ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ : เปิดมาตรการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต มีผล 1-14 ก.ย.

ภูเก็ต ล็อกดาวน์ 1 ก.ย. เช็กสถานที่เปิดปิด
ภาพจากเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ตออกมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต มีผล 1-14 ก.ย.

วันที่ 31  สิงหาคม 2564 ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต รายงานคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 5139/2564 เรื่อง มาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังต่อไปนี้

  1. ห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ยกเว้น เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย) ทางน้ำ (ท่าเรือทุกท่า) ในจังหวัดภูเก็ต และช่องทางภายในประเทศ (ท่าอากาศยานภูเก็ต) เว้นแต่เป็นบุคคล หรือผู้ขับขี่ยานพาหนะ ดังต่อไปนี้

1) รถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย

2) ขนส่งยา วัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์

3) ขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค สินค้าทางการเกษตร ปศุสัตว์ อาหารสัตว์

4) ขนส่งก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง

5) ขนส่งเงินของธนาคาร สถาบันทางการเงิน

6) ขนส่งพัสดุและสิ่งพิมพ์

7) ขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุง

ผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ เพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้า ณ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต, ท่าเรือคลังน้ำมัน ปตท.ภูเก็ต และพื้นที่ขนถ่ายสินค้าอื่น ๆ

9) ขนส่งเครื่องมืออุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนประกอบซ่อมบำรุงพื้นฐานด้านโทรคมนาคม พลังงาน ยานยนต์ อากาศยาน และการอุตสาหกรรมอื่น ๆ

10) ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือทำงานในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการประจำ (ต้องมีเอกสารหลักฐานยืนยัน)

11) ผู้ที่ได้รับคำสั่งหรือมีหนังสือมอบหมายจากต้นสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการป้องกันและควบคุมโรคในจังหวัดภูเก็ต

12) ผู้เดินทางมาตามโครงการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และผู้ขับขี่ยานพาหนะ (ต้องมีเอกสารยืนยัน)

13) ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากส่วนราชการให้ไปหรือมาปฏิบัติภารกิจจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

14) ผู้มีความจำเป็นในการเดินทางออกทางช่องทางระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ต้องมีตั๋วโดยสารของวันที่เดินทางเท่านั้น)

15) ผู้ที่มีนัดหมายตามกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนว่าหากเลื่อนเวลานัดหมายดังกล่าวจะทำให้กระบวนการพิจารณาเสียหายอย่างร้ายแรง หรือมีนัดหมายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่คู่กรณีหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

16) ผู้ที่เดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ตเพื่อการท่องเที่ยว โดยต้องมีหลักฐานการจองโรงแรมหรือสถานที่พัก และชำระค่าที่พักล่วงหน้า และหากพักอาศัยเกิน 7 วัน ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด–19 ในวันที่ 5 ของการพักอาศัยในจังหวัดภูเก็ต โดยผู้เดินทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง (ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2564 เป็นต้นไป)

17) กรณีอื่นใดซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องวินิจฉัยสั่งการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำด่านตรวจ เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเป็นรายกรณี

โดยผู้ได้รับการยกเว้นตามกรณีดังกล่าวข้างต้น ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 ชนิดซิโนแวค (Sinovac) , ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) , สปุตนิก วี (Sputnik V) ครบ 2 เข็ม หรือซิโนแวค (Sinovac) เข็ม 1 แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็ม 2 หรือได้รับวัคซีนชนิดแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca), ไฟเซอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna), จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson and Johnson) จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน

หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง

  1. ผู้เดินทางมาตามโครงการนำร่องด้านการท่องเที่ยว (7+7 Extension) หรือบุคคลที่เดินทางไปท่องเที่ยวนอกเขตจังหวัดภูเก็ตทางทะเลไปจังหวัดนำร่องอื่น แบบไป-กลับภายในวันเดียว พร้อมคนขับเรือ มัคคุเทศก์ และพนักงานประจำเรือ ให้สามารถเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตได้โดยมีผลการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้ตรวจหาเชื้อโควิด–19 ด้วยวิธี ATK (Antigen Test Kit) ทุกสัปดาห์
  2. เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี จนถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด–19 ด้วยวิธีการ RT–PCR หรือวิธีการ Antigen Test โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง
  3. กรณีนักเรียนนักศึกษาอายุไม่ถึง 18 ปี ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 ได้และมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านเข้า–ออกจังหวัดภูเก็ตเพื่อการเรียนการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาหรือศึกษาธิการจังหวัดออกบัตรประจำตัวเป็นรูปแบบเดียวกัน แสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางผ่านเข้า–ออกจังหวัดภูเก็ต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตทำการตรวจหาเชื้อโควิด–19 ด้วยวิธีการ RT-PCR และออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด–19 ให้มีผลใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน
  4. กรณี ผู้มีนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 (ต้องมีใบนัดหมายการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ที่จังหวัดภูเก็ต) และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง
  5. ต้องลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gophuget.com เพื่อแจ้งข้อมูลในการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตล่วงหน้า และแสดงคิวอาร์โค้ด (QR Code) ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต
  6. การใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง ผ่านทางด่านตรวจท่าฉัตรไชย ห้ามบุคคลและยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ระหว่างเวลา 23.00 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ยกเว้น เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จ ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย

ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด–19 (D–M–H–T–T–A) ได้แก่

  • D – Distancing = เว้นระยะห่างระหว่างกัน
  • M – Mask Wearing = สวมหน้ากากผ้า / หน้ากากอนามัยเสมอ
  • H – Hand Washing = ล้างมือบ่อย ๆ
  • T – Temperature = ตรวจวัดอุณหภูมิ
  • T – Testing = ตรวจหาเชื้อโควิด–19
  • A – Application = ติดตั้งและสแกนแอปพลิเคชั่นไทยชนะ และหมอชนะ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564