โต๊ะจีนนครปฐม 200 ราย กระอักโควิดระลอกใหม่ ล้มทั้งยืน

ผู้ประกอบการโต๊ะจีนนครปฐม วอนรัฐออกมาตรการช่วยเหลือ-หาแหล่งเงินทุนร้องผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่กระทบรุนแรง 100% ช่วงไฮซีซั่นธันวาคม 63-มกราคม 64 ถูกยกเลิกงานฟ้าผ่าทำล้มทั้งระบบ

นายประพฤติ อรรฆธน ประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม และเจ้าของธุรกิจโต๊ะจีนยุทธพงษ์โภชนา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์โต๊ะจีนนครปฐมถือว่าได้รับความเสียหาย 100% หลังจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

จังหวัดนครปฐมถูกระบุให้เป็นพื้นที่สีแดงในบางอำเภอ ส่วนจังหวัดอื่นที่ยังสามารถจัดงานได้ก็ยกเลิกการจ้างโต๊ะจีนจากนครปฐมทั้งหมด ฉะนั้น ผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ 200 กว่ารายพร้อมพนักงานเบื้องต้นนับหมื่นคนจึงไม่มีงานทำ ที่สำคัญแรงงานเหล่านี้ไม่มีอาชีพประจำนอกจากรับจ้างตามงานจัดโต๊ะจีน อาทิ พนักงานเสิร์ฟอาหาร พนักงานยกโต๊ะ เรียกได้ว่ามูลค่าความเสียหายนับไม่ถ้วน

ทั้งนี้ ได้มีการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากการระบาดของโควิด-19ในรอบแรกไม่ได้รับการตอบรับช่วยเหลือแต่อย่างใด และครั้งนี้ทุกอย่างก็ยังเงียบอยู่ถึงจะมีโครงการช่วยเหลือออกมามากมายแต่ทุกโครงการไม่เคยถึงผู้ประกอบการโต๊ะจีน

“ในช่วงปีใหม่เราเริ่มจะมีงานทำหลังจากโควิด-19 รอบแรกซาลง ถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นเลย ส่วนมากเป็นการจัดงานขนาดเล็กไม่ใหญ่มาก พอมีรายรับมาเลี้ยงพนักงานได้ จนเกิดโควิดรอบสองทุกอย่างที่ทำมาถูกยกเลิกทั้งหมด แรงงานในธุรกิจโต๊ะจีนเหมือนถูกลอยแพไม่รู้จะทำอะไร

ผู้ประกอบการก็ไม่รู้จะช่วยยังไง เพราะลำพังตัวเองยังเอาตัวไม่รอด เราคิดว่าจะต้องยกขบวนไปทำเนียบแล้ว เพราะร้องเรียนไปก็ไม่ได้อะไรกลับมานอกจากคำหวานที่ผู้ใหญ่พูดไปวัน ๆ ทั้งที่ภาษีก็เก็บกับเรา จะไปกู้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ก็มีเงื่อนไขมากกู้ไม่ผ่าน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน”

นายประพฤติกล่าวว่า แม้ตอนนี้จะพ้นจากการถูกล็อกดาวน์พื้นที่ แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีอยู่จึงไม่มีนายจ้างคนไหนกล้าเสี่ยงจัดงานในเร็ว ๆ นี้

แม้จะมีวัคซีนมาอย่างน้อยต้องรอเวลา 6 เดือนคนจึงจะเกิดความมั่นใจอีกทั้งการจัดเลี้ยงหรือจำนวนผู้ร่วมโต๊ะจีนถูกจำกัด การปรับตัวสู่ดีลิเวอรี่ก็เป็นไปได้ยากเพราะราคาอาหารโต๊ะจีนสูงจะทำอาหารต้องจ้างกุ๊กและสั่งของจำนวนมาก ขณะที่ยอดขายต่อวันกลับไม่พอค่าแรงงาน

นอกจากนี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ลดน้อยลงไปทุกวัน ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมากระทบคนในระดับฐานรากมากที่สุด แต่ปัจจุบันนี้เริ่มส่งผลกระทบคนในระดับกลางตลอดจนระดับผู้ประกอบการแล้ว

