หอการค้าลุย “ไทยเท่” ทั่วไทย เริ่มจากสิ่งที่มี…พัฒนาสู่ความยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากจะเข้ามาสัมผัส ทั้งอาหารที่ขึ้นชื่อมากมาย และมีความหลากหลายทั้ง 4 ภูมิภาค รวมถึงสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ แต่บางส่วนยังขาดการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เมื่อเร็ว ๆ นี้ หอการค้าไทยได้จัดกิจกรรม “ชวนไทยไปเท่ กับไทยเท่ ทอล์ค” โดยเชิญผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ ที่เป็นต้นแบบมาจุดประกายความเป็นไทยเท่

“กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการจัดงานไทยเท่ ทอล์ค ได้กล่าวถึงแนวคิดของไทยเท่ว่า โครงการไทยเท่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งที่จะผลักดันประเทศและเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ คือเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นการนำเอาวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่มาผสมผสานกับเรื่องนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ และมีความเข้มแข็งขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหอการค้าและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ขณะนี้โครงการไทยเท่มีเยอะ และแนวโน้มในปี 2561 จะเน้นการกระจายรายได้จากการส่งเสริม ที่ต้องดูในระดับท้องถิ่น พัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการค้าและบริการด้วย ซึ่งเขาทำอยู่แล้ว เพียงแต่เรามาช่วยหาตลาด เช่น สินค้าที่ระลึกรูปทศกัณฐ์จากแบรนด์โฮเล่น เป็นต้น

ทั้งนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลการประกวดไทยเท่ทั่วไทย โดยหอการค้าไทยได้จัดประกวดขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 200 รายจากทั่วทุกภูมิภาค แบ่งการประกวดออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1.ชม หมายถึงสถานที่ท่องเที่ยว 2.ชิม หมายถึงอาหารและเครื่องดื่ม 3.ช็อป หมายถึงเครื่องใช้และของที่ระลึก และ 4.ช่วย หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้มีการพิจารณาตัดสินตามหลักเกณฑ์ ได้ผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ 1.รางวัลชนะเลิศ หมวดชิม จากภาคตะวันออก ได้แก่ ซาลาเปาลาวาหมอนทอง ฮ่อเจี๊ยะ จ.ระยอง ที่นำทุเรียนหมอนทอง ผลไม้ขึ้นชื่อของ จ.ระยอง นำมาสร้างสรรค์ให้เป็นซาลาเปาสุดเท่ทรงพูทุเรียนหมอนทอง 2.รางวัลชนะเลิศ หมวดช็อปจากภาคเหนือ ได้แก่ ลายไทยก็เท่ได้ จานรองแก้วน้ำ King Coaster จ.ลำปาง ที่นำเซรามิกลำปางขึ้นชื่อมาพัฒนาเป็นจานรองแก้วสุดเท่ มีทั้งลายไทยและลายใบไม้ สามารถดูดซับน้ำที่ซึมจากแก้ว และระเหยออกมาได้โดยไม่เป็นเชื้อรา 3.รางวัลชนะเลิศ หมวดช็อป จากภาคกลาง ได้แก่ โคมไฟรังไหม กลุ่มรังไหมประดิษฐ์ จ.สระบุรี เป็นการนำรังไหมมาออกแบบเป็นโคมไฟและพัฒนามูลค่าเพิ่ม

4.รางวัลชนะเลิศ หมวดช็อปจากภาคตะวันออก ได้แก่ สบู่ใบไม้และสบู่ก้อนหิน อุ่นหนาฝาคั่ง จ.ระยอง เป็นสบู่สมุนไพรไทยแท้จากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์เท่ ทันสมัย น่าใช้ ปัจจุบันได้รับการตอบรับจากต่างประเทศ ทั้งเยอรมนี อเมริกา และญี่ปุ่น และ 5.รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 หมวดช็อป จากภาคเหนือ ได้แก่ ครกหูหิ้วศิลาทิพย์ จ.ตาก นำครกมาออกแบบและดัดแปลง ตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งร่องเทน้ำออกจากครกและวางพักสากได้ขณะใช้งาน

ขณะที่รัฐมนตรีที่เป็นต้นแบบไทยเท่ทั้งกายและใจอย่าง “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวเปิดทอล์กครั้งนี้ด้วยคำถามที่ว่า ถ้าเกิดชาติหน้า อยากเกิดมาเป็นคนชาติอะไร ถ้ายังตอบว่าอยากเกิดเป็นคนไทย

ดังนั้นต้องเริ่มจากสิ่งที่มี หันกลับไปมองในสิ่งที่เคยมองข้าม เพราะความเท่ต้องเริ่มที่ใจจึงจะเท่อย่างยั่งยืน ซึ่งเท่ไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพฯคือประเทศไทย แต่ทุก ๆ ที่ที่อยู่ คือความเป็นตัวตน ทุกอย่างมีคุณค่า และทั้งหมดประกอบกันเป็นประเทศไทย โดยไทยเท่นั้นจะต้องประกอบด้วยใจและศรัทธา ยืนอยู่บนความเป็นจริง และเท่อย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 รวมถึงคิดถึงคนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมว่าจะมีส่วนร่วมกันได้อย่างไร ให้เติบโตต่อไป

สำหรับ “ธัชญา จวงสันทัด” เจ้าของร้านกาแฟราย็อง จ.ระยอง กลุ่มคนรักษ์ถนนยมจินดา ถนนเศรษฐกิจสายหลักในอดีตของระยอง กล่าวว่า ได้ทำธุรกิจร้านกาแฟแบบลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง มาเช่าตึกเก่าซิโนโปรตุกีส บนถนนเศรษฐกิจเก่าที่ปัจจุบันไม่มีความคึกคักเหมือนที่เคยเป็นมา เป็นที่ขบขันของคนละแวกนั้นว่าจะรอดไหม พอมาลองผิดลองถูกเราก็ได้สูตรของเราเอง แล้วเริ่มตกแต่งร้านให้มีความเก๋ไก๋ขึ้น จนลูกค้าตอบรับมากขึ้นด้วยปากต่อปาก จากวันละ 300 คนจนวันนี้ไม่มีที่จะนั่ง คนเริ่มรู้จักย่านนี้มากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด และพยายามคิดเมนูใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้สึกเบื่อ เช่น โรตีทุเรียน บิงซูทุเรียน และโรตีพิซซ่า เป็นต้น เมื่อประสบความสำเร็จก็เริ่มมีคู่แข่ง แต่เรามีความเชื่อว่าคู่แข่งเราคือตัวเอง เพราะถ้าเราไปแข่งกับคนอื่นมันจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในอนาคตวางแผนที่จะพลิกฟื้นถนนเศรษฐกิจเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และทำให้คนที่อยู่บริเวณนั้นเริ่มออกมาทำธุรกิจด้วย

ด้าน “กรกฎ เตติรานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าถึงเรื่องราวของถนนคนเดิน “หลาดหน้าพระธาตุ” ว่า เกิดจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมา เป็นการรับงานจากทางจังหวัดมาดำเนินการ โดยร่วมกับกลุ่ม YEC จังหวัด เริ่มทำตลาดขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม และมีกำหนดให้สำเร็จภายใน 30 วัน โดยมีเงื่อนไขว่าไม่มีงบประมาณ มีเพียงสถานที่และวัฒนธรรมจากในพื้นที่เท่านั้น

หลังจากตกผลึกคำว่าวัฒนธรรมที่มีแล้ว จึงแบ่งหลาดหน้าพระธาตุออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ โซนอาหาร โซนหัตถกรรมและโอท็อป และโซนศิลปะ ซึ่งจัดบริเวณหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญ โดยจัดทุกเย็นวันเสาร์ จนปัจจุบันดำเนินการมาแล้วกว่า 16 ครั้ง ผลลัพธ์ออกมาน่ามหัศจรรย์มากจากความร่วมมือทุกฝ่าย ซึ่งมองว่าหัวใจของความสำเร็จมาจากความสุขที่เป็นเป้าหมาย และรักทุ่มเทกับวิถีตนเอง

ไทยเท่จะเป็นอีกหนึ่งทางช่วยประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคน