ปักหมุด “แม่วิน” สัมผัสนาขั้นบันได แม็กเนตท่องเที่ยว “เชียงใหม่”

“ตำบลแม่วิน” ตำบลเล็ก ๆ บนยอดดอยทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมุดหมายการท่องเชิงนิเวศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งยุโรป จีน เกาหลี มาเลเซีย และญี่ปุ่น นิยมมาแวะเยือนตลอดทั้งปี อะไรคือแรงดึงดูดสำคัญ ระยะทางจากตัวอำเภอแม่วางราว 13 กิโลเมตร ขับรถเลี้ยวเลาะคดโค้งตามแนวเส้นภูเขา บนถนนสายสันป่าตอง-บ้านกาด-แม่วิน เมืองในหุบเขาแห่งนี้มีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่มากมาย

นางเกศริน ตุ่นแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยต้นทุนทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย โดยเฉพาะ “ช้าง” และ “วิถีชนเผ่า” สองสิ่งที่เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวของตำบลแม่วินมานานร่วม 30 ปี ที่ผ่านมาการผูกโยงและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของชุมชนแห่งนี้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการโปรโมต นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่ คือ ปากต่อปาก ทำให้ในวันนี้แหล่งท่องเที่ยวของแม่วินจึงยังมีความบริสุทธิ์และสมบูรณ์

ตำบลแม่วินพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีสภาพเป็นป่าดิบเขา มีแม่น้ำวางไหลผ่าน เป็นเส้นเลือดใหญ่ของชุมชน มีหมู่บ้านทั้งหมด 19 หมู่บ้าน จำนวน 2,000 กว่าครัวเรือน มีประชากร 12,098 คน แบ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาชนเผ่าปกากะญอ 13 หมู่บ้าน ชาวเขาเผ่าม้ง 2 หมู่บ้าน และอีก 4 หมู่บ้านเป็นคนเมืองพื้นราบ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวเพื่อบริโภคกันเองและแบ่งขาย ปลูกผักโครงการหลวง ข้าวโพดหวาน ข้าวบาร์เลย์ ถือเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์

“เรามีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดรายได้เป็น 2 ฐานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน คือ เศรษฐกิจฐานรากเกษตรกรรม ในพื้นที่มีโครงการหลวง 3 แห่ง คือ โครงการหลวงแม่สะป๊อก โครงการหลวงขุนวาง และโครงการหลวงทุ่งหลวง เสริมให้ชาวบ้านปลูกผักและมีรายได้อย่างพอเพียง และอีกฐานคือการท่องเที่ยว”

นางเกศรินกล่าวว่า ชนเผ่าปกากะญอได้เริ่มทำการท่องเที่ยวกันมานานกว่า 30 ปีโดยมีช้างเป็นจุดขาย และในพื้นที่ตำบลแม่วินมีปางช้างมากกว่า 30 ปาง มีช้างมากกว่า 200 เชือก แต่ละปางมีช้างราว 3-10 เชือก สมัยก่อนชนเผ่าปกากะญอมีช้างเอาไว้ลากไม้ ซึ่งสมัยนั้นจำนวนช้างไม่มาก บรรพบุรุษของปกากะญอมีช้างเป็นต้นทุนในการหล่อเลี้ยงชีวิตและสร้างเศรษฐกิจแบบพอเพียง และปัจจุบันยังคงได้รับการสืบทอดจากรุ่นลูกรุ่นหลานในการดูแลรักษาปางช้าง

“เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวจะขี่ช้าง แต่ปัจจุบันจะมาเรียนรู้วิถีชีวิตของช้าง มาอยู่กับช้าง เลี้ยงช้าง อาบน้ำช้าง อยู่กันเป็นวัน ๆ หรือครึ่งวัน รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติใส่ใจเรื่องนี้กันมาก”

สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวยุโรป 60% จีน 20% และอีก 20% คือ เกาหลี มาเลเซีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปัจจุบันชาวบ้านได้หันมาใช้มอเตอร์ไซค์ขี่พาชมแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาไม่มากนัก เช่น คิดค่าบริการในอัตรา 250 บาท/3-4 ชม.

