พิษไวรัสทำธุรกิจโคราชปิดกิจการ 4 พันรายสูญหมื่นล้าน

พิษโควิด-19 กระทบหนักต่อเนื่อง ธุรกิจ 4 ประเภทของจังหวัดนครราชสีมาดิ่ง สูญรายได้นับหมื่นล้านบาท หอการค้าระบุปิดกิจการไปแล้วกว่า 4,000 รายชี้ภาคการท่องเที่ยวสาหัสสุด ร้องรัฐบาลพิจารณาการเยียวยาผู้ประกอบการ-ช่วยเหลือลูกจ้างเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเป็นอย่างหนักตั้งแต่ปี 2563

ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น และมีการล็อกดาวน์ประเทศในทั่วโลก ทำให้สถานการณ์การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวในจังหวัดหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจจากข้อมูลสถิติของภาครัฐของจังหวัดนครราชสีมา ธุรกิจ 4 ประเภทลำดับต้น ๆ ที่ทำรายได้ให้กับจังหวัดคือ 1.ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ 30% ของจีพีพี หรือ 30,000-40,000 ล้านบาท

ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครราชสีมา 2.ภาคการค้าส่ง ค้าปลีกได้รับผลกระทบ 50-60% ของจีพีพี หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท 3.ภาคเกษตรไม่ได้รับผลกระทบ

มีความโชคดีเพราะสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น และ 4.ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ 80% ของจีพีพี หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท รวมแล้วในปี 2563 ธุรกิจในจังหวัดนครราชสีมาได้รับผลกระทบมากกว่า 80,000-90,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลกระทบยังต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ที่มีการระบาดหนักเป็นระลอกที่ 3 ทำให้ธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จังหวัดนครราชสีมายังได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น

เพราะต่างชาติในหลายประเทศเริ่มมีการเปิดเมืองแล้วทำให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นประมาณ 30-40% ขณะที่ภาคการค้าส่ง ค้าปลีก ยังได้รับผลกระทบอยู่ประมาณ 30-40% หรือ 10,000 ล้านบาท

ภาคการท่องเที่ยวยังสาหัส 60-70% หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ฉะนั้นในภาพรวมเฉพาะครึ่งปีแรกที่ผ่านมาธุรกิจจึงได้รับผลกระทบประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทขึ้นไป

จากการรวบรวมสถิติตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน พบว่ามีการปิดกิจการแล้วกว่า 3,000-4,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ที่พักบริษัททัวร์

ร้านของฝาก ร้านนวดเพื่อสุขภาพโรงงานอุตสาหกรรม และร้านค้าปลีกทั้งร้านค้าทั่วไปและในระบบจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก

“ผู้ประกอบการในจังหวัดต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และพยุงธุรกิจต่อไปให้ได้ โดยมีการปรับตัวกันหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหารต้องหันมาจำหน่ายทางออนไลน์และดีลิเวอรี่

เพราะร้านอาหารถูกกำหนดเรื่องมาตรการโควิดควบคุมอย่างเข้มงวด ร้านขายเสื้อผ้าก็ปรับธุรกิจมาเย็บหน้ากากอนามัย เย็บชุด PPE เย็บถุงผ้า เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ ธุรกิจรถขนส่งผู้โดยสารไม่ประจำทางก็ต้องหาพันธมิตร

จากเดิมวิ่งรับส่งผู้โดยสารในสายเดียวกัน เคยต่างคนต่างวิ่ง เมื่อลูกค้าน้อยลงก็ต้องหันมาจับมือกัน รวมตัวกันในการร่วมวิ่งให้บริการ ผลัดกันวิ่งวันละ 20-30 เที่ยวต่อวัน

เพราะในสถานการณ์นี้หากต่างคนต่างวิ่งก็จบ ต้องให้ธุรกิจอยู่รอดด้วยกันได้” นายศักดิ์ชายกล่าว

นอกจากนี้ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถพยุงธุรกิจให้เดินต่อไปได้

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด การไม่ให้มีการล็อกดาวน์จังหวัด ให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินธุรกิจได้ โดยมีเงื่อนไขและมาตรการในการเปิดร้านอย่างรัดกุมตามมาตรการของสาธารณสุข มีการยื่นข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วยเหลือเยียวยาทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง

ล่าสุดได้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันนครราชสีมา (กกร.นม.) ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

และชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบ ขอให้รัฐบาลพิจารณาการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ และลูกจ้างในจังหวัดนครราชสีมา

ให้ได้รับการเยียวยาให้เหมือนกับจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง 1 ใน 53 จังหวัด ซึ่งมีมาตรการควบคุมแตกต่างจากพื้นที่สีแดงเข้มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทำให้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกับพื้นที่สีแดงเข้ม และยังเป็นจังหวัดที่มีอัตราผู้ติดเชื้อเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

นายศักดิ์ชายกล่าวว่า กกร.นครราชสีมา เห็นว่าประกาศการเยียวยาจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างได้ในเบื้องต้น

ทำให้ช่วยพยุงเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมาให้ได้รับการเยียวยาให้เหมือนกับจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม

“เรื่องนี้ กกร.นม.จะออกแถลงการณ์และทำหนังสือไปยังหลายหน่วยงาน เพื่อให้เร่งช่วยเหลือและเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, กกร.ส่วนกลาง, กกร.กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน

และหอการค้ากลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง เป็นต้น รวมทั้งได้เสนอแนวทางการพยายามให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้มากที่สุด”

สถานการณ์ตอนนี้มีปัจจัยเพียงเรื่องเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้คือ การควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ หากสามารถควบคุมได้ภายในสิ้นปีนี้ สถานการณ์ของธุรกิจต่าง ๆ จะดีขึ้นกว่า 40% ซึ่งยังคงไม่ถึงกับฟื้นตัวทันที

แต่ถ้าไม่ถึง 40% สถานการณ์ก็จะลากยาวออกไป ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศน่าจะดีขึ้นในปลายปี 2565 ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์โควิด

และการได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด และทั่วถึง ธุรกิจที่จะขับเคลื่อนประเทศและโคราชได้ มีเพียง 2 ประเภทที่ทำเม็ดเงินคือ ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ต้องหวังพึ่ง 2 ประเภทนี้ในการขับเคลื่อนกลไกของจังหวัด หวังว่ามาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐจะนำเม็ดเงินลงมาให้ตรงเป้าและเกิดประโยชน์สูงสุด ให้เดินได้ต่อไป