ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ชูนวัตกรรมดิจิทัลปั้น “ชลบุรีสู่สมาร์ทซิตี้”

สัมภาษณ์

นอกจากธุรกิจที่มียอดขายกว่า 2 พันล้านบาทต่อปีอย่าง “ข้าวไก่แจ้” แล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ “กอล์ฟ-ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” มุ่งมั่นไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การสวมหมวกเป็น “ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี” มีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้จังหวัดเติบโตและก้าวหน้า

แต่การขับเคลื่อนในห้วงเวลาของเศรษฐกิจที่เป็นเช่นนี้ ภารกิจที่ว่าย่อมหนักหนาเอาการ ทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับคุณธีรินทร์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม และทิศทางของหอการค้าจังหวัดชลบุรีที่จะเดินหน้าต่อไป

“คุณธีรินทร์” บอกว่า ผมมองว่าเศรษฐกิจต่อให้ไม่ดีอย่างไร หลายธุรกิจไม่ใช่จะไม่ดีไปทั้งหมด อย่างอสังหาริมทรัพย์อาจจะเหนื่อย แต่หลายคนปรับตัวไปหาฐานลูกค้าใหม่ หรือโรงงานพลาสติก ช่วงเศรษฐกิจดีก็ขายดี แต่แข่งขันสูง ราคาแพง มาร์จิ้นน้อย แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีราคาพลาสติกถูกลง เป็นโอกาสที่จะบริหารจัดการเรื่องการผลิต การสต๊อกเม็ดพลาสติก ซึ่งแม้ยอดขายจะน้อยลง แต่กำไรกลับดีขึ้น มองว่าวันนี้ความสำเร็จไม่ได้วัดจากยอดขาย แต่วัดจากการทำกำไร

ความเคลื่อนไหวในพื้นที่อีอีซี

ล่าสุดทาง ซี.พี.ลงนามทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน น่าจะสร้างความตื่นตัวได้ระดับหนึ่ง ทุกคนพยายามปรับตัว ผมมองว่าฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรีเป็นพื้นที่ที่จัดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือว่าเป็นบวก ถ้าไม่มีอีอีซีเศรษฐกิจในชลบุรีอาจแย่กว่านี้ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกตอนนี้ทุกอย่างยังชะลอ แต่วันนี้พอมีอีอีซี มีงบประมาณลงมาในพื้นที่ สปอตไลต์ฉายมาตรงนี้ ทำให้ภาพรวมดีขึ้น แต่ต้องดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนด้วยว่าจะไปในรูปแบบไหน วันนี้ความชัดเจนยังไม่มี เปลี่ยนตลอดเวลาต้องเข้าใจว่านักลงทุนมีความกังวลกับอะไรที่ไม่แน่นอน

ขณะเดียวกัน ช่วงนี้การท่องเที่ยวของชลบุรีก็เงียบ นักท่องเที่ยวชาวจีนเงียบมาก มีอินเดียกับรัสเซียเข้ามาทดแทนบ้าง โดยนักท่องเที่ยวอินเดียที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ นอนพักโรงแรม 5 ดาว กินในโรงแรมอยู่ในโรงแรม เงินไม่ถูกกระจายเหมือนนักท่องเที่ยวจีนที่ไปซื้อผลไม้รถเข็น ซื้ออาหารตามสั่ง กินทุกอย่าง จึงทำให้สถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่เคยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาดีกว่าปัจจุบัน

ทิศทางเมืองชลบุรีในปีหน้า

ทางหอการค้าจะขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี โดยให้ผู้ประกอบการเริ่มนำนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อช่วยลดต้นทุน และทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจดีขึ้น สำหรับกลุ่มที่ปิดการรับรู้ทุกอย่าง เราต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นเห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาทำลายธุรกิจเขา แต่เข้ามาช่วยอะไรได้บ้าง ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่เปิดรับอาจเป็นทายาทรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ที่มารับบริหารต่อยอดธุรกิจที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางหอการค้าได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยหาแหล่งเงินทุนเข้ามาช่วยผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยดีป้าสนับสนุนเงินให้เปล่าในการซื้อและใช้บริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลจากผู้ให้บริการในโครงการ 100% รายละไม่เกิน 10,000 บาท ผู้ประกอบการบางคนซื้อซอฟต์แวร์มาแล้วนำใบเสร็จมาเบิกได้

ยกตัวอย่างธุรกิจร้านอาหาร ระบบเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้ทราบได้ทันทีว่า วันนี้ขายเมนูอาหารอะไรไปบ้าง ขายไปกี่จาน ได้เงินกี่บาท จากที่เคยจดใส่กระดาษก็ทำให้บริหารจัดการง่ายขึ้น

ส่วนภาคการเกษตรทางหอการค้าไปจับมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งได้ส่งอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์มาสอนผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคนพื้นที่ คิดเรื่องลดการนำเข้า และคิดประดิษฐ์อุปกรณ์มาใช้ ที่เราโฟกัส คือ นวัตกรรมกับดิจิทัล ทำให้เราไม่ตกเทรนด์

