สำรวจเส้นทางหมื่นล้าน ราคา “มังคุด” ตะวันออกตกต่ำ

มังคุด

กลายเป็นกระแสร้อนในโลกโซเชียลภาคตะวันออกเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน สำหรับ “มังคุด” ราชินีผลไม้ของไทย ที่มีการส่งออกสร้างรายได้ปีละนับหมื่นล้านบาท แต่ดูเหมือนตลอดฤดูกาลที่ผ่านมาราคาจะตกต่ำ และไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ ทำให้ชาวสวน ผู้ส่งออกต้องดิ้นรนกันเอง

“ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสสำรวจเบื้องลึกของปัญหาต่าง ๆ จากผู้รู้ในแวดวงสะท้อนวงจรการค้าจากสวนถึงผู้ส่งออก พบว่า มังคุดภาคตะวันออก ปี 2565 ผลผลิตรวม 3 จังหวัด 221,847 ตัน มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 106,796 ตัน เพิ่มขึ้น 115,051 ตัน หรือ 107.73%

ผลผลิตจันทบุรีมากที่สุด 155,838 ตัน ตราด 46,052 ตัน และระยอง 19,957 ตัน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี)

แต่เปรียบเทียบกับปริมาณส่งออกปี 2564 ส่งออก 140,000 ตัน ปี 2565 ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นกว่า 107% แต่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 46,940 ตัน หรือ 4.9% มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท

โดยยังต้องเผชิญปัญหาซ้ำ ๆ ทำให้ราคามังคุดตกต่ำ หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลมังคุดปีนี้ จึงเห็นภาพเกษตรกรสวนมังคุดตัดโค่นต้น เพื่อปลูกทุเรียนพืชที่ให้ความหวังมากกว่า

ผลผลิตมาก-ราคาตก

นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่ทำให้มังคุดภาคตะวันออกราคาตกต่ำในปีนี้เป็นไปตามคาดการณ์ คือ มังคุดและทุเรียนออกมากตรงช่วงเวลาเดียวกัน และจีนตลาดหลักเข้มงวดมาตรการซีโร่โควิด ทำให้ระบบขนส่งล่าช้า ตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนไม่ทันและนำไปบรรจุทุเรียนที่มีมูลค่าสูงกว่า

ปัญหาแรงงานขาดแคลนค่าแรงสูง และปัญหาคุณภาพมังคุด ผลเล็กตกไซซ์ เนื้อแก้วยางไหล ผลดำ แตก ประมาณ 50% ส่งออกไม่ได้จากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ผู้ประกอบการมังคุดส่งออกยังมีน้อยรายไม่กล้าเสี่ยง

ปีนี้จึงมีโรงคัดบรรจุมังคุดเปิดน้อย ปี 2564 ผลผลิตส่งออกมังคุดไปจีนกว่า 140,000 ตัน แต่ปี 2565 ผลผลิตเพิ่มเท่าตัวกลับส่งออกได้ 146,940 ตัน (30 มิ.ย. 65) ซึ่งราคาที่ชาวสวนหลายคนรับได้เบอร์รวมยืนอยู่ที่ 35 บาท

นายธนกฤต เขียวขจี ประธานกลุ่มมังคุดดงกลาง จ.ตราด ตั้งข้อสังเกตว่า จากปัญหาของเกษตรกรชาวสวนมังคุดที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ คือ ราคามังคุดไม่มีเสถียรภาพและไม่มีมาตรฐานการซื้อขายที่เป็นธรรม มังคุดน้อยคัดเกรดน้อย มังคุดออกมากคัดเกรดเข้มข้น 8-10 เกรด ราคาบางวันขึ้นลงถึง 2-3 ครั้ง ครึ่งวันลง 40-50 บาท เย็น ๆ ลงอีก 5-10 บาท

ปีนี้ราคาต้นเดือนพฤษภาคม 7 วัน ราคาดิ่งลง 100-120 บาท เหลือ 30-35 บาท ปัญหาแรงงานเก็บเกี่ยว ค่าแรงกิโลกรัมละ 7-8 บาท ถ้ามังคุดราคา 10-20 บาท ต้นทุนค่าแรงกว่า 50% และปัญหาอุตสาหกรรมแปรรูปรองรับผลผลิตที่ส่งออกยังไม่พร้อม

“ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมราคารับซื้อจากชาวสวนตกลงมาก แต่ราคาขายส่งตลาดปลายทางไม่ได้ลดลง ดูข้อมูลราคาขายมังคุดที่ตลาดเจียงหนาน วันที่ 7 พฤษภาคม ราคามังคุดเบอร์ 3 A กก.ละ 53.43 บาท (รวมค่าแพ็ก) ซึ่งมาจากราคามังคุดชาวสวน กก.ละ 35 บาท แล้วใช้เวลา 7 วัน นำมาขายตลาดเจียงหนานได้ราคา กก.ละ185 ผลต่างก็คือ 132 บาท ชาวสวนต้องการรู้ราคาซื้อล่วงหน้า แต่ราคามังคุดไทยแต่ละวันใครเป็นผู้กำหนด” นายธนกฤตกล่าว

ตารางส่งออกมังคุด

ส่งออกมังคุดข้อจำกัดเพียบ

นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ ถือเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเกี่ยวพันกับข้อกฎหมาย โดยมีข้อจำกัด 3 เรื่อง คือ

1) เรื่องแรงงานภาคเกษตรที่ต้องนำเข้าตาม ม.64 ที่เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดไม่ได้

2) ปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากถูกล้งทุเรียนประมูลแย่งตู้ไปหมด ทำให้ต้นทุนตู้จาก 70,000-80,000 บาท ขึ้นมาเป็น 300,000 บาท และถ้าจะให้ได้ตู้จริงต้องจ่ายเงินเพิ่มให้บริษัท ชิปปิ้ง อีกตู้ละ 10,000-20,000 บาท ล้วนเป็นต้นทุนของล้งที่กำหนดราคาซื้อให้ต่ำลง รัฐต้องหาทางช่วยเหลือหาตู้มาให้เพียงพอ

และ 3) ผู้ประกอบการส่งออกมังคุดมีน้อยราย โดยเฉพาะล้งใหญ่มีเพียง 4-5 ล้ง ส่วนผู้ประกอบการส่งออกรายย่อยมีประมาณ 30 กว่าราย แต่ไม่ได้ส่งออกสม่ำเสมอ รัฐต้องมีวิธีการดึงผู้ประกอบการส่งออกรายใหญ่ ๆ ให้เข้ามามาก ๆ เหมือนทุเรียนให้เกิดการแข่งขัน

“การขายมังคุดของเกษตรกร จะมี 3 รูปแบบ คือ 1.ขายตรงให้กับล้ง 2.ขายผ่านคนของล้งที่ไปตั้งจุดรับซื้อ 3.ขายผ่านล้งขนาดเล็กที่รับซื้อมาขายต่อให้ล้งขนาดใหญ่ที่่ส่งออก และ 4.ขายผ่านนายหน้าหรือพ่อค้าที่รับซื้ออยู่ตามข้างทาง ซึ่งพ่อค้าเหล่านี้จะคัดเกรดและมาส่งล้งใหญ่อีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น การจะขายให้ได้ราคาเกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันขาย เพื่อต่อรองราคาไม่ให้ถูกพ่อค้าเอาเปรียบ การแข่งขัน คุณภาพมาตรฐาน ตามกติกาต้องคัดแยกเกรดมาตั้งแต่ในสวน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีหลายสวนที่ทำได้ผล เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มเขาคิชกูฏ จ.จันทบุรี หรือกลุ่มมังคุดดงกลาง จ.ตราด ราคาจะอัพขึ้นมา แต่ถ้าเกษตรกรยังคงเทรวมไม่คัดเกรดเอาไปขายพ่อค้าข้างทางจะถูกกดราคาต่ำมาก

มาตรฐานของไซซ์มังคุดส่งออกจะแยกเป็น 5 เบอร์ คือ 6A ประมาณ 6-8 ลูก/กก., 5A ประมาณ 7-10 ลูก/กก., 4A ประมาณ 10-12 ลูก/กก., 3A ประมาณ 12-14 ลูก/กก., 2A ประมาณ 14-16 ลูก/กก. ส่วนใหญ่ล้งต้องการเบอร์ 3A และ 4A ส่วนการที่จังหวัดบังคับใช้กฎหมายให้ติดป้ายราคารับซื้อแต่ละเบอร์ควรให้กลุ่มคนที่ซื้อข้างทางปิดป้ายราคาด้วย ชาวสวนจะได้รู้ราคาล่วงหน้า”

