เปิดไทม์ไลน์ตรวจสต๊อกหมู 2 แสนกิโล จ.สงขลา หลังโทนี่แฉในคลับเฮาส์

เปิดไทม์ไลน์ตรวจสต็อกหมูในห้องเย็นเอกชน 2 แสนกิโลกรัม จ.สงขลา โซเชียลตั้งข้อสังเกต “โทนี่” เปิดประเด็นในคลับเฮาส์ ก่อนเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ

วันที่ 20 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ โดยด่านกักกันสัตว์สงขลา ได้เข้าตรวจสอบห้องเย็นแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา พบซากสุกรคงเหลือในคลัง 201,650.90 กิโลกรัม ซึ่งไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ จึงได้อายัดซากสุกรดังกล่าวไว้เพื่อรอตรวจสอบ

โดยในวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค. 65) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) จะลงพื้นที่เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

จากประเด็นใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากสังคมในวันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปเหตุการณ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ก่อนการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ดังนี้

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (แฟ้มภาพ)

มหาดไทยสั่งทุกจังหวัดแก้หมูขาดแคลน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดให้ช่วยกันแก้ปัญหาเนื้อหมูมีราคาแพงขึ้นอย่างเร่งด่วน และขอให้ช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ด้วย

โดยให้เข้าควบคุมดูแลเพื่อเป็นการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการ หรือผู้ค้าเนื้อสุกรกักตุนเนื้อหมู เพื่อให้เนื้อหมูขาดแคลนในท้องตลาด จะได้นำออกจำหน่ายในราคาสูง จึงขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ที่ 1/2563

เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 ลงวันที่ 10 เม.ย. 2563 พิจารณาให้ความสำคัญ ออกสำรวจการกักตุนเนื้อสุกรในพื้นที่ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ อย่างเคร่งครัด

พร้อมกันนี้ ได้มีข้อสั่งการไปยังทุกจังหวัดต้องปฏิบัติตาม ดังนี้

1.ให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF โดยมอบหมายปศุสัตว์จังหวัดเป็นเลขานุการ

2.เร่งสำรวจข้อมูลฟาร์ม/จำนวนหมู/ผู้เลี้ยงหมู ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรค ASF ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเตรียมมาตรการเยียวยาตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง

3.กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เฝ้าระวัง ควบคุม กำกับ การเคลื่อนย้ายสุกรและซากให้เป็นไปตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด

4.มอบหมายสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตรวจตราป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร และกำกับดูแลร้านจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ ให้ติดป้ายราคาสินค้าอย่างชัดเจน

5.ขอให้อำเภอกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบสุกรป่วยหรือตายผิดปกติให้แจ้งอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที

6.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและช่วยเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุให้ทราบผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1567 ทันที

สงขลาประเดิมทลายก่อน 2 แสนกิโล

แฟ้มภาพ

หลังจากนั้น วันที่ 20 มกราคม 2565 มีรายงานข่าวตั้งแต่ช่วงเช้าว่า นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าฯ เป็นประธานในการร่วมวางแผนการปฏิบัติงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการตรวจสอบห้องเย็น

เนื่องจากกรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบห้องเย็นบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง พบว่าในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีการนำเนื้อหมูจากบริษัทผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์แห่งหนึ่ง เข้าเก็บรักษาไว้ที่ห้องเย็นดังกล่าว จำนวน 211,361 กิโลกรัม และวันที่เข้าตรวจสอบ (19 ม.ค.2565) พบว่ามีเนื้อสุกรคงคลัง 201,650 กิโลกรัม กรมปศุสัตว์ จึงได้อายัดไว้เพื่อรอการตรวจสอบ

พร้อมกับสั่งให้ กำหนดแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบห้องเย็นทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 21-31 ม.ค. 2565 นี้ และขยายผลเพื่อลดปัญหาการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อหมูต่อไป

ทักษิณ ชินวัตร ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย

โทนี่เปิดประเด็น ?

อย่างไรก็ตาม ชาวโซเชียลบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยมีขึ้นหลังจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือชื่อในวงการคลับเฮ้าส์ “โทนี่ วู้ดซัม” ออกมาพูดถึงปัญหาหมูแพง เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ใจความตอนหนึ่งระบุว่า

ปัญหาหมูแพงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าคิดจะแก้จริง ๆ ปัญหาคือเรารู้ปัญหาแต่ไม่แก้ปัญหา ดังนั้น มี 2 อย่าง 1.ระยะสั้น ต้องยอมนำเข้าหมู 2.ระยะยาว เร่งเอาแม่พันธุ์หมู และมาส่งรายเล็กรายกลางอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งเรื่องการเยียวยา และให้สินเชื่อเพื่อมาขุนลูกหมูใหม่ก็ให้เสีย เพื่อให้เกษตรกรเดินต่อไปได้

โทนี่ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อราคาหมูดีขึ้น จึงมีการกักตุนโดยระบบห้องเย็น มี 4-5 เจ้า ที่เก็บหมูได้ 3-4 แสนกิโล เก็บได้ถึง 6 เดือน ตรงนี้น่าจะมีการคุยกัน ขอให้ปล่อยของออกมาในขณะที่เรารอนำเข้า และรอเลี้ยงรุ่นใหม่ จึงแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1 ห้ามส่งออก เฟสที่ 2 ให้ห้องเย็นปล่อยหมูออกมา เฟสที่ 3 เอาแม่หมูมาให้รายเล็ก รายย่อย ช่วยเหลือให้เขาพอใช้ ขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนไว้ด้วย