กรีนบัสกระอักน้ำมันพุ่งขาดทุน 100 ล้านบาท-วอนรัฐปรับค่าโดยสาร

กรีนบัส

“กรีนบัส” กระอัก พิษราคาน้ำมัน-ผลกระทบโควิด 2 ปีขาดทุน 145 ล้านบาทหนักสุดในรอบ 50 ปี บวกภาระหนี้เงินกู้ซอฟต์โลนอีกกว่า 150 ล้านบาท ชี้แบกต้นทุนหนักหน่วง จำใจปรับลดเที่ยววิ่งรถ-หยุดเดินรถในบางเส้นทาง-ปลดพนักงาน วอนภาครัฐอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารโดยเร็ว หนุนช่วยเหลือค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หากราคาน้ำมันยังปรับสูงขึ้น อาจจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานอีกระลอก

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ (กรีนบัส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทขาดทุนราว 100 ล้านบาท และล่าสุดต้องแบกต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 145 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนหนักที่สุดในรอบ 50 ปีของการดำเนินกิจการ

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้หาแนวทางเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่ได้ ในสภาวะที่แทบไร้ผู้โดยสาร โดยต้องลดจำนวนรถโดยสารประจำทางลงทุกเส้นทาง เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกด้าน ลดค่าจ้าง-เงินเดือนพนักงานทุกระดับจนถึงระดับผู้บริหาร ตั้งแต่ 20-60% เพื่อพยุงสถานะของบริษัท และได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้วราว 50% จากในปี 2562 ที่มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 700 คน ปัจจุบันคงเหลือพนักงานราว 300 คน ซึ่งพนักงานที่เหลือทั้งหมดต้องปรับลดวันทำงานเหลือ 15-20 วัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท

ขณะเดียวกันบริษัทได้กู้เงินจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มาเติมสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 (2563-2564) ราว 150 ล้านบาท ซึ่งได้ทยอยนำเงินก้อนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายในช่วง 2 ปีจนหมดแล้ว และยังต้องแบกภาระหนี้ก้อนนี้ทุกเดือน โดยที่รายได้จากการเดินรถโดยสารไม่คุ้มกับรายจ่ายที่มีอยู่ทั้งหมด โดยบริษัทได้ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารที่ให้สินเชื่อแล้ว และล่าสุดกระแสเงินสดของบริษัทเริ่มตึงตัว ทำให้ต้องขอสินเชื่อ OD (Over Draft) จากธนาคาร

เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจและเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันรถโดยสาร ซึ่งปริมาณการใช้น้ำมันสำหรับเติมรถโดยสารกรีนบัสอยู่ที่ราว 1 แสนลิตรต่อเดือน เป็นเงินราว 3.5 ล้านบาท ซึ่งทุกเดือนจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ บริษัทมีรถโดยสารประจำทาง (กรีนบัส) และรถร่วมกว่า 300 คันในปี 2562 และลดเหลือเพียง 100 คัน ในช่วงโควิด-19 (2563-2564) เนื่องจากมีการปรับลดเที่ยววิ่งรถบางเส้นทาง โดยรถที่เหลือต้องจอดทิ้งไว้ และล่าสุดเหลือรถที่วิ่งอยู่เพียง 50 คันเท่านั้น เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนเที่ยววิ่งและหยุดการเดินรถอีกรอบในบางเส้นทางที่ไม่มีผู้โดยสารหรือผู้โดยสารน้อย โดยรถที่จอดทิ้งไว้ในอู่ขณะนี้รวม 250 คัน

นายสมชายกล่าวต่อว่า การปรับลดเที่ยววิ่งและหยุดการเดินรถบางเส้นทางจะเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากบริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ ทั้งยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับลดเที่ยวรถในบางเส้นทางและหยุดวิ่งบางเส้นทางเพื่อประคับประคองธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้

โดยเที่ยวรถที่จะหยุดวิ่ง ได้แก่ เส้นทาง เชียงใหม่-พะเยา, เชียงใหม่-เชียงของ, เชียงใหม่-เชียงราย-สามเหลี่ยมทองคำ, เส้นทางเชียงใหม่-เทิง, เส้นทางเชียงใหม่-เชียงม่วน และเส้นทางเชียงใหม่-แพร่ เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะปรับลดเที่ยววิ่งบางเส้นทาง อาทิ เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย จากเดิมไป 10 เที่ยว กลับ 10 เที่ยว จะเหลือไป 3 เที่ยว กลับ 3 เที่ยว หรือเชียงใหม่-ภูเก็ต เดิมวิ่ง 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ จะลดเหลือ 1 เที่ยวไป-กลับต่อสัปดาห์ เป็นต้น ซึ่งมีอีกหลายเส้นทางที่ผู้โดยสารต้องตรวจสอบก่อนการเดินทาง


นายสมชายกล่าวต่อว่า ทางบริษัทได้ประชุมร่วมกับสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เพื่อหาทางออกปัญหาที่ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ โดยเสนอให้ทางสมาคมฯเร่งรัดภาครัฐให้อนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารโดยเร็วที่สุด และเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะผู้ประกอบการแทบจะไม่สามารถเดินรถต่อไปได้แล้ว ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันยังปรับสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ ทางบริษัทอาจจำเป็นต้องมีการเลิกจ้างพนักงานอีกระลอก เพื่อประคองธุรกิจ และต้องหารือกับผู้ถือหุ้นอีกครั้ง ว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร