“ว่านงาช้าง” ส่งออกวูบยุคโควิด ต่อยอดสู่เครื่องนุ่งห่ม-แมสก์ผ้าธรรมชาติ

เมื่อพูดถึงพืชสมุนไพร หลายคนคงคุ้นตากับสมุนไพรหลากชนิดที่สามารถพบเห็นได้ตามท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะที่นิยมนำมาสกัดหรือแปรรูปเป็นยา แต่มีอีก 1 ชนิดคือ “ว่านงาช้าง” ซึ่งเป็นได้ทั้งสมุนไพรมีสรรพคุณทางยา เป็นไม้ประดับส่งออก รวมถึงการนำเส้นใยมาทอเป็นผืนผ้าคล้ายกับผ้าไหม ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ในการต่อยอดจากพืชสมุนไพรให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มได้

“พยงค์ คงอุดมทรัพย์” เจ้าของสวนแอ๊ดวานซ์ การ์เด้นดีไซน์ จากจังหวัดนครปฐม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สวนแอ๊ดวานซ์ การ์เด้นดีไซน์ ปลูกว่านงาช้างมากกว่า 500 ไร่ เพื่อส่งออกขายไปยังต่างประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมาก

กระทั่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกลดลงเหลือ 40% เหลือเพียงการส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น ต่อมาเกาหลีใต้ก็ลดปริมาณการสั่งซื้อลง เนื่องจากอุณหภูมิของสภาพอากาศในประเทศลดลง ทางสวนจึงประสบปัญหาขาดทุนเพราะค่าจัดส่งทางเรือที่มีต้นทุนสูงถึง 1-2 แสนบาท/ตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากนี้การพบไส้เดือนฝอยในว่านงาช้าง ก็ยิ่งทำให้สินค้าไม่ผ่านเกณฑ์ของกรมวิชาการต่างประเทศ จึงหันมาทำการตลาดในประเทศแทน

“เมื่อก่อนส่งออก 100% แต่ตอนนี้เหลือเพียง 40% เพื่อประคองธุรกิจและพยุงรายได้ จึงหันมาทำการตลาดในประเทศ โดยส่งไปภูเก็ต พังงา และกระบี่ ลูกค้ายังไม่ต้องจ่ายเงินต้นทุน แต่ต้องออกค่าส่งเองภายใต้สัญญาที่ร่างร่วมกันไว้ ราคาขายอยู่ที่ 350-500 บาท/ต้น

แต่ขายได้ไม่ถึง 10% ของต้นไม้ที่ผลิตออกมา เนื่องจากราคาแพงเกินไป ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นวัยรุ่นเขาซื้อไม่ไหว จึงได้ปรับขนาดของไซซ์ลงมาราคาอยู่ที่ประมาณ 30-50 บาท”

“พยงค์” เล่าว่า ตอนนี้กำลังหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และกำลังต่อยอดธุรกิจ โดยพบว่าว่านงาช้างนั้นมีเส้นใยลำต้นที่เหนียว สามารถนำไปทำเป็นด้ายหรือเชือกได้ จึงนำมาพัฒนาจนกลายเป็นเส้นด้ายที่คล้ายกับผ้าไหม นอกจากจะสามารถถักทอเป็นผ้าเนื้อดีมีความสวยงามแล้ว ยังคงสีธรรมชาติที่มีความแปลกใหม่

ขณะเดียวกันเศษด้ายที่เหลือจากการทอเสื้อผ้าก็ได้นำมาผลิตเป็นหน้ากากผ้าจากเส้นใยว่านงาช้างเข้ากระแสช่วงโควิด-19 ซึ่งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินี้สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ดี ใส่สบายไม่ระคายเคือง สามารถนำไปซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

โดยเส้นใยว่านงาช้าง 200-300 กิโลกรัม จะได้ผ้า 1 หลา สามารถทำเป็นหน้ากากผ้าได้ประมาณ 18-20 ชิ้น มีต้นทุน 30 บาทต่อชิ้น ราคาขายอยู่ที่ 69 บาท

สำหรับคนที่สนใจรับไปขายต่อจะมีราคาขายลดให้พิเศษ ปัจจุบันผลิตออกมา 2,000-3,000 ชิ้น ส่วนเสื้อผ้าจำหน่ายในราคา 5,000-7,000 บาท ขึ้นอยู่ที่การใช้เนื้อผ้าและวิธีการตัดเย็บ

ทั้งนี้ ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ไม่มีอาชีพ หรือเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ให้ออกแบบและดีไซน์เป็นรูปแบบต่าง ๆ เพื่อวางขายในเว็บไซต์และตลาดทั่วไปด้วยในอนาคตวางแผนไว้ว่าจะสอนชาวสวนที่ปลูกว่านงาช้างในประเทศถึงวิธีในการนำเส้นใยออกมาจากว่านงาช้าง กรรมวิธีการปลูก สายพันธุ์ที่ใช้ปลูก รวมถึงตลาดว่าสามารถขายได้ที่ไหนบ้างจะเป็นแนวทางสร้างอาชีพให้เกษตรกรมากขึ้น

“นอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรแล้ว ในอนาคตจะขายเส้นใยงาช้างให้โรงงานเพื่อนำไปแปรรูปต่อ ซึ่งส่วนนี้จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มอีกทางหนึ่ง เราทำแบบที่มีความรู้ไม่มาก ไม่มีแหล่งประชาสัมพันธ์ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเป็นเจ้าภาพในเรื่องการตลาดให้

แต่เราต้องการทำเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกร เราจะไม่มีคำว่าทิ้งเส้นใยเหลือจากการทำเสื้อผ้า แต่เอาเศษเสื้อผ้าที่เหลือไปทำแมสก์ และยังสามารถเอาไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีก”

“พยงค์” บอกว่า ตอนนี้ขั้นตอนการทำต่าง ๆ ต้นทุนค่อนข้างสูงประมาณ 4-5 หมื่นบาท เนื่องจากต้องเอาเส้นใยออกจากต้นว่านงาช้าง ต้องส่งให้โรงงานปั่นเป็นด้าย และส่งไปทอกับกลุ่มทอผ้าที่จังหวัดนครราชสีมา คาดว่าหากเกิดเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ต้นทุนจะถูกลง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องหยุดผลิต

อย่างไรก็ตาม ได้มีการพัฒนาเส้นใยชุดปัจจุบัน ซึ่งจะมีเนื้อที่เนียนกว่าและไม่มีขน เป็นเส้นใยที่เกิดจากธรรมชาติ คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ตอนนี้ได้ส่งตัวอย่างไปประเทศอินเดีย


เพื่อทำกระดาษจากเส้นใยงาช้างและโรงงานกำลังจะเอาไปวิจัยต่อ เพื่อทำเป็นแผ่นเก็บเสียงที่ติดในห้อง รวมถึงออกแบบเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ ถ้วย จาน สำหรับใช้แล้วทิ้ง แต่เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้การวิจัยชะลอตัวไป