ชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ดันผลไม้-อัญมณี-ฟื้น ศก.

ชายพงษ์ นิยมกิจ
สัมภาษณ์

“จันทบุรีถือว่าโชคดีกว่าหลายจังหวัดอื่น ๆ ภาพรวมของเศรษฐกิจปี 2564 มีตัวเลขการเติบโต”

นี่คือคำกล่าวของ “ชายพงษ์ นิยมกิจ” ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อพูดถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ตลอดจนการทำงานของหอการค้าจังหวัดที่มุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ

โดยจังหวัดจันทบุรีมีจุดเด่น 3 เรื่องที่ทางหอการค้าพยายามผลักดันคือ 1.มหานครผลไม้ ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลไม้หรือการเกษตรให้เติบโตและสร้างรายได้เข้าประเทศให้มากที่สุด 2.นครอัญมณี เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Global Champion สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศค่อนข้างมาก และ 3.การส่งเสริมความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ

ทั้งขยายตลาด ทำ Business Matching ทั่วประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการบริหารองค์กร การบริหารหนี้ และการสร้างยอดขาย

“ชายพงษ์” บอกว่า จังหวัดจันทบุรีมีประชากรอยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 4 แสนราย คิดเป็น 60% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จังหวัดอยู่ 60% รายได้เฉลี่ย 28,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน มูลค่าตลาดผลไม้รวมทั้งหมดของประเทศไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท

โดยทุเรียนยังเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าสูงสุดด้วยสัดส่วนรายได้มากกว่า 70% จากจำนวนผลไม้ทั้งหมด ตลาดส่งออกอันดับ 1 คือจีนกว่า 97% อีก 3% ขายตลาดภายในประเทศ โดยตลาดจีนมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ขยายตัวไม่หยุด ขณะเดียวกันมาตรการ Zero COVID ของจีนกลับทำให้การขนส่งหรือโลจิสติกส์เกิดปัญหา

“เรื่องของผลไม้จันทบุรีมีหลากหลายโปรดักต์ เป็นจุดศูนย์รวมที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกและเป็นศูนย์กลางการส่งออกของภูมิภาค ตัวเลขเฉพาะของผลผลิตทุเรียนในฤดูประมาณ 4-5 แสนตัน/ปี ทั้งสามารถรวบรวมผลผลิตจากจังหวัดระยองและจังหวัดตราดได้อีกจำนวนมาก ปีที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกมีอยู่ 7 แสนตัน ในปี 2565 ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 25% คาดว่าจะส่งออกทุเรียนมากกว่า 8 แสนตันหากรวมตัวเลขผลไม้ทุกชนิดแล้วจะมีผลผลิตส่งออกมากกว่า 1.5 ล้านตัน”

เร่งแก้ปัญหาขนส่งผลไม้

ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีพยายามหาเส้นทางการส่งออกผลไม้เพิ่มเติมจากเส้นทางเดินรถที่มีอยู่กว่า 70% ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งสะดวกที่สุดและใช้เวลาเพียง 2-4 วัน แต่มาตรการ Zero COVID ของจีนทำให้เกิดปัญหา มีแนวโน้มที่ผลผลิตจะเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งสูง จึงอยากขยายเส้นทางไปทางเรือหรือทางอากาศเพิ่มเติม

ล่าสุด ที่ประชุมจังหวัดมีข้อเสนอเปิดเส้นทางใหม่จากมาบตาพุดไปเมืองจิงโจว ประเทศจีน ด้วยการจัดหาเรือพิเศษมาใช้ โดยทางเรือยังเป็นช่องทางที่ค่าใช้จ่ายถูกที่สุดแต่ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น ส่วนการขนส่งทางอากาศอาจใช้ได้ในช่วงแรก ๆ ที่ผลผลิตยังมีมูลค่าสูง เพราะค่าขนส่งทางอากาศสูงที่สุด เที่ยวละ 2-4 ล้านบาท ขนส่งได้ประมาณ 25 ตัน/เที่ยว

