ส่องธุรกิจใหม่ สหพัฒน์ โตแล้วแตก ขุมทรัพย์แสนล้าน

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่าน “สหพัฒน์”ได้มีความเคลื่อนไหวในการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทในเครืออย่างมีนัยสำคัญ

เริ่มจากต้นเดือน (3 ต.ค.) บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ประกาศการร่วมลงทุนใน บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL ที่จะเริ่มขยายธุรกิจด้วยการลงทุนในธุรกิจให้สินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยมุ่งเน้นลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ ผ่านการลงทุนใน บริษัท ออกซิเจน แอสเซ็ต จำกัด บริษัทย่อยของธนูลักษณ์ รวมทั้งจะต่อยอดการลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่มีหลักประกันและจะร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ศักยภาพสูง ร่วมกับทางบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) อีก 7 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2,400 ล้านบาท

ถัดมากลางเดือน (18 ต.ค.) บริษัท สหพัฒน์เรียลเอสเตท จำกัด ได้ร่วมกับ แสนสิริ และ บริษัท สห โตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ตั้งบริษัทร่วมทุนพัฒนาอสังหาฯ ในนามของบริษัท สิริ ทีเค ไฟว์ จำกัด เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ตารางผลดำเนินงาน

นี่คือขยายฐานธุรกิจออกไปสู่น่านน้ำใหม่ของ สหพัฒน์ จากเดิมที่ใคร ๆ มักจะคุ้นเคยกับภาพการเป็นบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ฯลฯ

สวนทางกับหลาย ๆ บริษัทอาจจะยังมีความกังวลในเรื่องของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและปัญหาที่รุมเร้ารอบทิศ

ขายทุกอย่างตามความต้องการ

อีกด้านหนึ่ง การแตกไลน์ธุรกิจที่เกิดขึ้น อาจสะท้อนจากวิธีคิด-การขยายการลงทุน ที่ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ในวัย 85 ปี ที่ดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากถึง 15 บริษัท และมีรายได้รวมนับแสนล้านบาท ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึงทิศทางของเครือสหพัฒน์ในอนาคตว่า

“…หากเครือสหพัฒน์ เป็นบริษัท 100 ปี หวังว่าอนาคตเราจะเป็นกิจการที่ขายของทุกอย่าง ตามความต้องการของผู้ซื้อ ครอบคลุมมากกว่าปัจจัย 4 อาหารเสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และขายสินค้าอื่น ๆ เช่น อาจจะทำธุรกิจขายคอนโดฯ สินค้าเทคโนโลยี สินค้าที่ควรทำเร็ว คือ กลุ่มสินค้าของกิน อาหาร น่าจะขยายตัวได้ดีที่สุดในเวลานี้ รวมทั้งพวกกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ควรลงทุน”

“…ปัจจุบันเครือสหพัฒน์มี 300 บริษัท จะไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 หรือ 1,000 บริษัท แต่จะถูกรวมเข้าด้วยกันเหลือ 200 หรือ 100 บริษัทเท่านั้น”

“…การค้าขายแต่ละยุคไม่เหมือนกันธุรกิจในเครือสหพัฒน์มีมากกว่า 100 แบรนด์ ทุกครั้งที่มีวิกฤต ถ้าเรามองลึกลงไปก็เป็นโอกาส อยู่ที่ว่าเราปรับตัวเป็นหรือไม่เป็น ถ้าปรับตัวดีก็คือโอกาส ถ้าผ่านพ้นได้ ก็คือโอกาส”

“…เทรนด์ของสินค้าเครือสหพัฒน์ จากนี้กลุ่มสินค้าเฮลท์แคร์จะมาแรง เรามีสินค้ากลุ่มนี้หลายรายการ แถมมีวิธีการขายแบบใหม่ ๆ ในช่องทางออนไลน์ ยังมีการขายแบบซับสคริปชั่น (subscription) ขายระบบสมาชิก แทนการขายสินค้าเป็นรายชิ้นเหมือนในอดีต หรือการขายผ่านตู้หยอดเหรียญ”

ตัวอย่างคำกล่าวของแม่ทัพใหญ่ สหพัฒน์ นี้ อาจสะท้อนรูปธรรมการลงทุนที่เริ่มขยายไปสู่น่านน้ำใหม่ ๆ ของ สหพัฒน์ ได้เป็นอย่างดี

“เอสพีไอ” หัวหอกลงทุน

นอกจาก 2 ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น หากย้อนกลับไปจะพบว่าที่ผ่านมา บริษัทในเครือสหพัฒน์ได้มีความเคลื่อนไหวในการรุกคืบธุรกิจใหม่มาเป็นระยะ ๆ โดยมี สหพัฒน์อินเตอร์โฮลดิ้ง หรือ เอสพีไอ เป็นหัวหอก

เป็นที่รับรู้กันดีว่า นอกจาก เอสพีไอ จะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสวนอุตสาหกรรมของกลุ่มสหพัฒน์แล้ว เอสพีไอ ยังทำหน้าที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งหลักและถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มสหพัฒน์ มีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภค และอื่น ๆ

ก่อนหน้านี้ (ส.ค. 62) เอสพีไอ ยังได้ร่วมกับ บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด และบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท เอสแอลวี รีเทล จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ LAWSON 108 บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และได้มีการขยายการลงทุน ด้วยการเข้าไปถือหุ้นใน บริษัท ไทย บุนกะ แฟชั่น จำกัด โรงเรียนสอนออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งการตั้งบริษัทย่อย บริษัท ควอนตัม เอสดีจีเอ็ม จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (31 ม.ค. 65)

นอกจากนี้ ยังได้รุกคืบเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกทางหนึ่ง ด้วยการตั้งบริษัท ออกซิเจน แอสเซ็ท จำกัด และจากนั้นไม่นาน ออกซิเจน แอสเซ็ท ก็ได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท บริหารสินทรัพย์ โกลบอล เบสท์ จำกัด ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บริหารสินทรัพย์ ออกซิเจน จำกัด

บุกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ขณะที่ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งที่ผ่านมา สหพัฒน์ ได้ใช้ บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิม คือ บริษัท เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ จำกัด บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ ผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพและอนามัย เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

โดย ทีพีซีเอส ได้ตั้งบริษัท ทีพีซีเอ็กซ์จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เริ่มมีการศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2564 ตามมติคณะกรรมการบริษัท เพื่อศึกษาและลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซี รวมถึงการรับเป็นที่ปรึกษาและรับจ้างผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงการรับเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการงานขายสินค้าออนไลน์

จากนั้นพีทีซีเอ็กซ์ก็ได้เริ่มทยอยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นระยะ ๆ พร้อมเป้าหมายการก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี blockchain

ควบคู่กับการเดินหน้าขยายตลาดทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์และผลิตภัณฑ์สุขอนามัย ผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ ชุด PPE เกรดทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ฯลฯ ตลาดที่มีอนาคตสดใส

เพิ่มน้ำหนักธุรกิจพลังงาน

ที่น่าสนใจอีกธุรกิจหนึ่งคือ ธุรกิจพลังงาน ที่ดำเนินงานผ่าน บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่มีประสบการณ์ในตลาดนี้มานานกว่า 25 ปี นอกจากการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้บริษัทในเครือสหพัฒน์แล้ว ยังขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย และที่ผ่านมา สหโคเจน ยังได้ขยายการลงทุนไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ

เช่น การลงทุนใน บริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดหาระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar rooftop) การจัดตั้งบริษัทย่อย บริษัท สหโคเจน กรีน จำกัด เพื่อดำเนินโครงการผลิตพลังงานความร้อนร่วมชีวมวล เป็นต้น

ที่ถือเป็นไฮไลต์และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การกำหนดทิศทางกลยุทธ์ทางธุรกิจด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและเสริมสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ และเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยมี บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วนร้อยละ 51 และสหโคเจน จะเป็นบริษัทแกนนำในการมุ่งเน้นนโยบายการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าผ่านการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดย่อมทั้งภายใน และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นี่อาจจะเป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของการเดินหน้าขยายการลงทุนเพื่อแตกไลน์ไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ของสหพัฒน์ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการผลิตและการจัดจำหน่าย

หากสังเกตจะพบว่าการลงทุนกลุ่มสหพัฒน์ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการเน้นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเป็นกลยุทธ์ที่ “วิน-วิน”

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดภาระการลงทุนในระยะเริ่มต้นของบริษัทแล้ว อีกด้านหนึ่งจะช่วยให้บริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมลงทุน ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงพันธมิตรทางธุรกิจเพียงรายใดรายหนึ่งได้อีกด้วย