เอกชนหวั่นไทม์ไลน์ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เลื่อน

ภาพจาก มติชน

ลุ้นระทึก “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” หวั่น 1 ก.ค.เปิดไม่ได้ตามแผน กรอบปฏิบัติงานไม่ชัด-ขาดเครื่องมือลดความเสี่ยง หลังเลิกกักตัวต่างชาติ บิ๊ก ททท.ยันนาทีนี้ทุกอย่างตามไทม์ไลน์ จ่อลอนช์ “Countdown to Reopen Phuket” ตั้งเป้า 3 เดือนรับนักท่องเที่ยว 120,000 คน “เดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย” ผนึกกลุ่มโรงแรมดัน “ภูเก็ต” สู่ตลาดโลกอีกครั้ง ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตไม่มั่นใจ ขอแผนปฏิบัติจริง

เอกชนหวั่นไทม์ไลน์ ‘ภูเก็ตโมเดล’ เลื่อน

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่านโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัวของจังหวัดภูเก็ต หรือ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ (Phuket Sandbox)” ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 มีนาคม 2564 ระบุไว้ชัดเจนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบสำหรับเป็นคู่มือปฏิบัติงาน (SOP : Standard Operating Procedure) รวมถึงคู่มือในการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่

แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ปรากฏ กรอบปฏิบัติงานดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนนัก ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ภูเก็ตส่วนใหญ่เกิดความไม่เชื่อมั่นว่า จังหวัดภูเก็ตจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัวได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่

เอกชนตบเท้าขอความชัดเจน

โดยเฉพาะการเตรียมการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) เครื่องมือในการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ รวมถึงแผนการตั้งรับหากเกิดการแพร่ระบาดใหม่อีกครั้ง 2) แนวทางการควบคุมเส้นทางและสถานที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยว

3) การติดตามตัวนักท่องเที่ยว และ 4) การตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีน (vaccine certificate) การตรวจสอบโควิด-19 เพื่ออนุมัติการเดินทางในเบื้องต้นก่อนเข้าประเทศและการยืนยันอัตลักษณ์บุคคลเมื่อเดินทางเข้าประเทศ

“เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ภาคเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ตได้รวมตัวกันขอเข้าพบผู้ว่าฯภูเก็ต เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้ไปแล้ว โดยทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท. และภาคเอกชน ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร รถบริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ ได้ขอประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดภูเก็ต อีกครั้งในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดเสนอที่ประชุม ศบค. และกำหนดกรอบปฎิบัติที่ชัดเจนได้ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

ททท.ยันไม่เปลี่ยนแปลง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ทุกกระบวนการของการเดินหน้าเปิดภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ “ยังเดินหน้าตามปกติ” และยืนยันว่า เป็นไปตามไทม์ไลน์ทั้งหมด โดยหลายประเด็นได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่อยู่ในกระบวนการและรอจังหวะประกาศในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

“ณ นาทีนี้ยังไม่มีใครมาบอกให้ผมหยุดหรือชะลอการเปิดเกาะภูเก็ตแต่อย่างใด ทุกอย่างออนโพรเซสทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ส่วนประเด็นของ SOP ของภูเก็ตนั้น กำลังจะเข้าพิจารณาใน ศบค.ชุดเล็ก ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนทั้งหมดเร็ว ๆ นี้ จากนั้นจะเข้าสู่การประชุม ศบศ.” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ททท.ยังได้เตรียมออกแคมเปญใหญ่ “Countdown to Reopen Phuket” ผ่านไปทางสำนักงาน ททท. ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการสื่อสารบอกให้คนทั่วโลกเกิดความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาเที่ยวภูเก็ต ยกระดับภูเก็ตให้เป็นพื้นที่สีเขียว สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย

โดยเป้าหมายในช่วง 3 เดือนแรก (กรกฎาคม-กันยายน 2564) ของการเปิดภูเก็ต ททท.ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 129,000 คน จะสร้างรายได้ราว 1.14 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า นายยุทธศักดิ์ได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ถึง นายกสมาคมโรงแรมไทย ยืนยันการแจ้งเปิดพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ตามแผนภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เพื่อขอให้สมาคมช่วยประชาสัมพันธ์กับพันธมิตรธุรกิจ โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.tatnews.org

ประกาศ “ภูเก็ต” พร้อม

นายเดวิด จอห์นสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์สำหรับอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ตพร้อมเปิดแน่นอน ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยได้ร่วมกับโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตเปิดตัวแคมเปญการตลาดและการประชาสัมพันธ์ในยุโรป เจาะกลุ่มนักเดินทางจากสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และรัสเซีย

