เปิดเหตุผล จ.สุรินทร์ เลื่อนประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น 1 เม.ย.65 หลังออกตัวเป็นจังหวัดนำร่อง
วันที่ 31 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ จ.สุรินทร์ เพิ่งจะประกาศตัวเป็นจังหวัดนำร่องให้โรคโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ในวันที่ 1 เมษายน 2565 แต่ล่าสุดถูกเลื่อนออกไป จากมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ วานนี้ (30 มี.ค.)
มติดังกล่าว ได้มีคำสั่งให้เลื่อนการประกาศ โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นออกไป และจะมีการประเมินสถานการณ์หลังเทศกาลสงกรานต์อีกครั้ง อีกทั้งมาตรการที่จะปรับเข้าสู่โรคประจำถิ่นของจังหวัดสุรินทร์ ยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินของกระทรวงสาธารณสุขอยู่หลายข้อ
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ ได้ออกมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นจังหวัดนำโรคโควิด เข้าสู่โรคประจำถิ่น ประกอบด้วย
- อัตราผู้ป่วยครองเตียงผู้ป่วยหนักไม่เกิน 3% ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
- อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.5
- ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า 70%
- ประชาชนกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 80%
- ทุกหมู่บ้านมีชุดตรวจ ATK ไม่น้อยกว่า 10% ของประชากรในหมู่บ้าน
- หมู่บ้านมีการปลูกสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ 100%
- อสม.ต่อประชากรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 10 ครัวเรือนต่อ 1 คน
- ประชาชนสวมแมสก์ 100% และดำเนินการ D-M-H-T-T 100 %
- สถานที่ต้องมีมาตรการ องค์กรและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด COVID Free Setting 100%
เกณฑ์พิจารณาโควิด เป็นโรคประจำถิ่น ของ สธ.
ขณะที่ แผนการเปลี่ยนจากการระบาด (Pandemic) เป็นระยะเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic approach) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ของกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ได้ออกแนวทางการพิจารณาโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นไว้ ดังนี้
- ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน
- อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.1
- การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10
- อัตราครองเตียงระดับ 2 ขึ้นไป ของผู้ป่วยอาการรุนแรง น้อยกว่าร้อยละ 25
- กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง ได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80
โรคประจำถิ่น คืออะไร
สำหรับโรคประจำถิ่น เป็นหนึ่งในระดับการระบาดของโรคจาก 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 : Endemic (โรคประจำถิ่น)
โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป
ระดับ 2 : Outbreak (การระบาด)
สถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งในกรณีโรคประจำถิ่น แต่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือในกรณีโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว
ระดับ 3 : Epidemic (โรคระบาด)
สถานการณ์การระบาดของโรคที่แพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งโรคระบาดที่แผ่ไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นนั้นเป็นการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้
ระดับ 4 : Pandemic (การระบาดใหญ่/ทั่วโลก)
สถานการณ์การระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
สธ.ย้ำ ยังต้องเดินตามกรอบ ศบค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 ด้วยระบบของจังหวัด สามารถทำได้ แต่ในภาพรวมจะต้องเป็นไปตามกรอบมาตรการของ ศบค. และ สธ. ที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่จังหวัดก็ประกาศตัวเพื่อสร้างกำลังใจให้ประชาชน เพื่อสร้างความร่วมมือ