สุทธิพงษ์ ปลัดมหาดไทย เล็งของบฯเพิ่ม 5 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ

ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2565 ดูเหมือนว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเริ่มดีขึ้น ได้กลับมาระบาดสูงขึ้นอีกครั้งในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จากสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ดังนั้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีแผนในการเร่งฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด และหนึ่งในนั้นมีหน่วยงานสำคัญอย่างกระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นแกนหลักสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป

Change for Good คน มท.

“นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับเป็นเวลารวมกว่า 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 มาจนถึงปัจจุบัน ที่ได้ก้าวจากตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือว่าต้องปรับตัวกับการทำงานพอสมควร เพราะต้องศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของงานในระดับกระทรวง ส่วนราชการระดับกรม และรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวงมหาดไทยมากมาย มีหลากหลายหน้าที่ต้องขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายอย่างครอบคลุมทุกระดับ ทุกอำเภอ ทุกตำบลและทุกหมู่บ้าน

เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน และพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ในเดือนมกราคม 2565 อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เป็นปีแห่งความสุขของประชาชน หลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยเรื่องใหญ่ที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเป็นอันดับแรกคือ การสร้างความเข้าใจให้คนในองค์กรด้วยคำว่า change for good เพื่อร้อยดวงใจของคนมหาดไทยเข้าด้วยกัน ประสานการทำงานกรมต่าง ๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค องค์การตลาด องค์การจัดการน้ำเสีย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความมั่นคงภายใน และบำบัดทุกข์บำรุงสุข โดยจับมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ขับเคลื่อนภารกิจร่วมกันทุกมิติ

“ในภาคีเครือข่ายเราต้องบูรณาการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกันทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความยั่งยืน ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ฉะนั้นภารกิจเร่งด่วนคือการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งและสอดคล้องกัน พร้อมผลักดันเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานให้เจริญก้าวหน้าอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการเร่งจัดทำการบูรณาการฐานข้อมูลระบบสารสนเทศของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค”

ยกระดับ ศก.ฐานราก

“นายสุทธิพงษ์” กล่าวว่า ด้านการดำเนินงานได้สานต่อโครงการต่อเนื่อง จากเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งเป้ายกระดับเศรษฐกิจฐานรากเป็นอันดับแรก ซึ่งมีโครงการสำคัญมากมาย อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่

ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญ ต่อการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” หนึ่งในโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์

“โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องคนอยู่ร่วมกันกับป่าและสัตว์ป่า พัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนและสมดุล “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ช่วยลดรายจ่ายสร้างรายได้ และสามารถพยุงรายได้ของประชาชนในช่วงโควิด-19 ได้อย่างมากมาย เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (area based) ที่เน้นการบูรณาการทุกส่วนราชการในสังกัดร่วมกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาควิชาการ ภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Development Zones : SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) นำที่ดินของภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยมีภาครัฐสนับสนุนงบประมาณตั้งต้น และมีพื้นที่เข้ามาพัฒนาร่วมกันตามแนวทางนี้ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 200,000 ไร่แล้ว

“โครงการดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยประเมินไว้ว่าอยากได้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท จากรัฐบาลเพื่อมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยทำโครงการผลักดันเศรษฐกิจกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน เป็นส่วนที่นอกเหนือจากงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดเป็นการประเมินเพียงเท่านั้น ไม่รู้ว่าแท้จริงภาครัฐจะให้ได้เท่าไหร่ ส่วนที่เป็นงบประมาณประจำปีเราก็มักจะติดกับดักในเรื่องของโครงสร้าง ใช้เป็นงบประมาณประจำกว่า 60% ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น ขณะที่งบฯลงทุนเรามีไม่ถึง 20% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว”

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2565 อยู่ที่ 396,230.6712 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่เคยได้ 418,622.3682 ล้านบาท

เล็งปิดช่องนายทุนเลี่ยงภาษี

นอกจากนี้ “นายสุทธิพงษ์” บอกว่า การดำเนินงานในโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทยน่าจะช่วยแก้ปัญหาในด้านการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงมีปัญหาอยู่ได้ หลังจากมีกฎหมายฉบับแก้ไขการจัดเก็บภาษีออกมาในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563-2564 มีการออกกฎหมายเพื่อลดภาษีร้อยละ 90 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยรวมนั้นส่งผลกระทบทำให้รายได้การจัดเก็บเองจากภาษีท้องถิ่นลดลงกว่า 90% รวมถึงอาจยังมีความกังวลกรณีผู้เสียภาษีบางรายที่อาศัยช่องของกฎหมายนำที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไปประกอบการเกษตรโดยไม่สนใจดูแลเพื่อจะได้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำสุด

เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนที่ต้องคิดต่อไปว่า รัฐบาลจะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาอย่างไรโดยเฉพาะเรื่องรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดหายไป

“ตั้งแต่รัฐบาลออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 บรรดาท่านผู้นำท้องถิ่นก็กังวลใจเสมอว่า การจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้จะลดลง แต่ยังไม่ทันได้ใช้ก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องลดอัตราภาษีลง 90% ในปีที่ผ่านมา ส่วนในปีนี้รัฐบาลจะมีมาตรการนี้ออกมาอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ยังต้องรอความชัดเจนจากคณะรัฐมนตรีว่าจะมีมติอย่างไร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นอย่างไร”

ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีในปี 2562 จากเดิมที่เคยมีรายได้รวม 36,528.05 ล้านบาทแต่ในปี 2563 มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 3,535.65 ล้านบาท ลดลงจำนวน 32,992.40 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 90.92

และในปี 2564 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี จำนวน 4,268.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 733 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.73