ส่วน นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการโรงแรมและรีสอร์ต กล่าวถึงผลการสำรวจคาดว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะกลับมาภูเก็ต ก็คือ นักท่องเที่ยวยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสแกนดิเนเวีย มีสัดส่วนระหว่าง 35-40% ของนักเดินทาง มาจากจุดหมายปลายทางที่มีอากาศหนาวเย็นในยุโรปเหนือตะวันออกและตะวันตก โดยยุโรปเป็นตลาดใหญ่มีดีมานด์ที่แข็งแกร่งในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้

ชี้ระบบเซอร์ติฟายด์ต้องชัด

นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารโรงแรมแบรนด์อมารี, โอโซ, ซามา, ซามา ฮับ และผู้ถือหุ้นโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ กล่าวว่า ในส่วนของโรงแรมในเครือขณะนี้เตรียมความพร้อมสำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 กรกฎาคมนี้แล้วเช่นกัน และหวังด้วยว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและซัพพลายเชนท่องเที่ยวทั้งระบบทยอยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้หลักของภาคธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงอยู่หลายประเด็น เช่น จำนวนเที่ยวบินและวอลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาสมดุลกันหรือไม่ และยังมีคำถามว่า สถานการณ์ในขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัวแล้วจริงหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน ในการกระจายฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มคนทำงาน รวมถึงระบบการตรวจตราคนเข้าประเทศของไทยที่ต้องมีความพร้อมและเชื่อมโยงกับระบบของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และระบบของวัคซีนพาสปอร์ตรูปแบบใหม่

“ตอนนี้ระบบต่าง ๆ ของเรายังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการยืนยันตัวตน การรับรองการฉีดวัคซีน หรือ vaccine certificate เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คนที่เข้ามานั้นฉีดวัคซีนจริง และฉีดยี่ห้ออะไร เมื่อไหร่ ส่วนตัวผมมองว่าถ้าเปิดประเทศ เราต้องลงทุนในระบบพวกนี้อย่างจริงจัง เพื่อทำให้หลักฐานการเดินทางทุกอย่างอยู่ในระบบ และลดความเสี่ยงของการกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่” นายยุทธชัยกล่าว

มีลุ้นวัคซีนต้องฉีดให้ครบ

นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภาคเอกชนท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตยืนยันมีความพร้อมเปิดเมืองภูเก็ต ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA Plus จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปแล้วกว่า 800 แห่ง

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตอนนี้ภาคเอกชนในภูเก็ตอยากให้แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในวันที่ 1 ก.ค. “ที่ทำได้จริง” แต่ยังต้องลุ้นให้ “วัคซีน” เข้ามาตรงเวลาตามแผนที่วางไว้ เพราะเรื่องวัคซีน ภาคเอกชนไม่มีอำนาจในการกำหนด

“ตอนนี้มีเรื่องเงื่อนไขการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศคือ บางประเทศต้นทางเมื่อกลับไปแล้วต้องกักตัว เรื่องนี้อยู่ระหว่างทีมรัฐบาลเจรจากับต่างประเทศ ส่วนที่ชาวบ้านกังวลก็เรื่องโควิดสายพันธุ์อินเดีย จึงเสนอให้เลือกกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ กลุ่ม red zone เข้ามาก่อน”

นายสรายุทธ มัลลัม ประธานที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และอุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า รัฐบาลต้องไม่เลื่อนนัดการจัดสรรวัคซีน ถ้าวัคซีนมาตามนัดเชื่อว่า ภูเก็ตสามารถเปิดเมืองได้ 100% ไม่มีปัญหา ดังนั้นจึงต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลในเรื่องนี้

กังวลเรื่องตรวจนักท่องเที่ยว

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ทางจังหวัดภูเก็ตได้นำเสนอ คู่มือแผนการปฏิบัติ (Standard Operating Procedure-SOP) ในการเปิดจังหวัดภูเก็ตให้ทางส่วนกลางพิจารณาแล้ว แต่ในมุมมองของสมาคมเห็นว่า SOP ดังกล่าวเป็นเพียง “หลักการคร่าว ๆ” โดยคู่มือแผนการปฏิบัติหลักน่าจะเป็นหน้าที่ของ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงการต่างประเทศ ต้องทำแผนร่วมกับกรมควบคุมโรค