“ตอนนี้ต้องใช้คำว่า วอนรัฐบาลหรือผู้ใหญ่ที่มีอำนาจให้มองดูพวกเราบ้างอย่างธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคารยังพอได้ขายทุกวัน แต่ธุรกิจโต๊ะจีนมีคนมาจ้างถึงมีงานทำ”

นางสาวสุชาดา คำใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครปฐมแคทเทอริ่ง แอนด์ ออร์กาไนเซอร์ จำกัด หรือแคเทอริ่งโต๊ะจีน หนึ่งในผู้ประกอบการโต๊ะจีนนครปฐม เปิดเผยว่า โควิด-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจโต๊ะจีนหนักกว่ารอบแรกมาก

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2563หรือช่วงปีใหม่ 2564 ถือเป็นความหวังของผู้ประกอบการโต๊ะจีนที่จะฟื้นกลับมาเริ่มมีการจัดงานเลี้ยง งานบุญ งานแต่งงาน ผู้ประกอบการหลายรายร่วมกันสั่งอาหารเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมการจัดงาน แม่ค้าพ่อค้าตระเวนสั่งของไว้หลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดชุมพร ระนอง แต่กลับถูกยกเลิกงานแบบฟ้าผ่า ผู้ประกอบการทุกรายอยู่ในสภาพเดียวกันหมด

ช่วงแรกของการระบาดรอบใหม่จังหวัดนครปฐมถือว่าเป็นจังหวัดในกลุ่มเสี่ยงการระบาดรอบใหม่ มีการระบาดเป็นจุด ๆ ในไม่กี่อำเภอ แต่ก็ไม่มีใครกล้าจ้างงานทั้งที่การคมนาคมปกติ

สำหรับแคเทอริ่งโต๊ะจีนที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางก็ถูกยกเลิกไปกว่า 40-50 งาน เฉลี่ยประมาณ 5-6 งาน/วัน หรือมากกว่า 200-300 โต๊ะ/วัน ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท

“การถูกยกเลิกงานส่งผลกระทบต่อพนักงานของเรา 30-50 คน เป็นคนในพื้นที่กว่า 90% ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัว คนล้างจาน พนักงานยกโต๊ะ พนักงานขับรถ ทั้งหมดนี้ไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรจากรัฐบาลเลย

ไม่มีแม้กระทั่งแหล่งเงินทุนให้ประคองธุรกิจ ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย ดีที่แคเทอริ่งโต๊ะจีนจดเป็นบริษัทจึงทำดีลิเวอรี่ได้ แต่การทำดีลิเวอรี่ลูกค้าจะต้องสั่งล่วงหน้าผ่าน Facebook ผลตอบรับถือว่าดี พอให้มีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าครองชีพไปได้

แม้ว่าเทียบกับการจัดโต๊ะจีนจะได้ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่สั่งไปทำบุญมากกว่าสั่งทานเอง”

นางสาวสุชาดา เปิดเผยว่า ขณะนี้พนักงานที่ยังทำงานกับแคเทอริ่งโต๊ะจีนเหลือเพียง 5-6 คน เป็นการหมุนเวียนสลับกันทำงานดีลิเวอรี่ ส่วนผู้ประกอบการโต๊ะจีนรายอื่นเรียกได้ว่าปรับตัวสู่ดีลิเวอรี่น้อยมาก

เพราะการทำดีลิเวอรี่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่โครงการช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างโครงการคนละครึ่ง ธุรกิจโต๊ะจีนที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่เข้ากับเงื่อนไขของโครงการคนละครึ่งจึงไม่สามารถเข้าร่วมได้

“อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโต๊ะจีนควรจะถูกมองว่าเป็นธุรกิจหลักที่มีชื่อเสียงอีกหนึ่งธุรกิจของจังหวัดนครปฐมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของแหล่งเงินทุน

เพราะธุรกิจนี้เกิดผลกระทบโดยองค์รวมตลอดห่วงโซ่มีหลายธุรกิจต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดได้รับผลกระทบตามไปด้วย” นางสาวสุชาดากล่าว