“แดรี่โฮม” ชูนวัตกรรม “นมออร์แกนิก” ตอบโจทย์สุขภาพ

สัมภาษณ์

การเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะเริ่มเปิดเสรีไม่จำกัดการนำเข้าในปี 2564 และไม่มีภาษีในปี 2568 ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยทั่วประเทศ

“วิธีการเดียวที่เกษตรกรในอุตสาหกรรมการผลิตนมจะอยู่รอดในอนาคตคือต้องสร้างความแตกต่าง ทำฟาร์มโคนมออร์แกนิกขยายตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ”

นี่คือแนวทางสู้ศึกการค้าระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมโคนมของ “แดรี่โฮม” ที่ “พฤฒิ เกิดชูชื่น” เจ้าของแดรี่โฮม (Dairy Home Outlet) เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ผู้ผลิตและจำหน่ายนมและผลิตภัณฑ์แปรรูปนมออร์แกนิกครบวงจร ได้มาเปิดใจให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ปรับระบบทำฟาร์มออร์แกนิก

“พฤฒิ” เล่าให้ฟังว่า แดรี่โฮมเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 หรือประมาณ 28 ปีที่แล้วหลังจากลาออกจากงานที่ทำอยู่ในองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะที่เป็นนักปรับปรุงพันธุ์โคนม มาเริ่มโปรเจ็กต์เล็ก ๆ ของตัวเอง พัฒนานาโคนมทั้งระบบ ทั้งการเลี้ยง การใช้อาหาร หาแนวทางให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโคนมมากขึ้น เพราะตอนที่ทำงานอยู่มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก

เมื่อมาเลี้ยงโคนมด้วยตัวเอง “พฤฒิ” พบว่าระบบการเลี้ยงปกตินั้นมีปัญหาหลายอย่าง 1.อาหารหยาบไม่ค่อยพอกิน และโคกินแต่อาหารข้นทำให้ต้นทุนสูง สุขภาพโคไม่ค่อยดี 2.เกษตรกรพึ่งพายาปฏิชีวนะมากเกินไป จนมีปัญหาเรื่องนมปนเปื้อนยา และ 3.คือเรื่องคุณภาพของน้ำนม ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดไปสู่การทำนมออร์แกนิก

“สำหรับแดรี่โฮมไม่ได้ใช้นมในฟาร์มของตัวเองเท่านั้น ตอนผมออกมาทำธุรกิจของตัวเองหลายคนเตือนว่า นมเป็นธุรกิจที่เล่นยาก ประสบความสำเร็จยากแต่เรามีความรู้ในเรื่องคุณภาพน้ำนม การปรับปรุงพันธุ์ ระบบการเลี้ยงที่ดี เริ่มแรกร่วมมือทำกับเกษตรกรเพียงรายเดียวและลองปรับเปลี่ยนการเลี้ยงในฟาร์ม เปลี่ยนกระบวนความคิดใหม่เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้ด้วยการเลี้ยงแบบออร์แกนิก หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นยังไม่มีระบบการเลี้ยงแบบออร์แกนิกในบ้านเรา ยังไม่มีคนรู้จักด้วยซ้ำในประเทศไทย”

การทำฟาร์มโคนมออร์แกนิกมีปัญหาหลายอย่าง เราเลี้ยงโคนมโดยยึดหลักความสุขของแม่โคเป็นหลัก ให้แม่โคได้เดินแทะเล็มบนทุ่งหญ้า ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ สารเร่งฮอร์โมน และไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่สิ่งที่ได้หลังจากปรับระบบเมื่อทำถูกต้องแล้ว คำนวณเม็ดเงินที่ลงไปในการเลี้ยง เกษตรกรมีต้นทุนลดลง แต่ต้องลงแรงและความใส่ใจมากกว่าลงเงิน วิธีการคือลดอาหารข้นให้เหลือแค่20% นอกนั้นกินหญ้าหมด แม้การกินอาหารข้นจะให้น้ำนมได้มากกว่า แต่สุขภาพของโคจะไม่ดี สิ่งที่เราต้องการคือ น้ำนมที่มาจากการย่อยสารอาหารที่ถูกต้อง ถึงจะได้น้ำนมน้อยลง แต่คุณภาพน้ำนมดีขึ้น และคุณภาพโคดีขึ้นขายนมได้ราคาสูงขึ้นด้วย เพราะมีโปรตีนสูง ไขมันที่เป็นประโยชน์สูงขึ้น มีวิตามินมากขึ้น จนปัจจุบันไม่ให้ใช้อาหารข้นเลย 100% แต่มีมันสำปะหลังเป็นอาหารเพิ่มพลังงาน”