เนื่องจากกรมจะทำหน้าที่เป็น “หน้าด่าน” คัดกรองคนที่จะเข้ามาที่สนามบินโดยเฉพาะ เรื่องการตรวจสอบเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีนโควิดต่าง ๆ ว่า เป็นเอกสารจากหน่วยงานจากต่างประเทศที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ กรณีนี้ควรจะประสานสถานทูตไทยที่อยู่ในพื้นที่แต่ละประเทศช่วยตรวจสอบว่า เป็นเอกสารโรงพยาบาลที่ถูกต้องหรือไม่ การตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ควรจะให้ กงสุล-สถานทูตไทย ในแต่ละประเทศเป็นผู้รับรองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา เพียงแต่วิธีการจะทำอย่างไรเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลงทะเบียนเพื่อขอรับหนังสือรับรองการเดินทาง (Certificate of Entry-COE) ยังต้องมีหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่เอเย่นต์ถามกันจำนวนมาก เพราะคำว่า COE ทางเอเย่นต์ต้องไปออกหนังสือรับรองการเดินทางจากกงสุลที่ต่างประเทศและสถานทูตไทยที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ที่ผ่านมาการเข้ามาประเทศไทยด้วยเงื่อนไขนี้ยาก เรื่องเหล่านี้ต้องให้บริการที่คล่องตัวมากที่สุด หรือไปขอออก COE ออนไลน์เลยได้หรือไม่

เปิดเงื่อนไขเข้าภูเก็ตเสนอ ศบค.

สำหรับเงื่อนไขที่ทางจังหวัดภูเก็ตเตรียมเสนอ ศบค. ในวันที่ 4 มิ.ย. 64 ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (International Traveler Journey) หรือ SOP ได้แก่ Pre-arrival 1) ได้รับ VISA และ COE จากสถานทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ ห้องพัก 7 คืนแรกได้รับมาตรฐาน SHA+, ประกันการเดินทางโรคโควิด-19 วงเงินไม่น้อยกว่า 50,000 USD, ได้รับวัคซีนไม่น้อยกว่า 14 วัน และไม่เกิน 12 เดือนนับจากวันเดินทาง 2) ผล RT-PCR เป็นลบ (ยกเว้นเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ)

3) ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Thailand Plus และยินยอมเปิดการแชร์ location Arrival 1) ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลภากร ณ จุดตรวจ 2) เด็กอายุ 12-18 ปีที่ไม่ได้รับวัคซีนจะต้องตรวจ rapid antigen test พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 3) หากผลเป็นบวก จะต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ณ โรงพยาบาล พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

Stay 1) ต้องอาศัย ณ จังหวัดภูเก็ต 7 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ในไทย ณ ประเทศต้นทาง ภายใต้เงื่อนไข 2) สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้บนมาตรฐาน DMHTT 3) รายงานสุขภาพในแอปพลิเคชั่น Thailand Plus ทุกวัน 4) ตรวจ rapid antigen test ในวันที่ 5 พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 5) หากผลเป็นบวก จะต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ณ โรงพยาบาล พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

Departure 1) ออกเดินทางได้ในวันที่ 8 พร้อมแสดงผล rapid antigen test 2) ให้ดูเงื่อนไขการเดินทางจากจังหวัดหรือประเทศปลายทาง

ส่วน Domestic Traveler Journey ได้แก่ Pre-arrival ประกอบด้วย เอกสารการได้รับวัคซีนครบจำนวนเข็มตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขในประเทศนั้น และหรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก โดยการได้รับวัคซีนนั้นจะต้องมีไม่น้อยกว่า 14 วัน และไม่เกิน 12 เดือน นับจากวันเดินทาง, ผลการตรวจเป็นลบ โดยวิธีการตรวจ RT-PCR จากคลินิก หรือโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาลประเทศต้นทาง (ยกเว้นเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบลงไป ไม่ต้องแสดงผลการตรวจ), ใบรับรองแพทย์จากการหายจากโควิด-19 โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่หาย, ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” โดยยินยอมให้เปิดการแชร์โลเกชั่น

Arrival เด็กอายุระหว่าง 12-18 ปีที่ไม่ได้รับวัคซีน จะต้องได้รับการตรวจ rapid antigen test ที่สนามบินโดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เดินทาง, กรณีผลการตรวจเป็นบวก จะถูกส่งไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาล โดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เดินทางเอง, อนุญาตให้เด็กต่ำกว่า 12 ปีเดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องเข้ารับการตรวจ rapid antigen

Stay ผู้เดินทางต้องอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต โดยผู้เดินทางสามารถเดินทางไปเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดภูเก็ตได้, ผู้เดินทางสามารถทำกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวที่ถูกกฎหมายได้ บนมาตรฐาน DMHTT ต้องรายงานสุขภาพตนเองทางหมอชนะทุกวัน กรณีเกิดอาการไม่สบายให้รายงานผ่าน application และเดินทางไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด, ผู้เดินทางจะตรวจ rapid antigen test ในวันที่ 5 ณ คลินิก หรือโรงพยาบาล โดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เดินทาง

ในกรณีที่ผลการตรวจที่เป็นลบ จะนำไปแสดงเมื่อเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต ไปในพื้นที่อื่นในประเทศไทย ส่วนกรณีผลการตรวจเป็นบวกจะถูกส่งไปตรวจช้ำด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาล โดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เดินทางเอง

Departure สามารถเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตไปในพื้นที่อื่นได้