ดันชลบุรีเป็นสมาร์ทซิตี้

ตอนนี้อำเภอพนัสนิคมได้รับคัดเลือกจากดีป้าทำโครงการชลบุรีสมาร์ทซิตี้ ประเภทเมืองอัจฉริยะ : เมืองเดิมน่าอยู่ (Livable City) ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไปทางดีป้าและหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐจากส่วนกลางจะเข้ามาช่วยหาแนวทางเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย ซึ่งหอการค้าให้โจทย์ไปแล้วว่า อยากทำเป็นเมืองสีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว ความเป็นอยู่ที่ดี เป็นเมืองน่าอยู่ การจราจร สิ่งแวดล้อม ซึ่งดีป้าต้องเข้ามาคุยเพื่อเก็บข้อมูล ละต่อยอดต่อไป นอกจากพนัสนิคมแล้วก็มีศรีราชาและพัทยาที่ได้โลโก้เมืองแล้วเช่นกัน

หากพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้ได้ ปัญหาต่าง ๆ จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น เช่น ทุกวันนี้เวลาน้ำท่วมทางอำเภอพนัสนิคมจะไม่รู้เลยว่าระดับน้ำจะมาเมื่อไหร่ เคยมีปีหนึ่งน้ำท่วมใหญ่จนสะพานขาด หากในอนาคตมีสัญญาณเตือนภัย มีระบบเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจวัดระดับน้ำจากต้นทาง จะช่วยป้องกันปัญหาและอันตรายต่าง ๆ ได้ อันนี้เป็นจุดที่เราอยากให้สมาร์ทขึ้น

วันนี้หอการค้าเรามีแต่ไอเดียว่าเราอยากให้เป็นอย่างไร แต่เราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักนวัตกรรมที่มีเทคโนโลยี แต่เราทำหน้าที่ประสาน พยายามผลักดันชุมชนในการเชื่อมต่อกับผู้บริหารท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ เพื่อให้เข้ามาคุยเพื่อจะได้มีนโยบายเข้ามาร่วมกันช่วยเหลือ ร่วมกันทำงาน เพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมายในแนวทางเดียวกันให้ได้

“ขอทำอะไรเล็ก ๆ สักอย่างให้เกิดขึ้นก่อน” นั่นคือสิ่งที่ประธานหอการค้าเมืองชลฯคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงคาดหวังไว้

 

ต่อยอดแบรนด์ ไก่แจ้ แตกไลน์ธุรกิจ 3 พันล้าน

ย่างเข้าสู่ปีที่ 36 แบรนด์ “ข้าวไก่แจ้” ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราไก่แจ้ จากจังหวัดชลบุรี บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเดิมส่งสินค้าขายแค่อยู่ในระดับอำเภอ ปัจจุบันจัดได้จำหน่ายไปทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกต่างประเทศ อาทิ อเมริกา แคนาดา ยุโรป อิสราเอล แอฟริกา และมาเก๊า โดยมียอดขายเติบโตขึ้นตามลำดับ ซึ่งในปี 2561 มียอดขายอยู่ที่ 2,200 ล้านบาท ต่อมาปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านบาท และในปี 2563 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 3,000 ล้านบาท

จากธุรกิจข้าวสามารถแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจอีกหลากหลาย เช่น ขนมขบเคี้ยว ผลไม้อบแห้ง ข้าวต้มมัดแม่นภา ทั้งส่งจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่น และส่งออก ล่าสุดได้ทำผลิตภัณฑ์ธัญพืชจำพวกถั่วเข้ามาเพิ่ม อาทิ ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วสำหรับทำน้ำเต้าหู้ ถั่วเหลืองซีก ถั่วเขียวเม็ด ถั่วเขียวซีก ถั่วแดง มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ขายในร้านขนม ร้านอาหาร คนที่รักสุขภาพ นอกจากนี้ยังสามารถนำถั่วไปต้มกินแทนข้าวได้ โดยปีนี้ได้ออกผลิตภัณฑ์ธัญพืชทั้งหมดมา 6 ชนิด และเตรียมจะออกมาอีก 9 ชนิดในปีหน้า

“สำหรับตลาดของธัญพืชถ้าเทียบกับตลาดข้าวแล้วน้อยกว่าแน่นอน แต่ผมมองว่าธัญพืชจะเป็นส่วนที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เป็นช่องทางโอกาสที่เราน่าจะต่อยอดได้ เพราะเรามองว่าจะทำยังไงให้สินค้าเราหลากหลายมากขึ้น วันนี้ไม่ใช่แค่ข้าวสารเพียงอย่างเดียว มีธัญพืชหลายชนิดที่เราสามารถต่อยอดได้”

นอกจากธัญพืชและถั่วแล้ว ก็มีสินค้าใหม่ที่ได้ผลิตออกมา คือ “ข้าวญี่ปุ่น” ภายใต้แบรนด์ไก่แจ้