คำต่อคำ “ฉัตร์สุดา ชุมแสง” พาณิชย์จังหวัดสงขลา เปิดใจคำตัดสินเบทาโกร

สัมภาษณ์พิเศษ

“ฉัตร์สุดา ชุมแสง” พาณิชย์จังหวัดสงขลา เปิดใจทำไมตัดสิน เบทาโกรไม่ผิด กรณีสต๊อกหมู 2 แสนกิโล

“หมูแพง”เกือบจะทะลุ 300 บาท/กก. หลังเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาด จนสร้างความเสียหายหมูทั้งระบบล้มตายไปกว่า 50% ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลุกขึ้นมาให้ตรวจสอบทั่วประเทศว่ามีการกักตุนสต๊อกหมูไว้หรือไม่

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยปศุสัตว์จังหวัดสงขลา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์จังหวัดสงขลา พร้อมพาณิชย์จังหวัดสงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจพบห้องเย็นของบริษัท ปิติซีฟู้ด จำกัด อ.จะนะ จ.สงขลา พบสต๊อกหมูของบริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.พัทลุง ฝากไว้จำนวน 2 แสนกว่ากิโลกรัม

นางสาวฉัตร์สุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลา ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” แบบคำต่อคำถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และการจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร ตามประกาศ แล้วสรุปผลการตรวจสอบว่า

1.บริษัท ปิติซีฟู้ด จำกัด ในฐานะห้องเย็นรับฝาก ซึ่งป็นผู้ครอบครองแทนผู้อื่นตามข้อ 3 ในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 2 พ.ศ.2565 เรื่องการแจ้งปริมาณราคาสถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีสินค้า สุกร เนื้อสุกร มีความผิดตามมาตรา 25 (5) พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลาได้ทำการบันทึกการตรวจสอบและแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธร อ.จะนะ เพื่อดำเนินคดีใน “ข้อหาไม่แจ้งปริมาณครอบครอง”

2.บริษัท ปิติซีฟู้ด จำกัด และบริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด โรงงานแปรรูปสุกรพัทลุง นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมบัญชี ซื้อมา/ขายไป เอกสารการจัดทำบัญชีคุมสินค้าตามประกาศ กกร.และเอกสารแสดงข้อมูลการรับเข้าและจ่ายออกสินค้าสุกร ชี้แจงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ในกรณีแจ้งปริมาณเนื้อสุกรตามประกาศฯ ไม่ตรงกับสินค้าที่มีการตรวจสอบฯ ผลการตรวจสอบดังนี้

บริษัท เบทาโกรอุตสาหกรรม จำกัด โรงงานแปรรูปสุกรพัทลุง มีการแจ้งข้อมูลปริมาณ สถานที่เก็บเนื้อสุกรตามประกาศ กกร. ครบถ้วน 4 รายการ ได้แก่ สุกรชำแหละผ่าซีก, เนื้อแดง(ไหล่/สะโพก), เนื้อสันคอ สันนอก สันใน และเนื้อสามชั้น

แต่เนื้อหมูชิ้นส่วนอื่นที่บริษัท เบทาโกรฯ มีอยู่ เช่น หมูบด หมูสามชั้นสไลด์ ขาหมูเผา ไม่ได้กำหนดให้แจ้งปริมาณในแบบสก.01 ตามประกาศ กกร. จึงไม่ได้กรอกข้อมูลปริมาณลงไป แต่มีเอกสารมาชี้แจงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ครบถ้วน

เมื่อตรวจสอบกับข้อมูลที่บริษัท ปิติซีฟู้ดส์ นำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลทางบัญีของทั้ง 2 รายมีความสอดคล้องกัน

ส่วนการทำบัญชีคุมสินค้าของบริษัท เบทาโกรฯ และบริษัท ปิติซีฟู้ดส์ฯ มีการจัดทำบัญชีคุมสินค้าตามประกาศ กกร.ฉบับที่ 2 พ.ศ.2565 ข้อ 4 โดยผู้ประกอบการฯ ทั้ง 2 รายนำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ครบถ้วน

ส่วนประเด็นการกักตุนสินค้าของบริษัท เบทาโกรฯ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฎว่า เอกสารบัญชีรับเข้าและส่งออกสินค้า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่บริษัทเบทาโกรนำมาแสดงมีการรับเข้าและจ่ายออกสม่ำเสมอตลอดมา จึงไม่เข้าข่ายการกักตุนสินค้า

กรณีเนื้อส่วนต่าง ทำไมไม่ถือว่าเป็นความผิด? 

