ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 2 เดือน ไปต่อต้องตั้ง “กองทุนฟื้นท่องเที่ยว”

ครบ 2 เดือนในการเปิดประเทศนำร่องรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ (Phuket Sandbox)

ภาคเอกชนในวงการท่องเที่ยวของภูเก็ตยอมรับว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประมาณ 2 หมื่นคน กับเงินรายได้ที่สะพัดกว่า 1,000 ล้านบาท แม้จะไม่ได้มากนัก

เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ถือว่าน่าพอใจทีเดียวหากเทียบกับช่วงปีก่อนหน้าที่มีนโยบายปิดประเทศ รายได้เหลือ 0 บาท

2 เดือน 2 หมื่นคนสะพัดพันล้าน

โดย นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต บอกว่า โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์เป็นโครงการที่เปิดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เดินหน้าไปได้ แม้ในทางปฏิบัติกระบวนการทำงานต้องถูกเปลี่ยนไปหลายมิติ

เมื่อวิเคราะห์นักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาทางภูเก็ตแซนด์บอกซ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ต้องการมาท่องเที่ยวจริง ๆ โดยเข้ามาพักตั้งแต่ 3 วัน 5 วัน และ 7 วัน

2.กลุ่มคนไทยที่กลับบ้าน และ 3.กลุ่มนักท่องเที่ยวระยะยาว เป็นอีกกลุ่มที่ต้องการเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่อยู่กันยาว ๆมีจำนวนไม่น้อย

2 เดือนที่จังหวัดภูเก็ตทดลองรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ในอนาคตต้องมีการขยายฐานลูกค้าออกไป ในภูเก็ตแซนด์บอกซ์ที่ผ่านมาจะโฟกัสลูกค้าขาเข้า

แต่ยังมีลูกค้าในประเทศที่เป็นกลุ่มใหญ่ของเรา ซึ่งตัวเลขที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางไว้ในไตรมาส 3 จำนวน 550,000 คน แต่มาเกิดโควิด-19 ระลอก 4 ระบาดก่อนถ้าไม่มีโรคระบาดโควิด-19 จะได้ลูกค้าคนไทยที่เป็นลูกค้าหลักเข้ามาด้วย

“ขณะนี้รายได้ของภูเก็ตแซนด์บอกซ์ประมาณการ 1,000 ล้านบาท หากเปรียบเทียบอดีตที่ผ่านมาถือว่าไม่มาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ 16 เดือนที่เราไม่มีรายได้หรือเท่ากับเลขศูนย์

ดังนั้น ตัวเลขตอนนี้จึงถือว่าเยอะ อยู่ที่เราจะเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเปรียบกับปี 2562 รายได้ตรงนี้ถือว่าไม่เยอะมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบปี 2563-2564 เรามีรายได้เท่ากับศูนย์มา 15-16 เดือน จากลูกค้าขาเข้า (inbound)

จึงถือว่ารายได้ตอนนี้ไม่น้อยแต่ไม่เยอะมากจนทำให้เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งประเทศจะฟื้นขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาอันสั้นต้องใช้เวลา”

ข้อมูลนักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บอกซ์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-25 สิงหาคม 2564 จำนวน 24,488 คน พบติดเชื้อโควิดในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์เพียง 73 คน มียอดการจองจำนวนคืนของผู้เข้าพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus

ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จำนวน 433,320 รูมไนต์แยกเป็นกรกฎาคม 190,843 รูมไนต์ สิงหาคม 175,928 รูมไนต์กันยายน 66,549 รูมไนต์ และจองตั้งแต่ตุลาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 18,440 รูมไนต์

คาด Q4 ไฮซีซั่นยอดจองเพิ่ม

แนวโน้มของนักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บอกซ์ในเดือน ส.ค.-ก.ย. 64 จองเข้ามาไม่ได้มีจำนวนมาก มีหลายสาเหตุ ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยมีภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19

มีการปิดการเชื่อมโยงกันในระบบขนส่งสาธารณะ และช่วงนี้ไม่ได้เป็นฤดูไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว จึงมองว่าการท่องเที่ยวจะดีขึ้นในฤดูไฮซีซั่นไตรมาส 4 นี้

การที่ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ประสบความสำเร็จเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในจังหวัดภูเก็ตโดยภาคเอกชนร่วมมือกับรัฐบาล ร่วมมือกับจังหวัด

กับบุคลากรทางการแพทย์ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกคนให้ความร่วมมือทำให้ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินมาได้ถึงทุกวันนี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ภาคเอกชนมอบโทรศัพท์มือถือจำนวนหนึ่งให้ตำรวจเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้เกิดความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ในการตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวในแต่ละประเทศแต่ละพื้นที่

เมื่อภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินมาถึงจุดนี้ได้แล้ว ระบบค่อนข้างมีความพร้อมอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตซึ่งภูเก็ตมีความพร้อมยินดีต้อนรับ

และอยากให้กำลังใจสำหรับทุกพื้นที่ในประเทศไทยที่เกิดภาวะโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งภูเก็ตผ่านภาวะนี้มาได้แล้ว ทุกคนจะต้องช่วยเหลือกันและจะผ่านไปได้เช่นกัน

ภูเก็ตแซนด์บอกซ์จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้พูดเสมอว่า จะต้องคำนึงถึงว่าภูเก็ตพร้อมหรือไม่ ประเทศไทยพร้อมหรือไม่และโลกพร้อมหรือไม่ ถ้าทั้ง 3 สิ่งนี้พร้อม สามารถเดินไปได้

เชื่อมโยงเที่ยว 3 จังหวัด 7+7

ตามแผนตั้งต้นหลังเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์เพื่อนำร่องแล้ว จะมีการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันเชื่อมโยงกัน รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.)

