อสร้างพญานาคสูง 18 เมตร งบประมาณทั้งหมด 40 ล้านบาท

ทั้งนี้จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่าปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา จ.เลย 2.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4,000 กว่าล้านบาท

ดังนั้นหากการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่งแล้วเสร็จ คาดว่าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวเติบโตประมาณ 10% ซึ่งจะช่วยกระจายนักท่องเที่ยวจาก อ.เชียงคาน ซึ่งนักท่องเที่ยวค่อนข้างหนาแน่น ไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการประชุมวิถีท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงของรัฐบาล ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเลาะริมน้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย-อุบลราชธานี

นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2561 หอการค้าจังหวัดเลยได้เสนอโครงการรถไฟความเร็วต่ำเลาะแม่น้ำโขง เส้นทางหนองคาย-เชียงคาน-เลย ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า อีกทั้งสามารถเชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูงจากจีน-เวียงจันทน์ รวมถึงเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปเมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ ระยะทางเพียง 160 กม.ได้

ขณะที่จังหวัดเลยมองว่าเส้นทางชัยภูมิ-ชุมแพ-เลย ระยะทาง 200 กม. เหมาะสมกว่า จึงเสนอขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณศึกษา ขณะเดียวกันจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เสนอถนน 4 เลน มาเชื่อมต่อ จ.เลย โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อม อ.ท่าลี่และ สปป.ลาว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการลงทุนฝั่ง สปป.ลาวค่อนข้างคึกคัก ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีน ส่วนนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนโครงการขนาดเล็ก มีเพียงบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปทำโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

ทั้งนี้หากบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้สัมปทานโครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว บริเวณเหนือแขวงหลวงพระบางอีก จะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนพุ่งสูงขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 300-400 ล้านบาท อีกทั้งจีนยังเล็งขยายถนน 4 เลน จาก จ.เลยไปแขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 400 กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ ต่างจากถนนหมายเลข 13 ที่เป็นภูเขาสูง หากโครงการแล้วเสร็จทำให้การขนถ่ายสินค้าง่ายขึ้น และสามารถเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงของจีนด้วย

ขณะที่การลงทุนฝั่ง จ.เลย ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม รีสอร์ตที่ อ.เชียงคาน ส่วน อ.เมืองเลย ไม่ค่อยมีการลงทุน ซึ่งหอการค้าจังหวัดเลยพยายามเชิญชวนต่างจังหวัดให้มาลงทุน เช่น ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ แต่ขณะนี้ยังคงรอการเลือกตั้งก่อน ประกอบกับยังติดปัญหาเรื่องผังเมือง โดยพื้นที่บางแห่งกำหนดให้เป็นสีเขียวเพื่ออยู่อาศัย อยากให้มีการปรับเปลี่ยนเป็นเพื่อทำการค้า ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งพื้นที่ป่าสงวนค่อนข้างมาก

เช่น อ.นาแห้ว พื้นที่ทั้งอำเภอเป็นป่าสงวน เกษตรกรติดปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ จังหวัดจึงแก้ปัญหาด้วยการทำโครงการนาแห้วโมเดล โดยกันพื้นที่เขตวัด สถานที่ราชการ หมู่บ้าน ป่า ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม และทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จ และจะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป