JSP ผนึกแฟร์เท็กซ์ลุย ตปท.รุกยาอาหารเสริม/ซื้อธุรกิจเติมพอร์ต

JSP

“เจเอสพี” ต่อยอดยุทธศาสตร์บาลานซ์พอร์ตกันเหนียว วางแผนหนึ่ง-สอง รับมือทุกแนวโน้มเศรษฐกิจปี’66 ทั้งผนึกพันธมิตร “แฟร์เท็กซ์” ลุยตลาดต่างประเทศ พร้อมเดินสายช็อปกิจการเสริมพอร์ต เผยโรงงาน-การผลิตพร้อม ลุยตลาดเสริมอาหาร-ยา เต็มสูบ โฟกัสทีวีช็อปปิ้ง ทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม กางแผนเจาะกลุ่มสูงวัย-ป่วยเรื้อรังโรคฮิต เบาหวาน ความดัน เป็นลูกค้าประจำ หวังสร้างรายได้ระยะยาว ย้ำมั่นใจโตได้ทุกสถานการณ์

นายพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP  ผู้ผลิตและจําหน่ายยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชภัณฑ์ ฯลฯ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า (OEM) และเครื่องหมายการค้าของบริษัท อาทิ สุภาพโอสถ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปี 2566 ที่ยังคาดการณ์ได้ยาก

เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าจะโรคระบาด สงคราม ฯลฯ ทำให้บริษัทตัดสินใจปรับทิศทางธุรกิจ และแนวทางการลงทุนในปี 2566 พร้อมวางแผน A และ B เอาไว้ เพื่อให้พร้อมรับมือสร้างการเติบโตได้ในทุกสถานการณ์

ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่สถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยนัก บริษัทจะเน้นการขยายฐานบริการผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า (OEM) ออกสู่ตลาดต่างประเทศแบบก้าวกระโดด ด้วยการจับมือแบรนด์ไทยที่มีธุรกิจในต่างประเทศอยู่แล้ว และกำลังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจมายังกลุ่มสินค้าสุขภาพหรือสินค้าดูแลส่วนบุคคล อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร เวชภัณฑ์ ฯลฯ ที่ตรงกับความเชี่ยวชาญของบริษัท เพื่อร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาและผลิตสินค้าสำหรับส่งออกไปยังต่างประเทศ

กลยุทธ์นี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าที่บริษัทผลิตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศมากขึ้น ช่วยสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นในฐานะผู้ผลิต รวมถึงยังเป็นโอกาสศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาพตลาดของแต่ละประเทศที่ส่งสินค้าไปได้ด้วย สำหรับเป็นฐานต่อยอดก่อนส่งสินค้าโอว์นแบรนด์อย่าง สุภาพโอสถ ออกไปรุกตลาดโลกในอนาคต

“แต่เดิมกว่าเราจะปั้นแบรนด์ให้ดังในไทยได้ ต้องลองผิดลองถูกอยู่นาน แต่กลยุทธ์นี้จะเหมือนทางลัด ที่ช่วยให้สินค้าของเรากระจายไปยังหลายประเทศในคราวเดียว พร้อมเรียนรู้ลองผิดลองถูกเก็บประสบการณ์ไปด้วยกันกับพันธมิตร โดยแทนที่จะจับมือแบรนด์ต่างชาติก็จับมือกับแบรนด์คนไทยแล้วหาจุดร่วม สร้างสินค้าที่มาจากวัตถุดิบไทย มีความเป็นไทยเพื่อส่งออกต่างประเทศ เพราะนอกจากจะช่วยทั้งเราและพันธมิตรแล้วยังสร้างการรับรู้ให้ประเทศไทยด้วย”

ผนึกกำลัง “แฟร์เท็กซ์”

นายพิษณุ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้บริษัทจับมือกับ “แฟร์เท็กซ์” (Fairtex) ผู้ผลิตสินค้ากีฬาต่อสู้หลายรูปแบบ เช่น มวยสากล, คิกบ็อกซิ่ง, ยูยิตสู และอื่น ๆ วางจำหน่ายใน 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมียิมฝึกมวยในสหรัฐอเมริกา และกำลังมีแผนแตกไลน์สินค้าไปยังกลุ่มคอสเมติกส์ เช่น สบู่ น้ำมันมวย ฯลฯ ที่จะเน้นการเจาะกลุ่มผู้เล่นกีฬาต่อสู้ เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพ-สุขอนามัย หลังต้องมีการสัมผัสพื้นบ่อยกว่ากีฬาอื่น

