“healmeee” ปรับตัวสู้โควิด ยอดขายออนไลน์โต 200%

แบรนด์อาหารสุขภาพ “heal meee” ปรับแผนธุรกิจทำ cloud kitchen ร่วมกับโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดันยอดขายออนไลน์โต 200% โกยรายได้แบบก้าวกระโดด 60,000-70,000 บาท/วัน คาดอาจเป็นเพียงเวลาสั้น ๆ 1-2 ปีก่อนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นายจิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ เจ้าของธุรกิจแบรนด์อาหารสินค้าแปรรูปเพื่อสุขภาพ heal meee และแพลตฟอร์มข้อมูลด้านสุขภาพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 heal meee ได้เริ่มปรับธุรกิจมาตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายนช่วงปลายปี 2563

จากมาตรการควบคุมการระบาดโรคของรัฐบาล ที่ลูกค้าไม่สามารถนั่งทานอาหารที่ร้านได้ ทำให้ยอดขายของลูกค้ามาซื้อด้วยตัวเองหน้าร้านลดลงเหลือเพียง 40% ขณะที่ยอดผ่านออนไลน์กลับเติบโตขึ้นกว่า 200%

เรียกได้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19โตแบบก้าวกระโดดประมาณ 60,000-70,000 บาท/วัน คาดว่ารายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านบาท/เดือน/สาขา ซึ่งตัวเลขยังไม่คงที่มากนัก

โดยอาหารทั้งหมดจะเป็นเมนูสุขภาพนอกจากเมนูไม่ซ้ำกันตลอด 90 วัน แตกต่างจากร้านอาหารที่ขายกันอยู่บนแอปพลิเคชั่นทั่วไป ราคาอาหารอยู่ที่ 890 บาท/สัปดาห์ หรือเหมาจ่าย 4,500 บาท/เดือน

บางคนสั่งซื้อเหมาจ่ายล่วงหน้า 3-6 เดือน หรือตลอดทั้งปี กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมีหลากหลายอาชีพ นับตั้งแต่พนักงานออฟฟิศทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการ คนเกษียณอายุ ผู้สูงอายุ

“ในช่วงนี้ลูกค้าของเราจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากโควิดเท่าไหร่ และมีกลุ่มที่เวิร์กฟรอมโฮมกับคนที่ต้องกักตัว คนที่พักฟื้นจากการรักษาโควิด และคนที่ต้องการอาหารสุขภาพไปบริจาคในโรงพยาบาลสนาม

เป็นกลุ่มใหม่ที่มีส่วนผลักดันยอดขายให้เติบโตขึ้นมากในช่วงนี้ นอกจากคุณภาพแล้วข้อดีที่ลูกค้าเลือกสั่งอาหารจากเราอีกอย่างคือ สามารถจำกัดการใช้เงินและบริหารจัดการเรื่องเงินได้ดีขึ้น สั่งแล้วมีอาหารกินอย่างแน่นอน งบฯอาหารไม่บานปลายเท่ากับการไปตลาดซื้อมาทำเองอย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ การปรับตัวนั้นได้มีการเปลี่ยนแผนงาน จากความตั้งใจที่จะสร้างสาขาขยายตัวในรูปแบบทำหน้าร้าน ได้หันมาปรับเปลี่ยนมาเป็น cloud kitchen แทนจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจโรงแรมและได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด

ซึ่งมีห้องครัวอยู่แล้ว เน้นที่ครัวใหญ่ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ใช้วัตถุดิบจากเกษตรในพื้นที่มาทำอาหารส่งตามบ้านผ่านแอปพลิเคชั่นและยังมีแบบแพ็กซีลให้ลูกค้าเลือกที่จะฉีกซองทำกินเองด้วย โมเดลนี้สามารถลดจำนวนพนักงานลงกว่าครึ่งหนึ่งจากการทำหน้าร้านรูปแบบเดิม

“ธุรกิจเราเป็นกึ่งระหว่าง SMEs กับสตาร์ตอัพ ตอนนี้เรียกว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จเลย รู้แค่ว่าต้องปรับตัวตลอดเวลา ทำอย่างไรให้อยู่รอด การจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจโรงแรมในสถานการณ์ปัจจุบัน

คาดว่าจะสามารถเติบโตไปในอนาคตได้อีกระยะหนึ่ง แต่ไม่แน่ว่าจะขยายตัวไปได้อีกมากเท่าไหร่ อาจเป็นเพียงเวลาสั้น ๆ 1-2 ปี เมื่อผ่านพ้นโควิดไปแล้วและเข้าสู่ภาวะปกติก็ต้องมาปรับตัวกันอีก

แม้มีโรงแรมอีกหลายแห่งที่รู้จักกันสนใจมาร่วมด้วยก็ต้องดูตลาดให้ดี เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อสถานการณ์คลี่คลายผู้คนก็มักออกจากบ้านและเปลี่ยนบรรยากาศนั่งทานที่ร้านมากกว่า”

ปัจจุบันสาขาที่มีหน้าร้านมีอยู่ 7 สาขาคือ นครราชสีมา 2 สาขา ปากช่อง ม.บูรพา ศรีราชา ระยอง และขอนแก่น ส่วน cloud kitchen ที่ร่วมทำกับโรงแรมทดลองเปิดไปแล้ว 3 สาขาในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และพื้นที่ศรีราชา

นอกจากนี้ ยังได้นำดาต้าด้านสุขภาพของบริษัทไปทดลองกับคลินิกที่สนใจเป็นพาร์ตเนอร์ เช่น ศูนย์กายภาพบำบัดอีกประมาณ 3 สาขา เพื่อต่อยอดด้านสุขภาพที่ไม่ใช่แค่อาหาร

เราต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ และเนื่องจากเทรนด์ด้านอาหารและการดูแลสุขภาพมาแรง เราจึงหาพาร์ตเนอร์ที่ต้องการเสริมธุรกิจให้แข็งแรงในยุคโควิดแบบนี้ ซึ่งต้องเก็บข้อมูลและดูผลตอบรับต่อไป