ธุรกิจรังนกหมื่นล้านสะเทือน นักธุรกิจรุ่นใหม่พัทลุงลงขันประมูล

กรณีสัมปทานจัดเก็บรังนกอีแอ่น ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ในพื้นที่ 7 เกาะ ได้แก่ เกาะหน้าเทวดา เกาะรู้สิ้ม เกาะถ้ายถ้ำดำ เกาะกันตัง เกาะตาใส เกาะยายโส และเกาะรอกของบริษัท สยามเนสท์ 2559 จำกัด วงเงิน 450 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี หมดลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564

คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ซึ่งมี นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ประกาศประมูลหาผู้รับสัมปทานรายใหม่โดยกำหนดราคากลาง 500 ล้านบาท เปิดขายซอง 2 ครั้ง แต่ไม่มีใครมายื่นซองประมูล

จึงมีการทบทวนราคากลางปรับลงมาที่ 450 ล้านบาท และเปิดขายประมูลอีก 3 ครั้ง ยังไม่มีใครมายื่นประมูล โดยเฉพาะการเปิดซองประมูลรังนกอีแอ่นในครั้งที่ 5 ในราคากลาง 450 ล้านบาท

แม้จะลดค่าหลักประกันซองเหลือ 10 ล้านบาทโดยไม่ต้องซื้อเอกสารการประมูล และกำหนดยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง (อบจ.) ได้มีหนังสือเชิญชวนให้บริษัทรังนกอีแอ่นตามจังหวัดต่าง ๆ เข้ามายื่นซองประมูลจำนวน 13 บริษัท แต่ไม่มีรายใดมายื่นซองประมูลนั้น

ทุนท้องถิ่นลงขันประมูล

แหล่งข่าวจากนักธุรกิจรายใหญ่จังหวัดพัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่จากหลากหลายอาชีพกว่า 10 รายในจังหวัดพัทลุง

โดยเฉพาะ ใน จ.พัทลุงได้ประชุมหารือกันเพื่อจะร่วมทุนจัดตั้งบริษัทขึ้นมายื่นประมูลสัมปทานจัดเก็บรังนกอีแอ่น ต.เกาะหมากอ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ในพื้นที่ 7 เกาะ

โดยมีแนวคิดว่าถ้ำรังนกเป็นทรัพยากรท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุงที่ธรรมชาติสร้างให้มา คนท้องถิ่นควรช่วยกันดูแล โดยเงินที่ได้จากการจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นที่ตั้งราคากลาง 450 ล้านบาท

ถือเป็นเงินเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น 100% คนในจังหวัดได้ประโยชน์เต็มที่และธุรกิจรังนกมีลู่ทางการตลาดที่ดี สามารถนำไปแปรรูปบรรจุขวดสร้างรายได้มหาศาล และคืนทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีความต้องการของตลาดในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจากกลุ่มที่รับสัมปทานรังนกถ้ำเดิมจะเห็นว่า ช่วงระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี สามารถจัดเก็บรังนกขาวได้รวม 9,800 กิโลกรัม ราคาขายเฉลี่ยประมาณ 60,000 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพ

แบ่งเป็น 3 เกรด คือ เกรด 1 เรียกว่า 3A เกรด 2 เรียกว่า 2A และเกรด 3 คือ 1A ตก และยังมีรังนกอีแอ่นดำ ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ที่ไม่ได้ถูกนำมาคิดในการจัดเก็บอากรรังนกอีก 11,000 กิโลกรัม หรือคิดเป็น11 ตัน

ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท ดังนั้น หากนำไปแปรรูปจะเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นไปอีก

“กลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว และมีนักลงทุนอาวุโสที่เป็นทุนใหญ่ในท้องถิ่น จ.พัทลุงเข้าร่วม นอกนั้นอาจจะมีกลุ่มนักลงทุนจากกรุงเทพฯเข้าร่วมด้วยการลงทุนจะจัดสรรเป็นหุ้น

กำหนดเงินลงขันขั้นต่ำตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปถึงประมาณ 30 ล้านบาท จะไม่ให้รายใดรายหนึ่งถือหุ้นมากเกินไป และร่วมกันบริหารงาน โดยบางคนพ่อแม่มีเงินเย็นนอนอยู่ในธนาคารดอกเบี้ยก็ต่ำไม่รู้จะลงทุนอะไรในสถานการณ์โควิด-19

อย่างนี้ จึงโยกเงินจากธนาคารมาลงทุนดีกว่า พร้อมมีโครงการแปรรูปทำแบรนด์ออกจำหนายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังเร่งจดทะเบียนจัดตั้งให้ทันการประมูลในครั้งที่ 6”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของสำนึกความเป็นพลเมืองของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยดูแลจังหวัด ขณะเดียวกัน ถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ และถือเป็นการสั่นสะเทือนวงการธุรกิจรังนกถ้ำ

ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม (รวมรังนกพร้อมดื่ม) กว่า 15,000-16,000 ล้านบาททีเดียว เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาธุรกิจรังนกถือเป็นธุรกิจที่ผูกขาดจากผู้ประกอบการเพียงไม่กี่บริษัท มีการแบ่งพื้นที่สัมปทานถ้ำรังนกกันดูแล

เช่น จังหวัดชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง และตราด ที่สำคัญมีอำนาจการต่อรองกับภาครัฐ แต่ปัจจุบันเมื่อคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารติดต่อถึงกันได้หมด

ข้อมูลบางเรื่องที่ปิดบังซ่อนเร้น ไม่โปร่งใส ทราบกันเฉพาะในกลุ่ม ต่อไปปิดบังไม่ได้แล้ว นักธุรกิจรุ่นใหม่พร้อมเข้ามาทำลายกำแพงเหล่านี้ และก้าวข้ามออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ

โควิดทำธุรกิจรังนกค้างสต๊อกอื้อ

แหล่งข่าวจากบริษัทรังนกอีแอ่นถ้ำรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุกิจ” ว่า ขณะนี้หลายบริษัทใหญ่ประสบปัญหามีรังนกอีแอ่นถ้ำต้องแบกสต๊อกเก็บไว้ในห้องเย็นจำนวนมาก

เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักปิดประเทศ ทำให้ทั้งผู้ค้าและนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้

บริษัทต่าง ๆ มีภาระมากจึงไม่เข้าร่วมประมูลเพราะจะไม่คุ้มกับภาระดอกเบี้ย แต่หากราคากลางปรับลดลงมาในระดับหนึ่งก็อาจจะประมูลเอาไว้

“เดิมตลาดสำคัญภายในประเทศ คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และหาดใหญ่ จ.สงขลา ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ตอนนี้ไร้นักท่องเที่ยว

แต่รังนกที่ยังพอขายได้ คือ รังนกอีแอ่นดำ เนื่องจากขายให้กับบริษัทผู้แปรรูปผลิตเป็นรังนกขวด โดยราคารังนกอีแอ่นดำประมาณ 20,000 บาทต่อ กก.”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน รังนกอีแอ่นไทยมีคู่แข่งขันสำคัญ คือ รังนกอีแอ่นถ้ำจากเกาะกลางทะเลประเทศอินโดนีเซีย ได้พัฒนาเป็นเกาะเลี้ยงนกอีแอ่น

โดยขายราคาเดียวกับรังนกอีแอ่นบ้าน เป็นต้น สำหรับราคานกอีแอ่นบ้านของไทยที่มีราคาประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อ กก.

หมดสัมปทานรังนกถูกขโมย

ทางด้าน นายประเสริฐ ดำสุด อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง(อบจ.) และอดีตคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า รังนกอีแอ่น ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง

จะต้องมีการประมูลโดยเร็วและทางการทุกส่วนต้องประชาสัมพันธ์กันอย่างทั่วถึงไปยังบริษัทผู้ประกอบการรังนกอีแอ่น เพราะหากเกิดความล่าช้าหวั่นว่าจะเกิดความเสียหายให้กับ จ.พัทลุงโดยภาพรวม

เพราะปัจจุบันเกิดการลักขโมยรังนกอีแอ่นถึง 2 ถ้ำ หากเป็นถ้ำขนาดใหญ่จะมีรังนกอีแอ่นเป็น 100 กิโลกรัม เนื่องจากบริษัทผู้รับสัมปทานรายเก่าได้หมดสัญญาสัมปทาน และถอนกำลังออกไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

“ตอนนี้เกิดการลักขโมยรังนกอีแอ่น ที่สำคัญแม่นกอีแอ่นกำลังวางไข่ออกลูกตัวเล็ก ๆ คนที่เข้าไปลักขโมยจะใช้อุปกรณ์แทงเอารังนกอีแอ่น ซึ่งแทงไปถูกลูกนกทำให้ลูกนกตกลงมาตายจำนวนมาก

เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยรังนกอีแอ่นที่ขโมยไปมีการเร่ขายไปหลายจังหวัดในภาคใต้ ขณะนี้แม้ทางจังหวัดได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำการป้องกันรักษาดูแลเกาะรังนกอีแอ่น

ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สิ่งแวดล้อมฯ และท้องถิ่น แต่ยังมีข่าวว่ามีการลักลอบขโมยรังนกออกมาได้ จึงขอให้จังหวัดวางมาตรการในการป้องกันให้เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม

นายประเสริฐกล่าวอีกว่า รังนกอีแอ่น จ.พัทลุงเก็บเกี่ยวปีละ 3 รอบ เก็บได้รอบละประมาณ 1,500 กก. จะเป็นรังนกดำประมาณ 1,000 กก. รังนกขาวประมาณ 500 กก.

ราคารังนกขาวประมาณ 60,000 บาท รังนกดำประมาณ 20,000 บาท เป็นราคากลางประมูล แต่โดยทางการค้าการตลาดเมื่อออกสู่ตลาดแล้วจะเป็นอีกราคาหนึ่งทางการค้าขึ้นหลักแสนบาท