ล้งหวั่นทุเรียนไทยราคาร่วง ตั้งรับจีนไฟเขียวเวียดนามนำเข้าผลสด

ล้งทุเรียน

ล้งจันทบุรีหวั่นจีนไฟเขียวเวียดนามนำเข้าทุเรียนผลสด กระทบตลาดทุเรียนไทยในจีนราคาร่วงหนัก แนะผู้ประกอบการเตรียมตั้งรับรักษาคุณภาพผลผลิตทุเรียนไทย พร้อมเร่งปรับตัวตั้งโรงงานแปรรูป ทำทุเรียนแช่แข็ง หาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น สร้างตลาดกลางทุเรียนที่จันทบุรี

นายสัญชัย ปุรณชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย และเจ้าของล้ง ดรากอน เฟรช ฟรุท จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่ประเทศจีนอนุญาตให้เวียดนามนำเข้าทุเรียนผลสดได้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 นั้น คาดว่ายังใช้เวลาอีก 15 วัน ขั้นอนุมัติเรื่องเอกสาร

ทั้งนี้ ทุเรียนไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบ เพราะจะถูกทุเรียนเวียดนามแย่งตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่าแน่นอน ด้วยปัจจัยสำคัญ ๆ คือ ต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งรวมค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ยาที่ราคาถูกกว่า การขนส่งระยะทางสั้นกว่า ใช้ระยะเวลาเพียง 36 ชั่วโมง ขณะที่การขนส่งจากประเทศไทยอย่างเร็วที่สุดใช้เวลา 3-4 วัน และทุเรียนเวียดนามจะตัดแก่ตรงกับความต้องการของตลาดจีน

ทั้งนี้ ทุเรียนไทยต้องยอมรับว่าจะถูกปรับราคาลงตามกลไกตลาด และอนาคตไทยยังต้องประสบกับประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ แต่มั่นใจว่าตลาดทุเรียนไทยยังไปได้ดี ถ้ายังรักษาคุณภาพมาตรฐานคุณภาพดี และปัญหาระบบการขนส่งต้องได้รับความสะดวกรวดเร็ว

“ผลกระทบระยะสั้นปีนี้ยังมีไม่มากนัก เพราะทุเรียนภาคตะวันออกหมดเร็ว จะกระทบกับทุเรียนทางใต้ ตั้งแต่รุ่น 1 ของจังหวัดชุมพรจะหมดเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งราคายังดีอยู่ เหลือรุ่นต่อไปอีก 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และยะลา จะหมดปลายเดือนสิงหาคม ปริมาณทุเรียนเวียดนามที่ส่งออกประมาณวันละ100 ตู้ ปริมาณกว่า 1,000 ตัน ที่ผ่านมามีล้งจีนเข้าไปลงทุนรับซื้อทุเรียนในเวียดนามอยู่แล้ว

โดยทุเรียนเวียดนามที่มีชื่อเสียงเหมือนสายพันธุ์หมอนทองของไทย คือ รีเชา (RI 6) ที่ลักษณะเนื้อเหลืองคล้ายพันธุ์พวงมณี ทรงพูคล้ายก้านยาว ทุเรียนไทยต้องย้อนกลับไปยุคแรก ๆ ที่ส่งออกเป็นทุเรียนแก่ ต่อมาส่งออกไปจีนมากมีทุเรียนอ่อน จึงมีการกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งเพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพ เราต้องยืนคุณภาพ โดยเฉพาะความแก่เปอร์เซ็นต์ของเนื้อแป้ง ทำให้รสชาติจะหวานอร่อย ซึ่งเป็นจุดเด่นของทุเรียนไทยที่จีนชื่นชอบ” นายสัญชัยกล่าว

นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติทุเรียนเวียดนามส่งเข้าไปขายในจีนผ่านทางการค้าชายแดนมาก่อน โดยมีล้งจีนไปจัดการซื้อขาย ราคาทุเรียนเวียดนามจะต่ำกว่าไทยประมาณ 50% เพราะต้นทุนการผลิตถูกกว่าทั้งการขนส่ง ค่าแรงงาน เมื่อเวียดนามนำทุเรียนผลสดเข้าจีนได้ตามพิธีสาร ต้องมีการควบคุมการผลิต