มีมติเห็นชอบเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานีเฉพาะเกาะสมุย

เกาะพะงัน เกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ เฉพาะเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ และจังหวัดพังงา (เฉพาะเขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่) นับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมานั้น

นายธเนศกล่าวว่า การเชื่อมโยงภูเก็ตสู่จังหวัดอื่นในกลุ่มจังหวัดอันดามัน แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบข้ามเกาะโดยเริ่มต้นนักท่องเที่ยวเข้ามาพักในภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 7 วัน

หลังจากนั้น สามารถเที่ยวข้ามไปยังเกาะไหง ไร่เลย์ เกาะพีพี จ.กระบี่ และเขาหลักเกาะยาวน้อยเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา รวมถึงเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี อีก 7 วัน หรือ 7+7 นั้น

ต้องดูว่าการเชื่อมโยงจุดที่จะมาเชื่อมโยงพร้อมเป็นจุด ๆ หรือพร้อมทั้งจังหวัด ถ้าพร้อมบางจุดเชื่อมมาเป็นจุด ๆ ที่เหลือต้องรอดูประเทศไทยพร้อมหรือไม่ โลกพร้อมหรือไม่ ที่จะตอบรับเรื่องนี้

โครงการ 7+7 ได้เริ่มอนุมัติไปตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 แต่ยังไม่มีการส่งออกเพราะว่าคนที่เดินทางเข้ามาในระบบ7+7 ที่จะเดินทางเชื่อมโยงไปกระบี่ พังงา สมุย จะต้องขอใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) การเที่ยวแบบ7+7 มาตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งตอนนี้ได้มีการยื่นขอ COE เข้ามาบ้างแล้ว

ดันตั้งกองทุนฟื้นท่องเที่ยว

นายธเนศกล่าวว่า ภาคเอกชนภูเก็ตได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

เพื่อให้โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินหน้าต่อไปได้ เพราะการเดินหน้าของภูเก็ตแซนด์บอกซ์เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยรถ เรือ สปา

หรือผู้ประกอบการที่เป็นรายเล็กรายน้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนฟื้นฟูของรัฐบาลได้จริง โดยดูจากตัวเลขกองทุนฟื้นฟูของรัฐบาลที่มีอยู่ 250,000 ล้านบาท มีภาคบริการขอกู้ไปเพียง 10,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 0.4% ซึ่งน้อยมาก

เพื่อให้ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินต่อได้ ผู้ประกอบการจะต้องเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งการเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูการท่องเที่ยวนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขหลายเรื่องที่อยู่ในภาวะพักหนี้ statement

ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือบางคนมีมูลหนี้ที่สูงมาก และผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งกองทุนที่ก่อตั้งจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบ

เบื้องต้นแบ่งมาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1.โรงแรมที่พัก ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดย่อย กลุ่มที่ 2.กลุ่มขนส่ง ทางบก ทางน้ำ เป็นที่ทราบดีว่าปัจจุบันกลุ่มขนส่ง

โดยเฉพาะรถแท็กซี่ที่ปัจจุบันประสบปัญหาการส่งค่างวด และกลุ่มที่ 3.ผู้ประกอบการทั่วไป เช่น ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับโรงแรม ที่พัก สปา หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กหน้าหาด

ซึ่งถือว่าจะตรงกับแนวคิดหลักของภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และสิ่งที่กล่าวย้ำเสมอคือ การเป็น Phuket happy for more ที่ทุกคนต้องมีความสุข เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องการลงทุนคือ

การพัฒนาของชุมชน พัฒนาการผลิตสินค้าพื้นเมือง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ซึ่งอยากให้เงินของกองทุนช่วยสนับสนุนในเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาเพื่อให้ Phuket happy

แนวทางการตั้งกองทุนมีแนวคิดอยู่ 2-3 รูปแบบ อาทิ กู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือทำเป็นภูเก็ต Bond ขายให้ผู้มาลงทุน หรืออาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียม เช่น

ค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่เกาะ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หรืออาจนำทั้งหมดมารวมกัน เป็นต้น เชื่อว่าจะมีแนวคิดอื่น ๆ ที่ดีที่สุดออกมาทั้งจากรองนายกรัฐมนตรีที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

ส่วนตัวเลขของทุนตั้งต้นจากการประมาณการ ความต้องการเงินของภาคธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 3 พันล้านบาท ตั้งเป้าเงินตั้งต้นกองทุนจะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาจริง ๆ

เนื่องจากปัจจุบันมีธุรกิจกว่า 80% ที่เปิด ๆ ปิด ๆ หากไม่มีเงินมาขับเคลื่อนอาจต้องปิดถาวร

จากการสำรวจพบว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ มียอดผู้ประกอบการและแรงงานในระบบรวมกันประมาณ 270,000 คน หรือประมาณ 71% ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต หากจำนวนนี้ไม่สามารถฟื้นฟูกลับขึ้นมาได้ จะยิ่งทำให้จังหวัดภูเก็ตลำบากมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตมีการฟื้นตัวประมาณ 20% แต่การมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ประกอบการต้องมีการเตรียมความพร้อม

ดังนั้น เงินทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญหากการจัดตั้งกองทุนเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจทุกระบบในจังหวัดภูเก็ตจะมีสภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