เลือกศูนย์วิจัยข้าวควนพร้าว ตั้งสนามบินพัทลุงอีก 8 ปีเกิด

เลือกศูนย์วิจัยข้าวควนพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง ตั้งท่าอากาศยานพัทลุงอีก 8 ปีเกิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในการประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง

ซึ่งทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม สถาปนิก ผู้จัดการโครงการ ได้แจ้งผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุงที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือการออกแบบ ผลกระทบ และประเด็นอื่น ๆ

โดยเฉพาะการเลือกสถานที่ก่อสร้างสนามบินอยู่ที่บริเวณศูนย์วิจัยข้าว ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง มีพื้นที่ดำเนินการ 8,880 ตารางเมตร มีทางวิ่ง (รันเวย์) ขนาด 45 x 2,500 เมตร

ปริมาณผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน จำนวน 415 คน คิดความจุผู้โดยสารต่อเที่ยว จำนวน 180 ที่นั่ง รวมผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน จำนวน 540 คน โดยใช้งบประมาณ จำนวน 2,144 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการออกแบบจะนำเอาหนังตะลุง มโนราห์ และยอยักษ์ มาใช้ในการออกแบบเบื้องต้นของอาคารผู้โดยสาร เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ให้กับจังหวัดพัทลุง

ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสนามบินพัทลุง แต่มีความห่วงใยผลกระทบจากการบินของฝูงนกน้ำนานาชนิด ด้านเสียง การสั่นสะเทือน สภาพแวดล้อม ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา ปัญหาผลกระทบต่อศูนย์วิจัยข้าว ที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของภาคใต้ ซึ่งทางกรมท่าอากาศยานและบริษัทผู้สำรวจออกแบบมีแนวทางการป้องกันปัญหาในด้านต่าง ๆ ไว้พร้อมแล้ว

ทางด้านตัวแทนกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม ความคุ้มค่าในเบื้องต้น หลังจากนี้จะได้ส่งผลดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา

ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีหน่วยงานกลั่นกรองในด้านขนส่งหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานการบินพลเรือนที่จะเป็นผู้พิจารณาในการจัดตั้งสนามบิน หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจะมีการสำรวจออกแบบในขั้นละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่ดำเนินการในขณะนี้เป็นเพียงการสำรวจในเบื้องต้น ซึ่งการก่อสร้างสนามบินเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและเห็นชอบ

เพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ ทั้งในด้านค่าชดเชยที่ดิน การก่อสร้างสนามบิน ทั้งด้านสนามบิน อาคาร ซึ่งระยะทางการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ จะต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 8 ปี

นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ชาวพัทลุงทุกฝ่ายต้องการที่จะเห็นการก่อสร้างสนามบินพัทลุง แต่เชื่อว่าหลายฝ่ายอยากจะทราบถึงรายละเอียดว่าจะมีการก่อสร้างสนามบินกันเมื่อไหร่ จะเสร็จในปีไหน เพื่อทุกฝ่ายจะได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รองรับ