ตั้งเป้ายกระดับเกษตรกร

“พฤฒิ” บอกว่า ฟาร์มแดรี่โฮมมีฟาร์มขนาดเล็กเป็นของตัวเอง เลี้ยงโคนมเพียง 17 ตัว สำหรับการสอน การอบรมดูงาน เรียกว่า “ฟาร์มสาธิตโคนมอินทรีย์แดรี่โฮม” มีพื้นที่ 5 ไร่ สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวหลังจากหักค่าใช้จ่ายขั้นต่ำมีรายได้เหลือประมาณ 27,000-28,000 บาทต่อเดือน หรือสูงสุดถึง 32,000 บาทต่อเดือน

ปัจจุบันแดรี่โฮมทำฟาร์มเพื่อผลิตนมออร์แกนิกร่วมกับเกษตรกรเพียง 21 รายสามารถควบคุมเรื่องระบบการผลิต การเลี้ยง ตลอดจนกระทั่งเกษตรกรสามารถผ่านการตรวจได้ใบรับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ (certified organic) สำเร็จครั้งแรกเมื่อปี 2555 และทยอยผ่านมาตรฐานทั้งหมดประมาณปี 2558-2559 นับเป็นความสำเร็จที่ดึงเกษตรกรเข้ามาสู่ระบบนี้ได้ จากเริ่มแรกผลิตนมได้ 100 ลิตรต่อวัน จนสามารถผลิตได้ 6 ตันต่อวัน แต่ถือว่ายังไม่ได้ตามเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ คือ อยากจะเห็นเกษตรกรไทยทั้งประเทศเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโคนมมาเป็นการเลี้ยงแบบออร์แกนิก โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยขนาดไม่เกิน 20 ตัวต่อฟาร์ม

“เรามาทำธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise-SE) เป้าหมายต้องการเพิ่มเกษตรกรอินทรีย์ให้ได้มากที่สุด พร้อมขยายตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ให้เป็นตลาดธรรมดา และตั้งเป้ายอดเงินเป็นอันดับท้าย ธุรกิจเติบโตขึ้นเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี รายได้ประมาณ 100 กว่าล้านบาท มาร์เก็ตแชร์ของเราไม่ถึง 1% แต่ถ้าเป็นตลาดไฮเอนด์ของเราน่าจะเกิน 5% เพราะสินค้าออร์แกนิกมีน้อยมาก ส่วนฟาร์มที่ร่วมงานกับแดรี่โฮมขนาดเล็กที่สุดปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เป็นการยกระดับฟาร์มโคนมขนาดเล็ก มากกว่าการทำฟาร์มเชิงธุรกิจขนาดใหญ่”