การส่งออกเช่นเดียวกับไทย ปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้โอกาสที่ทุเรียนไทยจะแข่งขันในตลาดยากขึ้น ราคาทุเรียนต้องมีการปรับตัวลงแน่นอน เพราะต่อไปมีคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ อีก

ปัญหาการแข่งขันของทุเรียนไทยในตลาดจีนไม่ใช่เพียงเรื่องคุณภาพหรือทุเรียนอ่อน แต่ปัญหาระบบการขนส่งที่ล่าช้าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก บางเที่ยวเสียหายครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนขาดทุนจำนวนมาก

จีนอนุญาตเวียดนามนำเข้าทุเรียนผลสดเข้าไปขายในตลาดจีนได้ เป็นช่วงเดียวกับที่ทุเรียนทางภาคใต้ออก แต่ปีนี้ปริมาณทุเรียนภาคใต้มีน้อย ต่อไปรสชาติ สีสันทุเรียนใช้ปุ๋ย ยา ปรุงแต่งได้ เวียดนามสามารถพัฒนาทันทุเรียนไทยได้ไม่ยาก

ปีนี้มีล้งที่ไม่ใช่มืออาชีพจริง ๆ มาทำทุเรียนกันมาก เพราะทุเรียนราคาดี จากนี้คงต้องถอนตัวกันออกไป ผู้ประกอบการที่ยังทำอยู่น่าจะเตรียมปรับตัวจากซื้อผลสดส่งออก มาเป็นทำโรงงานห้องเย็นแช่แข็ง หาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น แต่ตลาดจีนยังคงมีความสำคัญต้องรักษาไว้ คนจีนเองชอบทำการค้ากับไทย คนจีนรักสุขภาพกล้าซื้อทุเรียนราคาแพงถ้าคุณภาพดี การปรับไซซ์ทุเรียนเล็กลงจะสอดคล้องกับตลาด

“แนวทางการพัฒนาทุเรียนไทยต่อไปภาครัฐต้องสนับสนุนการตั้งโรงงานแช่แข็ง โรงงานที่ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในวงจรธุรกิจทุเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีจะต้องมีการปรับแก้ผังเมืองบางจุดจากพื้นที่สีเขียว สีเหลืองต้องปรับแก้ไขให้ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรได้ และส่งเสริมให้สร้างตลาดกลางผลไม้ที่จันทบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าผลไม้ของประเทศไทยตลอดทั้งปี เพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่มารวมตัวกัน และกระจายสินค้าออกไป ผู้ประกอบการเองสะดวก ไม่ต้องขนย้ายไปยังโรงงานนอกจังหวัดไกล ๆ ที่มีต้นทุนค่าขนส่ง การตั้งอยู่ในพื้นที่จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย ลูกค้าต่างจังหวัดทั่วประเทศมาสั่งซื้อผลได้ที่ตลาดกลางจันทบุรีได้ นี่คือ ความหมายของมหานครผลไม้จริง ๆ” นายภานุวัชร์กล่าว

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่เวียดนามจะนำเข้าทุเรียนผลสดไปยังตลาดจีนได้ ต้องรอประกาศจากศุลกากรแห่งชาติจีน ซึ่งตอนนี้ทางการจีนยังไม่มีการประกาศอัพเดตบัญชีรายการผลไม้ที่อนุญาตนำเข้า หรือประกาศเงื่อนไขในการนำเข้าทุเรียนอย่างเป็นทางการลงบนเว็บไซต์ของศุลกากรจีน ซึ่งปกติหลังจากลงนามต้องมีกระบวนการดังกล่าวก่อน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องรักษาคุณภาพสินค้าทุเรียนให้ดี เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างต้องการแย่งชิงตลาดทุเรียนของไทย ดังนั้น คุณภาพเท่านั้นที่จะทำให้คนจีนเชื่อมั่นและพอใจ โดยคนจีนชอบบริโภคทุเรียนมาก