“ชายพงษ์” บอกว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรางจากจีน-สปป.ลาวเพิ่งเริ่มเปิด แต่ทุกอย่างยังติดขัดหลายเรื่อง มีหลากหลายประเด็นต้องแก้ไข อย่างตู้ต้องพิจารณาความเหมาะสมให้สอดคล้องกับการขนส่ง ต้องปรับปรุงเรื่องของพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ รวมถึงข้อจำกัดที่ประเทศจีนอาจจะยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการตรวจสินค้าได้อย่างทั่วถึงและเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทุเรียน

“ในปี 2565 ต้องรอลุ้นว่าการขนส่งผลไม้จากจันทบุรีไปจีนจะเป็นอย่างไรมีปัญหามากแค่ไหน เพราะมาตรการ Zero COVID ของจีนเข้มข้นมากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนเกิดผลกระทบต่อการส่งออกลำไยมาแล้ว เรามีความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อทุเรียนและมังคุดที่กำลังจะออกในช่วงนี้”

ทั้งนี้ ทิศทางการแข่งขันของตลาดผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนได้รับความนิยมจากจีนสูงมาก ประเทศไทยมีคู่แข่งเป็นเวียดนามที่เพาะปลูกส่งไปประเทศจีนได้ แต่อาจจะมีปริมาณไม่มาก

ส่วนมาเลเซียยังมีข้อจำกัดการขนส่งที่ยากลำบากกว่า ฉะนั้นประเทศไทยต้องพัฒนาเรื่องของคุณภาพให้เป็นมาตรฐาน แม้หลายประเทศจะพยายามแข่งขันแปรรูปส่งออกมากเพียงใด แต่สุดท้ายผู้คนยังนิยมบริโภคทุเรียนสดอยู่ดี

แต่หากเกิดสินค้าล้นตลาด การแปรรูปนับเป็นทางเลือกที่ต้องพัฒนา ต้องขยายตลาดไปยังประเทศอื่น อย่างประเทศเพื่อนบ้านหรืออินเดียที่เป็นตลาดใหม่ หรืออาจจะมองไกลไปยังประเทศที่มีคนจีนอยู่มาก ไม่จำเป็นต้องไปกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีนอย่างเดียว

ชูนครอัญมณี 3 หมื่นล้าน

ด้านตลาดอัญมณีก็นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมของจังหวัดที่มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท/ปี เพราะ 1.เป็นแหล่งวัตถุดิบ มีรัตนชาติที่ดีอย่างเช่น บุษราคัม (Yellow or Golden Sapphires) เขียวส่อง (Green Sapphires) ไพลิน (Blue Sapphire) แม้กระทั่งทับทิม (Ruby) ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในอดีต

2.เป็นแหล่งนำเข้าอัญมณีจากทั่วโลกเพื่อนำมาเจียระไนและทำการส่งออกต่อ นับเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดและสร้างรายได้ให้ภาคตะวันออกค่อนข้างมาก รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างธุรกิจให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตอัญมณีมาทำเครื่องประดับไปด้วย

“คาดว่าจันทบุรีเป็นแหล่งขุดอัญมณีที่พัฒนามาตั้งแต่โบราณเมื่อครั้งเป็นตลาดริมน้ำ ซื้อขายกันมามากกว่า 50-60 ปี จนกระทั่งมาเป็นตลาดพลอยค้าส่งที่ชุมชนตลาดพลอยถนนศรีจันทร์ ทำให้เกิดการซื้อขายจนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศไปถึงทั่วโลก

“ฉะนั้นพ่อค้าที่อยากได้อัญมณีจากทั่วโลกต้องมาที่จังหวัดจันทบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของจังหวัดที่เคยมีผู้ค้าอัญมณีหลักสิบราย ปัจจุบันมีอยู่ถึง 500-600 ราย”

“ชายพงษ์” กล่าวว่า ราคาอัญมณีจะขึ้นอยู่กับความสวยงามหลายปัจจัย พลอยของเมียนมาจะมีราคาค่อนข้างสูง เพราะมีจำนวนน้อย และมักอยู่ในกลุ่มของการสะสมมากกว่าการค้า