เร่งพัฒนาสายพันธุ์โคนมไทย

“พฤฒิ” บอกว่า โคนมในประเทศไทยในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นพันธุ์ผสมและถูกพัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ 50-60 ปีที่แล้วเริ่มต้นมีการนำเข้าโคนมจากต่างประเทศโดย อ.ส.ค. และนักธุรกิจเจ้าของฟาร์ม แต่ที่นิยมมากที่สุด คือ การนำน้ำเชื้อเข้ามาผสมกับวัวไทยสายพันธุ์พื้นเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นวัวถูกเลี้ยงไว้ใช้งานธรรมดา เมื่อผสมเชื้อพันธุ์แล้ว ลูกที่ออกมาจึงกลายเป็นวัวตัวเล็ก ให้น้ำนมได้น้อย หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนาผสมพันธุ์เรื่อยมา เพื่อยกระดับให้เป็นโคนมมากขึ้น บ้างก็นำโคนมแม่พันธุ์เข้ามาผสมเพิ่มเติมในหลายโครงการ ทั้งจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย แต่ส่วนใหญ่จะตายลงแล้วเหลือทิ้งไว้เพียงลูกที่เกิดมา ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพของเมืองไทย

ฉะนั้น โคนมตั้งแต่ผสมรุ่นแรกถึงปัจจุบันเกิดเป็นสายพันธุ์ผสม จนสัดส่วนพันธุกรรมเป็นโคนมกว่า 90% มีการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ อย่างอ.ส.ค.สามารถสร้างพ่อพันธุ์ลูกผสมที่มีสายเลือดโคนมได้กว่า 87.5%

สำหรับการผลิตน้ำนมจากโคนมที่พัฒนาสายพันธุ์แล้ว และมีเลี้ยงอยู่ในประเทศไทย สามารถผสมพันธุ์ในครั้งแรกเมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน หรืออาจมีอายุเพียง 15 เดือน สามารถทำการผสมพันธุ์ได้ ใช้เวลาในการตั้งท้อง 9 เดือน ครบอายุ 24 เดือน สามารถคลอดลูกออกมาและให้น้ำนมได้ ตลอดช่วงที่ผลิตน้ำนม แม่วัวจะให้นม 3,600 กิโลกรัม/ตัว หรือประมาณ 12 กิโลกรัม/วัน ขณะที่ลูกวัว 1 ตัว จะกินนม 6 กิโลกรัม/วัน ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน หรือประมาณ 540 กิโลกรัมเท่านั้น ถือว่าแม่วัวสามารถให้นมได้มากกว่าขนาดตัวและผลิตนมได้นาน แม้ว่าลูกวัวจะเลิกกินนมไปแล้วก็ตาม และหากจัดระบบผสมพันธุ์ที่ดีแม่วัว 1 ตัวจะสามารถให้ลูกได้ต่อเนื่องทุกปีอย่างน้อย 10 รอบ อยู่ได้นานถึงอายุ 12 ปี บางตัวอาจอยู่ได้นานกว่านั้นมากสุด 18 ปี ส่วนวัวที่เลี้ยงแบบในอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเครียด สุขภาพแย่จะอยู่ได้เพียง 6-7 ปี

โปรดักต์ตอบโจทย์สุขภาพ

การทำฟาร์มออร์แกนิกทำให้นมจากแดรี่โฮมมีจุดเด่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์นมทั่วไปในประเทศไทย เพราะมาจากกระบวนการเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะนวัตกรรมได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุด คือ “นมกราสเฟด” (pasteurized grass fed milk) เป็นนมที่ได้จากโคที่เลี้ยงด้วยหญ้าเป็นอาหารหลัก และเสริมอาหารข้นนิดหน่อย ไม่ใช้สารเคมีในการทำแปลงหญ้าและไม่ใช้สารเคมีผสมในอาหารของสัตว์ โดยเฉพาะยูเรีย ซึ่งมีสารตกค้างก่อให้เกิดมะเร็งได้ ไม่ใช้อาหารที่เป็น GMOs ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะแบบพร่ำเพรื่อ และมีการส่งตัวอย่างน้ำนมไปตรวจที่แล็บของโรงงานก่อนว่าไม่มียาตกค้างในน้ำนม เราตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำนมพบว่ามีธาตุอาหารในน้ำนมสูง ทั้งไขมันชนิดดี คือ CLA และ Omega 3 สูง ซึ่งไม่พบในน้ำนมพาสเจอไรซ์ที่เลี้ยงโคแบบอื่น

