เด้งรับโควิด “โรคประจำถิ่น” ธุรกิจหนุนปลุกมู้ดจับจ่าย

ธุรกิจตั้งรับประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น สภาท่องเที่ยวฯวอนรัฐเดินหน้าปลดล็อกทุกเงื่อนไขเข้าประเทศโดยด่วน 1 พ.ค.นี้ อย่ารอเวลา สินค้าอุปโภคบริโภคชี้ถือเป็นสัญญาณบวก หวังคนกลับมาจับจ่าย ใช้ชีวิตคึกคักขึ้น ด้านนายกสมาคม รพ.เอกชน-สมาคมภัตตาคารไทย ยันยังเร็วไปที่จะสรุปเป็นโรคประจำถิ่น เหตุผู้ป่วยรายใหม่-ผู้เสียชีวิตยังอยู่สูง ต่างชาติยังชะลอตัว

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปักธงการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ภายในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป แต่ยังมีความท้าทายกับการที่จะควบคุมโรคให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล ไม่ว่าจะเป็น

จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อย กว่าร้อยละ 10 และกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 และอีกด้านหนึ่งในแง่ของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างก็ขานรับและเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้ชีวิตที่จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

ท่องเที่ยววอนปลดล็อกให้เร็วที่สุด

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า วันนี้รัฐบาลไม่ควรรอประเด็นการประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแต่อย่างใด ควรปลดล็อกเงื่อนไขการเข้าประเทศโดยเร่งด่วน ทั้งการตรวจ RT-PCR และการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass

รวมทั้งวางแผนยุทธศาสตร์สำหรับเดินหน้าเปิดประเทศเต็มรูปแบบได้แล้ว เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาฟื้นและเป็นเครื่องจักรสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

“การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนของคนในประเทศได้อย่างดี เพราะเป็นธุรกิจที่มีซัพพลายต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก สามารถกระจายรายได้แบบทั่วถึงอย่างแท้จริง หากท่องเที่ยวรอด ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นจะรอดตามไปด้วย”

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้สะท้อนประเด็นที่เป็นปัญหามาคือ เปิดธุรกิจแล้วแต่ยังไม่มีนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมา แต่ติดปัญหาความยุ่งยากในการเข้าประเทศ ฯลฯ สทท.จึงเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งยกเลิกมาตรการเข้าประเทศทั้งหมด ตั้งแต่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ไม่ต้องรอประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น”

กุญแจหนุนปลุกมู้ดจับจ่าย

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ

โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจกลุ่มบีเจซี และบิ๊กซี เมื่อผู้คนกลับมาใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมทุกอย่างเป็นปกติ จะส่งผลให้ร้านอาหาร ฟู้ดคอร์ต ร้านค้าเช่า ฯลฯ กลับมาคึกคักมากขึ้น เป็นโอกาสให้บริษัทมีการเติบโตทั้งในแง่ของยอดขายและกำไร

เช่นเดียวกับ นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ

กล่าวว่า หากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นจะมีผลต่อความรู้สึกของผู้คน โดยคาดว่าจะมีผลค่อนข้างมาก เนื่องจากกิจกรรมทุกอย่างจะปลดล็อก ผู้คนคลายความกังวล และกล้าออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น และจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสกลับมาเกือบจะเป็นปกติได้

นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม กล่าวว่า มองว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและภาพรวมเศรษฐกิจประเทศในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ประชาชนมีการปรับตัวการใช้ชีวิตกับโควิด รวมทั้งการฉีดวัคซีนที่กระจายได้มากขึ้น

ส่วนการเตรียมการจะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้จะนำไปสู่การเปิดประเทศนั้น มองว่าเป็นสถานการณ์ที่ยากจะคาดการณ์ในการเตรียมตัวรับมือ เนื่องจากหลายอย่างยังไม่แน่นอน สถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

“สำหรับบริษัทเองคงจะต้องดูทีละสเต็ปว่าถึงเวลานั้น รัฐบาลจะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้หรือไม่ มีปัจจัยอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้การทำงานรอบคอบ และรัดกุมในทุก ๆ ด้านมากที่สุด และเมื่อไหร่ที่มีการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นและพร้อมเปิดประเทศ ก็ต้องมาดูอีกทีว่าสถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร และพร้อมจะรับมืออย่างเต็มที่”

ธุรกิจต่างจังหวัดขานรับ

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า เห็นด้วยกับนโยบายการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่อยากจะให้ค่อย ๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไป และเห็นว่าควรคงมาตรการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง กำหนดเวลาการดื่มแอลกอฮอล์ การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ฯลฯ

ส่วนมาตรการที่เข้มงวดไป อยากให้มีการผ่อนคลายลง เช่น ยกเลิกการกักตัวกลุ่มเสี่ยง อนุญาตให้ผู้ป่วยซื้อยากินเองได้

เช่นเดียวกับ นายวิวัฒน์ ธาราวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย ย้ำว่า การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จะเปิดโอกาสให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น ปลายปีนี้จึงมีแผนจะจัดกิจกรรมใหญ่ คือ งานลอยกระทง กับงานวิ่งมาราธอน

ขณะที่นายอนันต์ ชำนาญโลหะวานิช ประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการเริ่มมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ทั้งการตรวจ ATK เอง

และช่วยเหลือลูกจ้างต่าง ๆ แต่สิ่งที่ยังกังวลคือ เกรงว่าหลังโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะมีการติดเชื้อมากขึ้น ตรงนี้ สธ.จะมีมาตรการรองรับอย่างไร ทั้งในเรื่องของการกักตัว กาทำงาน จะมีการผ่อนปรนมากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบธุรกิจ

นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นถือเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล แต่การผ่อนคลายให้เปิดด่านชายแดนควรรีบดำเนินการก่อน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) จังหวัดตาก

ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากจะเสนอให้มีการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ฝั่งตรงข้าม อ.เมียวดี ประเทศเมียนมา เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้ามาซื้อขายสินค้าได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน

โดยหลังจากได้ข้อสรุป จังหวัดจะนำเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาโดยเร็ว

จับตาตัวแปรทำแผนไม่ปัง

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสพิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาล แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า โดยส่วนตัวมองว่าขณะนี้อาจจะยังเร็วไปที่จะมีการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาด และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ตอนนี้หลาย ๆ ประเทศกลับมามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งกรณีของเกาหลี หรือจีน ที่ประกาศปิดเมืองจากการะบาดที่สูงมาก ขณะที่หลายกลุ่มยุโรปเกิดมีสงครามและภาวะค่าครองชีพสูง

ดังนั้น โอกาสที่จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ หรือกลุ่มที่จะเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยอาจจะยังมีไม่มากนัก ในภาพรวมคิดว่าในแง่ของผู้ป่วยน่าจะกลับเข้ามาปีหน้า (2566) ยกเว้นในกลุ่มที่จำเป็นจริง ๆ หรืออาจจะเป็นคนไข้จากกลุ่มซีแอลเอ็มวีบางส่วน

ด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวเสริมว่า สิ่งที่รุนแรงกว่าโควิดคือ เศรษฐกิจ ที่ขณะนี้หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มไม่ไหว สำหรับร้านอาหารเองปัจจุบันแม้จะเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนบ้าง แต่การแข่งขันก็สูงและต้องแข็งแกร่งมากถึงจะอยู่ได้ หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ส่วนตัวค่อนข้างลำบากใจ

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดแม้จะไม่รุนแรง แต่ในจำนวนยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังมีต่อเนื่อง ตลอดจนยังมีปัญหาเรื่องการรักษาและการเข้าถึงการรักษายังไม่ครอบคลุม ไม่ว่าจะสิทธิประกันสังคม สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ ถ้ายังดูแลกันไปอีกระยะหนึ่งน่าจะดีกว่านี้

“เราไม่ได้ต่อต้านนโยบายภาครัฐ เพียงแค่มองในสถานการณ์ที่เราเห็น เพราะวันนี้รอบ ๆ ตัวยังเจอปัญหาเรื่องการติดเชื้อโควิดอยู่ทุกวัน”