ล้งใหญ่ชี้ชะตาราคาขึ้น-ลง

แหล่งข่าวจากวงการผลไม้จังหวัดจันทบุรีกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีล้งมังคุดบริษัทใหญ่ที่ทำส่งออกตลาดจีน 4-5 บริษัท ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา แต่ไม่ใช่การฮั้วกัน เป็นการกำหนดราคาของแต่ละล้ง มีความใกล้เคียงกันและแบ่งพื้นที่กันรับซื้อ ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.ของทุกวัน ล้งใหญ่จะแจ้งราคารับซื้อ

ส่วนล้งเล็ก ๆ หรือโรงแพ็กจะตั้งราคาตามล้งใหญ่ในอัตราที่ต่ำกว่า กก.ละ 20-30 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการและผลกำไร แล้วนำมาส่งล้งใหญ่ ล้งที่รับซื้อหน้าล้งจากชาวสวนและส่งคนมารับซื้อตามลานรับซื้อมังคุด หรือริมทางมาแพ็กส่งเอง ส่วนต่าง กก.ละ 10-20 บาท โดยมากจะซื้อเหมามังคุดเบอร์รวม โรงแพ็กจะไปคัดแยก 4-5 เบอร์ส่งล้งใหญ่ส่งออก จะได้ส่วนต่างของราคามาก

“ปัญหาการกำหนดราคาของล้งใหญ่ 4-5 ล้ง ล้งที่รับซื้อเองไม่รู้ราคาปลายทางที่ตลาดจีน จะซื้อโดยตั้งราคาเผื่อไว้ล่วงหน้า 5-7 วัน ถ้าช่วงผลผลิตมากและปริมาณตู้ส่งออกมาก ราคาจะต่ำ ถ้าปริมาณมังคุดน้อยราคาสูง เมื่อเปิดตู้ที่ตลาดปลายทางจีนจะตีราคา จากต้นทุน ค่าชิปปิ้ง ค่าการตลาด ภาษียกเว้นแบรนด์ดี ๆ จะราคาแน่นอน จะมีลูกค้าเหมายกตู้ไป ตลาดจีนประกาศราคามังคุดพรีเมี่ยม

แต่จริง ๆ เปิดตู้มามังคุดจะมีเกรดราคาพรีเมี่ยม 50% มีเสียหายจากต้นทาง การขนส่ง ราคาขายจะลดลงตามสภาพ การทำตลาดแต่ละครั้ง ล้งส่งออกจะประเมินราคารับซื้อที่ไม่ขาดทุน และราคาตลาดจีนจะปรับรอบ 7-15 วัน ที่ขนส่งสินค้า ราคาที่ประกาศตลาดปลายทางบางครั้งจึงไม่สอดคล้องกับราคามังคุดไทย ผู้ค้าบางคนมีฉวยโอกาสปรับราคากันทุกวัน หรือตามเวลาปิดตู้ บางวันมี 3 ราคา เมื่อมังคุดราคาถูกพ่อค้าข้างทางจะมีหลายรายและคัดกันเข้มข้นเป็นโอกาสล้งที่จะซื้อมังคุดได้ราคาต่ำ” แหล่งข่าวกล่าว

ต้นทุนแรงงาน-ขนส่งพุ่ง

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการผลไม้ยุคใหม่และผู้ส่งออกมังคุดในนามล้ง “อรษา” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาผู้ส่งออกมังคุดที่มีผลต่อราคารับซื้อมังคุด มี 2 ปัจจัยหลัก คือ แรงงานที่นำเข้า MOU ที่ผ่านบริษัทเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 25,000 บาท/คน และช่วงกักตัวโควิด-19 ต้องเสียเพิ่มอีก 9,000 บาท/คน ทำให้เป็นต้นทุนสูงมาก

ล้งที่ทำมังคุดส่งออกวันละ 3-5 ตู้ต้องใช้แรงงานประจำ 200 คน เป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 4 ล้านบาท และคนงานที่เข้ามาบางครั้งยังไม่ครบกำหนดไปอยู่กับนายจ้างคนอื่นโดยที่เรียกร้องเอาเงินคืนไม่ได้