ล่าสุดได้ออกผลิตภัณฑ์ “นมอัดเม็ด FOR FUN” (ฟ.ฟัน) เป็นผลิตภัณฑ์นมป้องกันฟันผุ ซึ่งร่วมพัฒนาจากการวิจัยของ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล และทีมนักวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นนมที่ผสมจุลินทรีย์โปรไบโอติกชนิดพิเศษที่ช่วยป้องกันฟันผุได้ เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2562 รสชาติอร่อย กล้าการันตีว่าเป็นนมอัดเม็ดที่อร่อยมาก และกินแล้วฟันไม่ผุ ลดกลิ่นปาก กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น ขับถ่ายสะดวก กินได้ตั้งแต่เด็กถึงคนแก่ ป้องกันโรคเหงือกได้เยี่ยม เหมาะสำหรับให้เด็กกินแทนขนมหวาน เราทำขนาดซอง 25 กรัม มี 20 เม็ด ราคา 35 บาทต่อซอง และขนาด 150 กรัมต่อขวด มี 120 เม็ด ราคา 150 บาทต่อขวด

นอกจากนี้ยังมีนมก่อนนอน หรือนมเบดไทม์ที่มีเมลาโทนินสูง สารนี้มีฤทธิ์ช่วยให้หลับสนิท ตอบโจทย์คนนอนหลับยาก เป็นสินค้าขายดีของแดรี่โฮมที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยสุรนารี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และยังมีสินค้าอื่นอีกสูงสุด 39 ตัวไม่นับรวมไอศกรีมอีก 44 รสชาติ ทุกส่วนผสมที่นำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ล้วนแล้วแต่มาจากธรรมชาติ 100% เช่น สตรอว์เบอรี่ โกโก้ ช็อตโกแลตมะพร้าว เป็นต้น

“พฤฒิ” บอกว่า ตอนนี้สินค้าของแดรี่โฮมขายผ่านโลตัส บิ๊กซี ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ ในสัดส่วน 70% และเพิ่งเริ่มบุกตลาดออนไลน์ในช่วงโควิด 10% โดยสั่งผ่าน FB : Dairyhome Organic หรือ Line@ : @dairyhome

ที่เหลือคือการขายผ่านหน้าร้าน 10% อีก 10% คือยอดขายผ่านเอาต์เลต โดยกำลังเจรจากับร้านสะดวกซื้ออยู่ แต่สินค้ายังไม่ลงตัว เพราะปัจจุบันสินค้าอยู่ในระดับที่พอดีกับการขาย แต่พยายามหาช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น แม้ในภาพรวมของแดรี่โฮมในช่วงโควิด-19 ยอดขายตกลงไปกว่า 30% ถือว่ากระทบไม่มากนัก เพราะเป็นผู้ผลิตนมโคขนาดเล็ก แต่เมื่อดูตามสถานการณ์คาดว่ารายอื่นคงไม่ต่างกัน ด้วยตลาดหรือช่องทางการจัดจำหน่ายแบบปกติถูกปิด เช่น

ห้างสรรพสินค้า นมโรงเรียน เป็นต้น แต่ผู้ประกอบการบางรายไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยังสามารถหาช่องทางจัดจำหน่ายได้อยู่

“ทุกวันนี้เราแค่เลี้ยงตัวได้ มีเงินจ่ายพนักงาน มีเงินสำหรับพัฒนา ทำวิจัย ไม่ได้สนใจยอดขายมากนัก เพราะยอดขายสูงจะใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ทรัพยากรมากเกินไป กว่าจะได้กำไรมาก ๆ ก็ต้องผลิตเยอะ แต่ของแดรี่โฮมเราไม่ได้ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เราต้องการให้คนเคารพสินค้าที่เราผลิต ให้คนกินนมทุกหยด โดยไม่เสียของหรือกินทิ้งกินขว้าง นี่คือความแตกต่างกับนมทั่วไป”