โดยอัญมณีที่ผู้คนนิยมที่สุด 3 อันดับคือทับทิมสีแดง ถัดมาเป็นไพลินสีน้ำเงิน และบุษราคัมสีเหลือง ส่วนทับทิมและพลอยส่วนใหญ่จากไทยหรือเมียนมาจะค่อนข้างหายากในปัจจุบันและมีมูลค่าสูงมาก มักอยู่ในลักษณะของพลอยที่ถูกเก็บสะสมไว้มากกว่า

สำหรับอัญมณีส่วนใหญ่ที่ผลิตและสามารถทำการค้าได้จะมาจากแอฟริกาเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการไทยเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยสัดส่วนมากกว่า 90% หรือเกือบ 100% จากการประมูล รับซื้อ ไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ เพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มในจังหวัดจันทบุรี เพื่อนำมาประดับเข้ากับเงินหรือทอง ที่สามารถเพิ่มมูลค่าและเพิ่มฐานลูกค้าได้ และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนงานเทศกาลพลอยนานาชาติต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ

หนุนโครงการฟื้นธุรกิจ

นอกจากเรื่องผลไม้และอัญมณีแล้ว “ชายพงษ์” บอกว่า มีเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนอีก 2 โครงการคือ 1.MICE City เพราะอยากพัฒนาให้จังหวัดจันทบุรีมีความพร้อมสำหรับจัดงานแสดงสินค้า พร้อมรับแขกจากพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และทั่วประเทศ

แม้จังหวัดจันทบุรีไม่ได้อยู่ใน EEC ก็ตาม 2.โครงการต่อเนื่องจากมหานครผลไม้ คือ สร้างพื้นที่ Fruit Valley ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนหลายคน ต้องมีแก้มลิงเพื่อแปรรูป ต่อยอดการเกษตรและผลไม้ในหลายมิติ

และยังมีสิ่งที่กังวลอีกคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจฐานรากและกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก

ทางหอการค้ากังวลในการบริหารจัดการหนี้สินของประชาชนกลุ่มนี้ อยากทำโครงการหอการค้าแก้หนี้ เพื่อที่จะช่วยเศรษฐกิจฐานรากให้ผ่านไปได้ ตอนนี้หลายธุรกิจหลายครอบครัวยังไม่สามารถพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาได้มาก

แม้หลังเกิดโควิด-19 จะได้เห็นความเข้มแข็งของภาคเอกชน ที่มีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารองค์กรได้ดีขึ้น มีการปรับตัวที่จะใช้ช่องทางใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจนั้นอยู่รอด ไม่ว่าจะผ่านช่องทางออนไลน์หรือการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจตัวเอง

อยากให้รัฐบาลเร่งเจรจา เพื่อให้เกิดการผ่อนผันหรือการขนส่งผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อย่างนั้นมูลค่าทางเศรษฐกิจแสนล้านจากผลไม้ที่พยุงตัวเลข GDP ประเทศในทุกภูมิภาค และรายได้ครัวเรือนจะเกิดปัญหา ตอนนี้ตลาดปลายทางมีความต้องการสินค้า ตลาดต้นทางมีสินค้า แต่ปัญหาคือการขนส่งเป็นคอขวด หากรัฐบาลไม่แก้ไขอย่างเร่งด่วนจะเกิดผลกระทบอย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“จันทบุรีถือว่าโชคดีกว่าหลายจังหวัด ภาพรวมของเศรษฐกิจปี 2564 มีตัวเลขการเติบโตสวนทางกับจังหวัดอื่นเพราะมีรายได้จากเกษตรกรกว่า 60% ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สินค้าเกษตรก็มีราคาสูง ประชาชนในจังหวัดจึงมีคุณภาพชีวิตค่อนข้างดีจนถึงดีมาก รายได้ต่อครัวเรือนสูงสวนทางจากพื้นที่อื่น แต่หากเกษตรกรเปลี่ยนทิศทางก็อาจทำให้เกิดผลกระทบหนักได้”