พาณิชย์จังหวัดสงขลา ตอบในประเด็นนี้ว่า ที่ไม่ถือว่าเป็นความผิด คือในแบบแจ้ง สก.01 เป็นแบบแจ้งตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่ต้องแจ้งปริมาณครอบครองจะมีรายการ 1.หมูผ่าซีก 2.เนื้อแดง (ไหล่ สะโพก) 3.เนื้อสันคอ สันนอก สันใน 4.เนื้อสามชั้น

ทางเบทาโกรแจ้งเฉพาะ 4 รายการตามใบแจ้ง สก.01 ปริมาณที่แจ้งประมาณ 50,000 กว่ากก. แต่ในสต๊อกของบริษัท ปิติฟู้ด มีหมูของบริษัทเบทาโกรฝากไว้ 2 แสนกิโลกรัม

โดยส่วนต่างนี้ มีสินค้าอื่นอีก 153,985 กิโลกรัม ได้แก่ หมูบด ขาหมูเผา ซี่โครง สามชั้นแผ่น (สไลด์เป็นชิ้นบาง ๆ คล้ายในร้านชาบูทำเป็นแพ็กละ 1 กก. รวมมาเป็น 10 กก.) เป็นรายการที่ไม่ได้กำหนดให้แจ้งตามแบบสก.01 ทางบริษัท เบทาโกร จึงไม่ได้แจ้งไป

ในแบบแจ้งสก. 01 ไม่มีระบุช่องอื่นๆ

และเนื่องจากในแบบแจ้ง สก. 01 ไม่มีช่องอื่นๆ ให้ระบุ ดังนั้น เมื่อวานนี้ (21 ม.ค. 2565) ทางบริษัท เบทาโกรจึงได้นำเอกสารทั้งหมดมาชี้แจงกับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา เป็นเอกสารรายละเอียดสินค้าทั้งหมด 153,985 กก. มาชี้แจงรายละเอียด โดยยืนยันรายการ ซึ่งในแบบแจ้งก่อนหน้าไม่มี บริษัทเบทาโกร จึงไม่ได้แจ้งไป

“ดังนั้น พาณิชย์จังหวัดสงขลาจึงได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยังกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งได้มอบหมายให้นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว และรับทราบแล้ว ทางกรมการค้าภายในบอกให้แจ้งเฉพาะตามที่มีในรายการใบแจ้งสก.01 เท่านั้น ดังนั้นปริมาณที่ไม่ได้แจ้ง บวกกับปริมาณที่แจ้งเท่ากับปริมาณในสต๊อก จึงถือว่า บริษัทเบทาโกรไม่ได้มีความผิดใด ๆ เพราะว่า บริษัทเบทาโกรแจ้งเรียบร้อยแล้ว”

นางสาวฉัตร์สุดา กล่าวด้วยว่า ในฐานะพาณิชย์จังหวัดจะตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ เรื่องนี้นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในได้โทรมาสอบถาม และรองอธิบดีรับทราบ เพราะแบบฟอร์มใบแจ้ง สก.01 ออกมาจากกรมการค้าภายใน เราพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ถือปฏิบัติตามนโยบายในการปฏิบัติให้ถูกต้อง เราต้องทำตามความเข้าใจกับกรมการค้าภายในก่อนว่า ตามเอกสารทั้งหมดเป็นแบบนี้

ถือเป็นช่องโหว่ของกฎหมายหรือไม่ ถ้ากรณีเอกชนเลี่ยงแปรรูปเพื่อกักตุน

พาณิชย์จังหวัดสงขลาอธิบายว่า การจะกักตุนหรือไม่ เราต้องไปดูบัญชีควบคุมของบริษัท ซึ่งทางพาณิชย์จังหวัดได้มีการตรวจสอบรายละเอียดเอกสารทั้งหมด ว่าบัญชีของเขามีการรับเข้ามา และจ่ายออกไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 มาถึงเดือนมกราคม 2565 มีการรับเข้า-จ่ายออกเรื่อยมาสม่ำเสมอทุกเดือนเป็นปกติ ตรงนี้จึงไม่ถือว่าเขากักตุน

การจะกักตุนหรือไม่ ต้องพิจารณาบัญชีควบคุมของบริษัท ถ้ารับเข้ามาแล้วไม่ขายออกเลยหรือประวิงเวลาในการขาย หรือประวิงเวลาในการส่งมอบ จึงจะถือว่าเขากักตุน แต่เราเรียกสอบดูบัญชีควบคุมของบริษัทมีการรับเข้า-จ่ายออกปกติทุกเดือน มีรายการบัญชีถูกต้อง

ทำไมค้างอยู่ตั้ง 2 แสนกก.

จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 รับเข้า-จ่ายออกปกติ โดยเมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2564 ช่วงนั้นหมูยังไม่ได้มีการปรับขึ้นราคา ยังไม่มีปัญหาว่า หมูขาดตลาด เจ้าหน้าที่ได้ย้อนไล่ดูทุกเดือนเทียบจนมาถึงเดือนมกราคม 2565 ลักษณะเหมือนกัน ดังนั้นจะไปว่าบริษัทปฎิเสธการขายไม่ได้ เพราะจ่ายออกเหมือนเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม 2564 โดยเราจะไปใส่ข้อหาว่า เขากักตุนไม่ได้

แต่ตอนนี้หมูขาดตลาดราคาจะทะลุ 300 บาทมีสต๊อกค้างอยู่ 2 แสนจะถือว่ากักตุนได้หรือไม่

เรายังถือไม่ได้ว่า กักตุน เพราะคำว่า “กักตุน” ในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ถือว่าหมูเป็นสินค้าควบคุม บอกว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศ ซึ่งปริมาณที่กำหนดก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าครอบครองเกินเท่าไหร่ หรือสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่ นอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้ง

อันนี้เขาก็ไม่ได้เก็บในสถานที่อื่น หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออก หรือเสนอขายตามปกติ เขามีการจำหน่ายออกอยู่ หรือปฎิเสธการจำหน่าย เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการจำหน่าย หรือประวิงการจำหน่าย หรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มันไม่เข้าเลย

เราก็เลยสรุปว่า จากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งหลายนำมายื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของเราดูเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.2565)  ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะไปเข้าข่ายกักตุน มันไม่เข้าข่ายกักตุนตามมาตรา 30 เลย

สต๊อก 153,985 กก.ไม่แจ้ง แต่มีเคลื่อนไหวเข้า-ออก

ใช่ค่ะ เราพิจารณาตรวจสอบรวมกันจำนวน 2 แสนกก.มีการรับเข้า-จ่ายออกสม่ำเสมอ

ตรงนี้ถือเป็นช่องโหว่ของใบแจ้งหรือกฎหมายหรือไม่

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ทางกรมการค้าภายในได้มีการประชุมผ่านระบบซูมร่วมกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องการส่งแบบแจ้งปริมาณในครอบครองว่าพาณิชย์จังหวัดไหนมีปัญหาอะไรให้สอบถามมาได้

“เราได้สอบถามชัดเจนในที่ประชุมผ่านระบบซูมว่า รายการสินค้าชนิดอื่น ๆ ที่ไม่มีในแบบแจ้งจะต้องให้เอกชนแจ้งว่าอื่น ๆ หรือไม่ ทางรองอธิบดีตอบว่า ไม่จำเป็นต้องใส่ลงไป เพราะว่ามีความจำเป็นดูแค่ 4 รายการตามใบแจ้งสก.01 เท่านี้ และเขาสามารถคำนวนถอนกลับไปได้ว่า ในจำนวน 4 รายการที่มีใบแบบแจ้งจะเป็นหมูมีชีวิตกี่ตัว มันจะเกิดปัญหาว่าใบแบบแจ้งคุณแจ้งเท่านี้ แต่ปริมาณที่คุณสต๊อกไว้มันมากกว่าแบบแจ้ง มันจะเกิดการเขย่งอยู่”

การประชุมกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศวานนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับหมูทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการแจ้ง การไปตรวจสต๊อก เรื่องออกไปตรวจสอบราคา การปิดป้ายแสดงราคา ราคาขายเกินสมควรหรือไม่ พร้อมกับเปิดโอกาสให้พาณิชย์จังหวัดที่มีข้อหารือสอบถามได้

ตอนนี้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายให้ทุกจังหวัดตรวจสต๊อกหมู ณ ห้องเย็น ณ ฟาร์มทั้งหมดทั่วประเทศ รวมถึงทางกระทรวงมหาดไทยก็แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดก็แจ้งอำเภอร่วมกันออกตรวจสอบ

ส่วนหมูที่สต๊อกอยู่เป็นโรคหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่พาณิชย์จังหวัด

นางสาวฉัตร์สุดากล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเราเป็นเรื่องของกรมปศุสัตว์