โควิดทำ “ตั้งงี่สุน-ยงสงวน” วูบจี้รัฐจัดสรรวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจ

โควิดรอบ 3 ทำธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกอีสานยอดขายวูบ กำลังซื้อชาวบ้านหดหาย ดิ้นปรับตัวค้าออนไลน์กระตุ้นยอด จี้รัฐเร่งบริหารจัดสรรวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นเศรษฐกิจ

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จ.อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 3 ส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อของลูกค้าตั้งงี่สุนหายไปกว่า 30%

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 ตอนที่เงินช่วยเหลือจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่เข้าบัญชีประชาชน พอเงินโครงการรัฐเข้าช่วยกระตุ้นยอดขายขึ้นมาบ้าง

และช่วยประคองปากท้องของประชาชน แต่โดยภาพรวมยังไม่ดี ทุกคนยังคงอยู่อย่างลำบาก เพราะสถานการณ์โควิดไม่ได้ดีขึ้นด้วยเงินเหล่านี้

“ปี 2562 ผลประกอบการของตั้งงี่สุนปิดตัวเลขอยู่ที่ 3,300 ล้านบาท ปี 2563 ไต่ระดับขึ้นมาจนถึงเกือบ 4,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้้ธุรกิจการค้าปลีก-ค้าส่งช่วง 3 เดือนแรกดีมาตลอด จากโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดภาพการจับจ่ายใช้สอยได้ดี

แต่จากการระบาดของโควิดรอบ 3 ต้องประเมินกันอีกที เพราะตอนนี้แม้ว่ารัฐบาลจะแจกเงินช่วย แต่ก็ไม่ได้การันตีความปลอยภัยในชีวิตประชาชนเลยเชื่อว่าหากมีวัคซีนมากกว่านี้ประชาชนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อฉีดอีกมาก

เพราะเห็นฝั่งเห็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะคลี่คลายสถานการณ์ได้ อยู่ที่รัฐบาลว่าต้องมีความชัดเจนในระบบการจัดการ แต่ตอนนี้ระบบการทำงานของภาครัฐที่ไม่มีความชัดเจนเลย

หลายคนตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยมากมาย นายกรัฐมนตรีอาจพูดดีแต่คนรอบข้างไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกอย่างนั้น ผมไม่ได้สนใจการเมืองพรรคไหน ใครเป็นใคร แต่หากสภาพยังเป็นแบบนี้ผมว่าคงไปต่อได้ยาก” นายมิลินทร์กล่าวและว่า

ปัจจุบันตั้งงี่สุนมีพนักงานกว่า 500 คน สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้เพียง 100 คน เนื่องจากลงทะเบียนยากมาก และแอปพลิเคชั่นลงทะเบียนมีหลายอันสร้างความสับสนให้ประชาชน

ขณะที่หน่วยราชการในแต่ละจังหวัดไม่มีการเคลื่อนตัวบอกว่าเรื่องวัคซีนติดขัดอะไร สาเหตุใดจึงล่าช้า ส่วนภาคเอกชนที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ และยอมจ่ายเงินซื้อวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อไหนก็ตามก็ทำไม่ได้อีก ธุรกิจและเศรษฐกิจจึงขับเคลื่อนไปไม่ได้

“การฉีดวัคซีนก็บริหารแบบไร้ประสิทธิภาพ หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐกับคนรอบตัวได้ฉีดวัคซีนก่อนใคร ขณะที่ประชาชนแค่ลงทะเบียนก็ยากมากแล้ว แอปพลิเคชั่นลงทะเบียนมีสารพัดไม่รู้อันไหน”

ด้านนายประกอบ ไชยสงคราม ผู้บริหาร ยงสงวน กรุ๊ป จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า สำหรับยงสงวนไตรมาสแรกของปี 2564 เติบโตอยู่ที่ประมาณ 20% มาถึงเดือนเมษายน 2564 คือช่วงสัปดาห์สุดท้าย

ถือว่าสถานการณ์แย่ที่สุด เพราะเริ่มมีการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบ 3 ทำให้ยอดขายของยงสงวนตกลงมากว่า 50% และค่อย ๆปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564

เพราะลูกค้าสามารถสั่งออร์เดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่และลูกค้าประจำ ทำให้ยงสงวนไม่ได้รับผลกระทบมากนักโดยปี 2563 ยงสงวนทำยอดขายได้ 2,300 ล้านบาท ในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 2,500 ล้านบาท

โดยวางไว้ว่าจะเติบโต 14-15% ทุก ๆ ไตรมาส แม้ปีนี้กำลังซื้อของลูกค้าน้อยลงไป แต่ถือว่าเติบโตได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

“สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยงสงวนจะได้รับอานิสงส์ส่วนใหญ่มาจากโครงการบัตรประชารัฐ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้บ้าง ส่วนกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่รอบข้างถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าทุกคนจะขายของไม่ได้ บางคนขายได้ แต่ไม่พูด วันนี้ใครที่เข้าถึงลูกค้าได้จะได้ยอดไปทั้งหมด สังเกตดูผลไม้ทุเรียนที่ราคาแพงกลับมีลูกค้าต้องการซื้อเต็มไปหมด

ต่อให้โควิดหายไป ถ้าอยู่ไม่ถูกจุดก็ขายไม่ได้อยู่ดี ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ไปให้ถูกทางในอนาคต” นายประกอบกล่าว

นายประกอบกล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องวัคซีนตอนนี้เกิดความวุ่นวายด้วยระบบการจัดการ จากช่วงแรกโรดโชว์วัคซีนมีจำนวนมากต้องรณรงค์ให้คนมาลงทะเบียนฉีด แต่ตอนนี้การลงทะเบียนยากมากและถึงลงทะเบียนได้แล้ว

แต่ยังไม่มีวัคซีนให้ฉีด ต้องรอเวลาไปอีกเลื่อนไปไม่มีกำหนด คาดว่าคนที่อยู่บนยอดพีระมิดจะได้ฉีดก่อน คนที่อยู่ระดับฐานล่างแม้ลงชื่อไว้ถูกเลื่อนวันไปเรื่อย ๆ