โรงสีใต้ชี้ยอดบริโภคข้าววูบ 30% นักท่องเที่ยวหาย

สมาคมโรงสีข้าวภาคใต้เผยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำการบริโภคข้าวหายไปจากตลาดประมาณ 30% เหตุนักท่องเที่ยวหาย ร้านอาหาร-ภัตตาคาร-แหล่งท่องเที่ยวปิดตัวเองลง ในทางตรงกันข้ามผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาตลาดจูงใจเฉลี่ย 11,000 บาทต่อตัน คนตกงานกลับภูมิลำเนาปัดฝุ่นที่นารกร้างทำเกษตร ด้านชาวนาพัทลุงแห่ปลูกข้าวสังข์หยด เหตุราคาจูงใจทะลุ 20,000 บาท/ตัน แต่กักเก็บสต๊อกไว้ขายปลายปี หวังราคาทะยาน 30,000 บาท/ตัน

นายลิขิต เลขาพันธ์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาข้าวจะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องไปถึงฤดูข้าวนาปรังจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีเพราะฝนเริ่มตกลงมา ราคาข้าวไทยดีสำหรับการส่งออกตลาดโลก แต่บริโภคข้าวบริโภคภายในประเทศกลับหดตัวลงมา จากการวางมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการล็อกดาวน์และอยู่กับบ้าน

แต่ในขณะเดียวกันได้ส่งผลต่อการค้าข้าวภายในประเทศ คือการบริโภคข้าวได้หายไปจากตลาดประมาณ 30% เนื่องจากร้านอาหาร ภัตตาคาร และแหล่งท่องเที่ยวต้องปิดตัวเองลงตามมาตรการของรัฐบาล เมื่อไม่มีร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านอาหารประเภทต่าง ๆ แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งบริโภคข้าวที่สำคัญไม่เปิดบริการ และโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศรายใหญ่ คือจากประเทศจีน ต่างบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักหายไป จึงส่งผลต่อตลาดข้าวภายในประเทศ รวมถึงโรงงานผลิตอาหารประเภทขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว และอุตสาหกรรมผลิตแป้ง ก็ยุติด้วย

“สำหรับภาวะราคาข้าวในปี 2563 ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม-เมษายน 2563 ข้าวขาว ความชื้น 15% มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 11,300-11,500 บาท/ตัน จากปี 2562 อยู่ที่ 8,000-9,000 บาท/ตัน และขณะนี้ทยอยมาหยุดที่ 11,000 บาท/ตัน โดยราคาได้ขยับมาขึ้นมากว่า 1,000 บาท/ตัน ทั้งนี้ราคาข้าวของไทยส่วนใหญ่เคลื่อนไหวตามกลไกการส่งข้าวออกสู่ตลาดโลก ไม่ใช่การกำหนดของโรงสีข้าว ช่วง 2 ปีนี้ชาวนาถือว่าได้ราคาข้าวที่ดี”

นายลิขิตกล่าวต่อไปว่า สำหรับตลาดข้าวในภาคใต้โดยภาพรวมทั้งนาปีและนาปรัง สามารถผลิตได้ประมาณ 450,000 ตัน/ปี โดยภาพรวมราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท/ตัน ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท ในฤดูทำนาที่จะถึงนี้ ประมาณว่าการทำนาข้าวจะเพิ่มขึ้น โดยจะพัฒนาพื้นที่นารกร้างถูกทอดทิ้งเอาไว้ กลับมาพัฒนาใหม่ ปัจจัยสนับสนุน 1.ราคาข้าวจูงใจอยู่ในเกณฑ์ดี 2.คนที่ทำงานในเมืองประเภทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ถูกเลิกจ้าง เพราะบริษัท กิจการ โรงงานปิดตัวลง ว่างงานกลับภูมิลำเนา และหันกลับมาทำนา

นางแจ่ม แก้วขำ ประธานกรรมการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านอ้ายใหญ่ ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง และกรรมการสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการทำนาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จ.พัทลุง มีทิศทางที่ดีต่อเนื่องมาหลายปี เนื่องจากพันธุ์ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพที่มีราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งข้าวสังข์หยดอินทรีย์ และข้าวสังข์หยดที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมปทุม และข้าว กข.43 และปีนี้ไม่ได้ประสบปัญหากับภัยแล้งมาก ทำให้ได้ผลผลิตรวมกว่า 100 ตัน

ขณะที่ราคาความเคลื่อนไหวในตลาดดีมาก โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดอินทรีย์ และข้าวสังข์หยดจีไอเก็บเกี่ยวหมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ราคาโค้งแรกประมาณ 14,000-15,000 บาท/ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 13,000-14,000 บาท/ตัน

และล่าสุดราคาได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 20,000 บาท/ตัน แต่ไม่มีการขายออก ชาวนาต่างเก็บสต๊อกไว้รอราคาช่วงปลายปี 2563 โดยหวังให้ราคาขยับขึ้นไปอีกเช่นเดียวกับช่วงปลายปี 2562 ไต่ขึ้นไปที่ 25,000 บาท/ตัน และมีแนวโน้มที่จะขึ้นอีก

โดยภาพรวม ๆ ข้าวขาวพันธุ์อื่น ๆ ในปี 2563 จะดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งราคาเคลื่อนไหวเฉลี่ยประมาณ 5,000-6,000 บาท/ตัน แต่ปีนี้ได้ขยับสูงขึ้นถึง 8,000-8,600 บาท/ตัน จากการเข้ามาซื้อของกลุ่มพ่อค้าและโรงสีข้าวรายใหญ่จาก อ.ระโนด จ.สงขลา รอยต่อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

รายงานข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ปกติ จ.พัทลุง มีการปลูกทั้งข้าวนาปีและนาปรัง โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีเฉลี่ยประมาณ 100,000-120,000 ไร่ ส่วนข้าวนาปรังมีพื้นที่ปลูกประมาณ 30,000-40,000 ไร่ โดยให้ผลผลิตรวมประมาณ 650 กก.โดยเฉลี่ย โดยปีนี้ราคาข้าวขาวทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีประมาณ 8,000 บาท/ตัน เทียบกับปีที่แล้วราคาเฉลี่ยประมาณ 7,000 บาท/ตัน ส่วนข้าวเก่าสังข์หยดอินทรีย์และสังข์หยดอินทรีย์จีไอ ราคาประมาณ 24,000-25,000 บาท/ตัน โดยตลาดข้าวขาวส่วนใหญ่ของ จ.พัทลุง จะมีโรงสีข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา เข้ามารับซื้อ เพราะพื้นที่ทำนาข้าว จ.สงขลา ประสบภัยแล้งหนัก น้ำทะเลสาบสงขลาเกิดความเค็มจัด ไม่สามารถนำมาทำนาได้ ข้าวจึงขาดแคล

ทั้งนี้โรงสีข้าว อ.ระโนด จะแปรรูปเป็นข้าวสารส่งออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจำหน่ายให้กับประเทศมาเลเซียด้วย