ซึ่งตลาดนี้เป็นตลาดที่มีช่องวางและมีการแข่งขันต่ำ จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก และเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของบริษัททั้งด้านการพัฒนาสูตรและผลิตสินค้าสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ยาแผนโบราณ อาหารเสริม สปอร์ตนิวทริชั่น และเพอร์ซันนอลแคร์ ฯลฯ

โดยมีสินค้าตัวแรกคือ น้ำมันมวย พร้อมจุดขายพิเศษด้านกลิ่น อาทิ กลิ่นส้ม และกลิ่นเปปเปอร์มินต์ ต่างจากน้ำมันมวยแบบเดิม ๆ ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวเพียงแบบเดียว นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสบู่ฆ่าเชื้อเพื่อตอบโจทย์นักกีฬาต่อสู้ที่มักป่วยด้วยการติดเชื้อบนผิวหนังจากการสัมผัสพื้นเวทีอีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการอื่น ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ เน้นธุรกิจที่มีความมั่นคงในระยะยาวอย่าง มีสินค้า-บริการเป็นกลุ่มปัจจัย 4 ที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ ซึ่งแม้ไม่เติบโตหวือหวา แต่จะสร้างรายได้ต่อเนื่องในระยะยาว โดยได้แจ้งเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯไว้แล้ว แบ่งเป็นการลงทุนขยายกิจการในลักษณะการลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพไม่เกิน 170 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทย่อยเพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรม และโรงงานผลิตขนาดเล็กไม่เกิน 60 ล้านบาท

กางแผนบุกยา-อาหารเสริม

ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการขายและการตลาด  บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี ยังระบุด้วยว่า สำหรับแผนกรณีเศรษฐกิจฟื้นกลับมา บริษัทจะลุยทำตลาดยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศไทยเต็มที่ โดยโฟกัสการทำตลาดในทีวีช็อปปิ้งทั้งช่องทางเคเบิลและดาวเทียม เน้นสร้างลูกค้าขาประจำจากกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน หัวใจ-หลอดเลือด ไต ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนใจและลงทุนกับสุขภาพมากเป็นพิเศษ

รวมถึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมสูงวัย และปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยอาศัยทั้งการสื่อสารให้ความรู้ด้านสุขภาพ การปรับพฤติกรรมการบริโภค ร่วมกับการใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของบริษัท ซึ่งหากสามารถเข้าถึงคนเหล่านี้ได้จะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมั่นคงในระยะยาว

รวมถึงจะมีสินค้ากัญชาออกมาในช่วงไตรมาส 1-2 เน้นสรรพคุณด้านทำให้นอนหลับ คลายกังวล ลดปวด รวมถึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบโออีเอ็มที่อยู่ระหว่างทดสอบด้านความปลอดภัยร่วมกับบริษัทยาเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผลข้างเคียงในการทำให้มึนเมา

โดยที่ผ่านมาบริษัทลงทุนสร้างฐานการผลิตและสำรองงบฯการตลาดเตรียมไว้รองรับการขยายฐานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสร้างไลน์การผลิตซอฟต์เจลหรือแคปซูลแบบนิ่มเพิ่ม มีกำหนดเดินเครื่องในไตรมาสแรกปี 2566 ขณะเดียวกันยังลงทุนเพิ่มกำลังผลิตยา ทำให้ต้นปีหน้ากำลังผลิตร่วมจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า ส่วนงบฯการตลาดนั้นยกมาจากปี 2565 ซึ่งบริษัทตัดสินใจชะลอการใช้มาตั้งแต่ต้นปี หลังเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นช้ากว่าที่คาด”

“ยุทธศาสตร์บาลานซ์พอร์ตนี้ต่อยอดมาจากการมีพอร์ตยาแผนปัจจุบัน ช่วยให้บริษัทผ่านวิกฤตมาได้หลายครั้งตลอดหลาย 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ฝั่งยาแผนปัจจุบันเป็นตัวพยุงบริษัท หรือช่วงน้ำท่วมใหญ่มีออร์เดอร์ยารักษาโรคน้ำกัดเท้าสูงจนผลิตไม่ทัน ส่วนช่วงวิกฤตการเมืองยังมีออร์เดอร์ผลิตยาจากสภากาชาดไทย” นายพิษณุย้ำ

ทั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานผลประกอบการราย 9 เดือน ปี 2565 ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯที่ระบุว่า รายได้จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดลงเพราะผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่าย แต่รายได้จากยาแผนปัจจุบันเพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อของลูกค้าเพิ่มขึ้น และการขยายกำลังผลิต ทำให้บริษัทมีรายได้ 287.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6%

ส่วนรายได้เฉพาะไตรมาส 3 อยู่ที่ 104.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังขาดทุนสุทธิ 4.7 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 11.8 ล้านบาท