ไวรัสโควิด-19 พ่นพิษ ล้งจีนกดราคาทุเรียน หยุดรับซื้อ”รังนก-กุ้ง”

ไวรัสโควิด-19 พ่นพิษอุตสาหกรรมชอร์ตวัตถุดิบหนักอีก 1 เดือน “ล้งทุเรียน” ตะวันออกเจรจาชาวสวนขอปรับลดราคาจากที่ทำสัญญาเหมายกสวนไว้สูง 150-180 บาท/กก. เหลือ 120-130 บาท/กก. เหตุตลาดจีนสะดุด ธุรกิจรังนกราคารูดลงกว่าหมื่นบาท ลูกค้าหลักทัวร์จีนหายเกลี้ยง ขณะที่ฟาร์มกุ้งกระบี่กระอักถูกจีนระงับออร์เดอร์เดือนละราว 1,000 ตัน

อุตฯชอร์ตวัตถุดิบนำเข้าจากจีน

นายสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน ประธานกรรมการ บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โรงงานฟอกหนังวัว หนังหมู จ.สมุทรปราการ ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาชิกหลายรายได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าไปให้โรงงานผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์ดังหลายยี่ห้อที่ใช้โรงงานในประเทศจีนเป็นฐานผลิตและส่งออกไปขายทั่วโลกได้ ทำให้มีสินค้าค้างรอส่งอยู่ที่โรงงาน ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบพวกสารเคมีบางชนิดที่นำเข้าจากจีนมาใช้ในโรงงานฟอกหนังได้ เนื่องจากโรงงานผลิตสารเคมีดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่น

แม้ตอนนี้ท่าเรือของจีนได้เปิดทำการแล้ว แต่คาดว่ากว่าจะทยอยออกไปได้คงใช้เวลา ขณะที่สินค้าใหม่ที่ผลิตเสร็จมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก เพราะตู้จำนวนมากบรรจุสินค้าเต็มทั้งที่ท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

“การหยุดของโรงงานผลิตรองเท้าในจีนส่งผลกระทบไปตลอดซัพพลายเชน ทำให้ต้องชะลอการผลิตไปด้วย เพราะรองเท้า 1 คู่ มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อนให้อีกหลายโรงงาน เช่น โรงงานฟอกหนัง เชือกผูกรองเท้า แผ่นรอง ผ้า PVC ฯลฯ เมื่อโรงงานในจีนผลิตไม่ได้ โรงงานฝั่งไทยต้องหยุดด้วย คาดว่าหลังจากนี้ 1 เดือนจะมีผลกระทบเรื่องระบบการผลิต”

ส่วนการนำเข้าเคมีบางชนิดตอนนี้ต้องเปลี่ยนไปนำเข้าจากยุโรป ขณะที่เคมีในการผลิตสีดำ โรงงานผลิตตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่นเพียงแห่งเดียวน่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้สีดำทั่วโลกทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า เป็นต้น

รังนกแอ่นราคารูดนับหมื่น

ด้านนายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจรังนกบ้าน หรือรังนกคอนโดขณะนี้ประสบปัญหาอย่างหนัก หลังจากที่รัฐบาลจีนสั่งห้ามกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศ เนื่องจากปกติการขายที่ผ่านมาทำได้ใน 2 ลักษณะ คือ รังนกดิบล้างสะอาดขายผ่านทัวร์จีนเป็นส่วนใหญ่ และหิ้วนำเข้าไปขายในประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันทางจีนมีการตรวจเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมมาก ส่งผลให้ตลาดประมูลรังนกดิบราคาตกลงมาเป็นหมื่นบาท/กก. จากเดิมราคารังนกดิบที่ยังไม่ได้ล้าง 25,000 บาท/กก. วันนี้เหลือประมาณ 15,000-17,000 บาท/กก.

ล้งแก้สัญญา “ลดราคา” ทุเรียน

นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจีนเปิดตลาดสถานการณ์การค้าทั่วไปดีขึ้นแม้ยังไม่กลับมาปกติ แต่ดีกว่าช่วงตรุษจีนที่ไม่มีคนเดินซื้อ ทำให้ผลไม้ที่ส่งไปเสียหายขาดทุนร่วม 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากที่ก่อนเกิดวิกฤตไวรัสแพร่ระบาด ล้งจีนได้เข้ามาทำสัญญาเหมาสวนทุเรียนราคา 150-160 บาท/กก. โดยมีการทำสัญญาวางมัดจำไว้ 10-30% ซึ่งในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทุเรียนภาคตะวันออกจะเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก แต่จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล่าสุด ทางล้งจีนได้เข้ามาเจรจาตกลงราคากับเกษตรกรใหม่ โดยขอลดราคาลง 20-30 บาท/กก. ลงมาเหลือ 120-130 บาท/กก. โดยทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะการทำตลาดในประเทศจีนยังมีปัญหา ไม่ใช่ล้งไปกดราคา ขณะเดียวกันก็เป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ

“การซื้อทุเรียนทุกวันนี้จีนเป็นผู้ลงทุน ล้งเป็นผู้รวบรวม โดยเงินวางมัดจำเป็นของบริษัทจีนที่รับซื้อ ถ้าตลาดไปไม่ได้บริษัทจีนขาดทุนคงซื้อไม่ได้ ซึ่งจีนถือเป็นตลาดหลัก 80-90% ที่มีความสำคัญและสร้างมูลค่าได้มาก จึงต้องเข้าใจและช่วยกันรักษาตลาดไว้”

แหล่งข่าวจากล้งหรือโรงคัดบรรจุส่งออก ขนุน ทุเรียน มะพร้าวอ่อน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า แม้จีนจะเปิดตลาดหลังตรุษจีนแล้ว ส่วนใหญ่การส่งผลไม้จะส่งไปขายซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าตลาดค้าส่ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสยังส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีน

ฟาร์มกระบี่ขาดทุนจีนงดซื้อกุ้ง

นายหรินทร์ ลือประสงค์จิตร ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 389 รายในจังหวัดกระบี่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากจีนหยุดรับซื้อกุ้งทุกชนิดหลังไวรัสโคโรน่าระบาด ประกอบกับมีการยกเลิกเที่ยวบินตรงจากจีน-กระบี่ จากปกติมีออร์เดอร์สั่งซื้อกุ้งสดจากจีนเดือนละ 250 ตัน กุ้งต้มแช่แข็ง 750 ตัน รวมกว่า 1,000 ตัน/เดือน และไม่สามารถหาตลาดมารองรับ ต้องเลี้ยงกุ้งต่อทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และตอนนี้เป็นช่วงหน้าแล้งเกิดโรคตัวแดงดวงขาวมาซ้ำเติมทำให้กุ้งตายจำนวนมาก ประสบภาวะขาดทุนกว่า 50% จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือมาช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน