Phuket Sandbox สร้างรายได้ กว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราว่างงานลดลง
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การดำเนินการโครงการ Phuket Sandbox ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 รวม 304 วัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตรวม 503,468 คน โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 8 คืนต่อคน ค่า.ใช้จ่ายต่อทริป 55,000 บาท ต่อคน สร้างรายได้ทางตรงจำนวน 28,191.52 ล้านบาท รายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจ 66,816.90 ล้านบาท
ทางด้าน ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถิติการว่างงานในจังหวัดภูเก็ต ถือว่าดีขึ้นเมื่อเริ่มมีโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และ Test & Go
“หากย้อนกลับไปช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจังหวัดภูเก็ต พบว่าอัตราการว่างงานอยู่ที่ 11% ผู้เสมือนว่างงานจำนวนกว่า 40,000 คน หลังจากนั้น ไตรมาส 3 ของปี 2564 ในเดือนกรกฎาคม -กันยายน 2564 อัตราการว่างงานยังสูง 11% ผู้เสมือนว่างงานจำนวน 45,000 คน เมื่อเริ่มเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 อัตราการว่างงานเหลือ 6% เป็นตัวเลขชี้ชัดว่าการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการจ้างงาน และจำนวนผู้เสมือนว่างงานลดลงเหลือจำนวน 25,000 คน ทำให้ตอนนี้อัตราการว่างงานลดลง หากเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด
“ถ้ามองรายได้ที่เข้ามาแม้จะไม่ได้เป็นกอบเป็นกำถ้าเทียบกับปีก่อนโควิด แต่เศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา การกระจายรายได้ลงสู่ระดับรากหญ้าได้มากขึ้น เช่น ตลาดสดมีพ่อค้าแม่ค้าเริ่มขายสินค้าส่งให้กับโรงแรมมากขึ้น เป็นต้น
ตามนโยบายของนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ต้องกระจายความมั่งคั่งเข้าสู่ทุกบริเวณ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งพื้นที่ใดไม่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวต้องพัฒนา เช่น พื้นที่ชุมชน
รวมทั้งภูเก็ตเป็นเมืองที่ยังต้องยึดโยงกับการท่องเที่ยว ต้องมีการกระจายความเสี่ยงเพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าอัตราการว่างงานสูงขึ้นมาก ทำให้ภูเก็ตต้องมีเสาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเสาเดียวที่เป็นเสาการท่องเที่ยวต้องมีเสาเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเสา อาทิ เสามารีน่า เสาการศึกษา ฯลฯ เพื่อเป็นเสาค้ำหากเสาใดเสาหนึ่งล้มลง” ผศ.ดร.ชยานนท์กล่าว ที่สุด