ตำบลแม่วินมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่สำคัญได้แก่ ล่องแพน้ำวาง ขี่ช้างชมไพร เลี้ยงช้าง มีน้ำตกแม่สะป๊อก น้ำตกแม่วาง โครงการหลวง ทัวร์ป่า ทุ่งนาขั้นบันได มีที่พักทั้งรีสอร์ตและโฮมสเตย์ราว 34 แห่ง มีผ้าทอของชนเผ่า โดยในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากว่า 150,000 คน มีรายได้รวมกว่า 100 ล้านบาท

ผุด “Hub Maewin” ท่องเที่ยว

นางขจีพรรณ สมานติรานนท์ เลขานุการกลุ่มฮับแม่วิน (Hub Maewin) และเจ้าของโครงการบ้านแตงโม โฮมสเตย์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวแม่วินเริ่มขยายตัวและเติบโตขึ้น แต่ทำอย่างไรจะไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งชุมชนต้องเข้มแข็ง ที่ผ่านมาการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนยังมีน้อย แต่วันนี้ชุมชนแม่วินต้องรวมพลังกัน จึงมีแนวคิดทำ “โครงการ Hub Maewin” หรือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของตำบลแม่วิน”

ที่ผ่านมาปัญหาขยะมาพร้อมกับการท่องเที่ยว ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งก็จะทำให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งขยะ และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายในที่สุด วันนี้เราจึงต้องสร้าง generation ใหม่ในการผลักดันปลูกฝังรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ให้คงอยู่ไว้ให้มากที่สุด ให้ถูกทำลายน้อยที่สุด

สำหรับ “Hub Maewin” ต้องการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของชุมชน โดยเป็น “ศูนย์กลาง” สามารถกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง เป็นศูนย์รวมงานทอผ้า ขายผ้า กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวสามารถขายได้ แผนต่อไปของฮับแม่วิน คือ การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร บริหารให้ชุมชนสามารถเข้าถึง รวมกลุ่มให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง

นางขจีพรรณกล่าวว่า การท่องเที่ยวในปี 2562 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมถึงปัญหาทางการเมืองของไทยส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลแม่วินลดลงถึง 50%

“ตอนนี้เราเริ่มมองหาตลาดคนไทย เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดต่างชาติ สิ่งที่ต้องทำ คือ ป้องกันธรรมชาติ เน้นความดิบเดิมที่มีอยู่ เรามีนาขั้นบันไดที่เพิ่งเริ่มทำจริงจังในซีซั่นนี้ เป็นทุ่งนาของชาวบ้านบนดอยที่ทำอยู่ดั้งเดิม และพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชม มีโฮมสเตย์ของชนเผ่าปกากะญอ ซึ่งกลุ่มฮับแม่วินจะเป็นศูนย์กลางที่จะพานักท่องเที่ยวขึ้นไป”

โดยสัดส่วนของรายได้ที่ผ่านกลุ่มฮับแม่วิน 20% จะกระจายให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มฮับแม่วิน เพื่อให้มีรายได้อย่างทั่วถึง การท่องเที่ยวจะทำให้ยั่งยืนได้ต้องมีปัจจัยขับเคลื่อน ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนมีรายได้ทั่วถึงและยั่งยืน

“เป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวแม่วินต้องคงไว้ซึ่งการรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติต้นทุนดั้งเดิมให้คงไว้แบบดิบเดิม”

ดูนาขั้นบันได-บ้านปกากะญอ

ลุงแก้ว กฎบัญญัติ ชนเผ่าปกากะญอ เจ้าของที่นาขั้นบันได บ้านแม่สะป๊อกใต้ หมู่ 5 ตำบลแม่วิน กล่าวว่า ได้เริ่มทำนาขั้นบันไดซึ่งเป็นที่นาดั้งเดิม มีทั้งหมด 4 ไร่ ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ อยู่กับป่า อยู่กับทุ่งนาขั้นบันไดมาตั้งแต่เด็ก และได้เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมนาขั้นบันไดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะอยากมีรายได้เพิ่ม โดยมีไกด์มาติดต่อพานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยว มานอนพัก จึงทำโฮมสเตย์เป็นบ้านที่ทำจากไม้ไผ่ สามารถนอนได้ 20 คน และปลายปีนี้กำลังทำเพิ่มอีก 2 หลัง พักได้หลังละ 6 คน เมื่อรวมกับหลังแรกจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 30 คน โดยคิดค่าบริการหัวละ 50 บาท ไม่รวมอาหาร หากรวมอาหารจะคิดในราคา 150 บาทต่อคน

ลุงแก้วบอกว่า อยากให้นาขั้นบันไดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลแม่วิน ซึ่งชาวเขาบนดอยส่วนใหญ่ทำนาขั้นบันได เป็นวิถีการเกษตรดั้งเดิม และเริ่มเปิดที่นาต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะจุดนี้ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว


“อยากให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันเยอะ ๆ ตอนนี้เป็นทุ่งนาสีเขียว อีกไม่กี่เดือนจะเป็นทุ่งนาสีทอง บ้านของลุงแก้วพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน” ทั้งหมดคือแรงดึงดูดสำคัญที่น่าจะทำให้ใครหลายคนต้องปักหมุด “แม่วิน” อยู่ในแผนที่ท่องเที่ยวในทริปต่อไปเมื่อมาเยือนเชียงใหม่