ภาครัฐควรดูแลให้การนำเข้าแรงงานถูกลง และปัญหาระบบการขนส่ง ทำให้รถติดที่ด่านเพราะนโยบายซีโร่โควิดของจีนทำให้การหมุนเวียนของตู้ไม่เพียงพอ และตู้ถูกบริษัทส่งออกล้งใหญ่ ๆ จองใช้หมด ผู้ส่งออกรายย่อย ๆ เข้าไม่ถึง ราคาตู้ไปทางบกปรับเพิ่มขึ้นจาก 80,000 บาท เป็น 250,000 บาท ค่าเฟรตเรือเพิ่มจากตู้ละ 1,500 เหรียญดอลลาร์ เป็น 8,500 เหรียญดอลลาร์ เครื่องบิน 15-20 ตัน ไฟลต์ละ 1.2-1.6 ล้านบาท

“รายจ่ายค่าขนส่ง 60% รายจ่ายต้นทุนมังคุด 40% ปัญหาการขนส่งที่ล่าช้า เกิน 7 วัน เป็น 15-30 วัน ทำให้มังคุดเสียหาย ต้องไปใช้ขนส่งทางเครื่องบินที่ต้นทุนสูงมาก ขอให้ชาวสวนเข้าใจตลาดเปลี่ยนความคิดว่าล้งกดราคา สินค้ามีวัฏจักรขึ้นลง ถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้พ่อค้าอยู่ไม่ได้” นายมณฑลกล่าว

แนะแปรรูปเพิ่มมูลค่า

นางสาวรุจิณี สันติกุล เจ้าของสวนสุขจิตต์ อ.เขาสมิง จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหามังคุดราคาตกต่ำว่า ถ้าทำให้ผลผลิตกระจายตัว มีผลผลิตเป็นรุ่น ๆ ปริมาณมังคุดไม่กระจุกตัว ส่วนปัญหาคุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับฝน ช่วงแรกคุณภาพ 70% ช่วงหลังเหลือเพียง 30% ทำให้ท้ายฤดูราคายิ่งลดลงและถูกพ่อค้าคัดมากขึ้น ควรแปรรูปเชิงอุตสาหกรรมให้ครบวงจรเพื่อเพิ่มมูลค่า ช่วงต้นฤดูขายเนื้อ ช่วงท้ายขายเปลือก จะเป็นความยั่งยืนของเกษตรกรสอดคล้องกับผลผลิตที่ออกมา

นายวศิน พัฒนวงศ์สุนทร รองประธานกลุ่มมังคุดดงกลาง อ.เขาสมิง จ.ตราด กล่าวว่า ถ้าทำมังคุดออกต้นฤดูได้ปริมาณน้อยจะราคาดี และน่าจะมีการสนับสนุนการแปรรูป และเผยแพร่ความรู้งานวิจัยเกี่ยวกับมังคุดเนื้อแก้วกับเกษตรกร เพราะปริมาณมังคุดคัดเป็นเนื้อแก้ว เบอร์ตกไซซ์ประมาณ 20% และราคาต่ำมาก

ด้าน นายกฤติเดช อยู่รอด เลขาธิการสมาคมทุเรียนและเจ้าของสวนมังคุด อ.มะขาม จ.จันทบุรี กล่าวว่า หากปี 2566 ยังไม่มีการเตรียมตัว ปัญหาทุกอย่างจะเหมือนเดิมแต่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น เพราะปริมาณทุเรียนจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 20% ถ้ามาตรการซีโร่โควิดยังมีอยู่ปัญหาตู้ที่ใช้บรรจุมังคุดอาจจะไม่มี การเตรียมตัวระบบการขนส่งเส้นทาง ทางบกที่น่าจะมีปัญหา คือ R8 R9 R12 เส้นทางที่น่าจะใช้ได้ดี คือ R3 A และรถไฟจีน-ลาว ที่ผ่าน สปป.ลาวต้องมีการเจรจากันทั้งระดับรัฐและองค์ ภาคเอกชนในเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกัน


รวมทั้งส่งเสริมจัดหาผู้ประกอบการส่งออกมังคุดเพิ่มขึ้น ปัญหาเรื่องแรงงาน เกษตรกรต้องทำคุณภาพรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหา สมาคมทุเรียนไทยได้เตรียมการเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่มีช่องทางหรือเวทีที่ตัวแทนภาคเกษตรกรจะสื่อสารไปถึง ถึงเวลาที่เกษตรกรชาวสวนมังคุดรวมตัวกัน จัดตั้งสมาคมมังคุดไทย เพื่อเป็นตัวแทนผลักดันเรื่องต่าง ๆ