มหิดล-จุฬาฯ ตอบชัด ธุรกิจสุขภาพบูม-เภสัชกรค่าตัวพุ่ง

เภสัชกร

พลันที่ข่าวนำหน้า 1 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24-วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เรื่อง “เซเว่นฯ-เซ็นทรัลบุกร้านยา ทุ่มเงินเปิดศึกแย่งตัวเภสัช” พิมพ์ออกมา ปรากฏว่ามีผู้อ่านให้ความสนใจกันมาก ทั้งในสื่อกระดาษและสื่อออนไลน์

จนทำให้เกิดกระแสตามมาว่า “เภสัชกร” กำลังขาดแคลนจริงหรือ ? ถึงทำให้แบรนด์ธุรกิจร้านขายยาขนาดใหญ่ ต่างทุ่มซื้อตัวเภสัชกรในสนนเงินเดือน, ใบประกอบวิชาชีพ, โบนัส, ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการอื่น ๆ ในตัวเลขค่อนข้างสูง ทั้งนั้นเพื่อให้ “เภสัชกร” มาทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว

ผลเช่นนี้ เมื่อดูข้อมูลจากสภาเภสัชกรรมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ปรากฏว่าจำนวนเภสัชกรผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่สามารถประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมีอยู่ประมาณ 46,334 คน โดยในจำนวนนี้มีเภสัชกรประมาณ 24,182 คน ที่ทำงานในอาชีพต่าง ๆ

อาทิ ด้านสถานบริการสาธารณสุข/โรงพยาบาล, การตลาดยา, โรงงานผลิตยา และประกันคุณภาพยา, สถาบันการศึกษา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และอื่น ๆ เท่ากับว่าจะเหลือจำนวนเภสัชกรที่มีใบอนุญาตอีกประมาณ 22,152 คน

ขณะที่ร้านยาในปัจจุบันดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ 16,690 ร้าน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ผลตรงนี้ เมื่อมาดูข้อมูลของสภาเภสัชกรรมที่ระบุเพิ่มเติมว่า ร้านยาจะต้องมีเภสัชกรประจำร้านละ 1 คน และห้ามแขวนป้ายโดยเด็ดขาด

มิเช่นนั้น จะถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณ ทั้งยังมีมติให้เพิ่มบทลงโทษสูงสุดคือการพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด จนส่งผลให้ไม่สามารถทำงานในหน้าที่เภสัชกรได้

Advertisment

ดังนั้น ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นว่ามีจำนวนเภสัชกรเหลืออีกประมาณ 5,462 คน

มองจากข้อมูลเหมือนจำนวนเภสัชกรไม่ขาดแคลน แต่เนื่องจากประชากรหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจร้านยาเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งแบรนด์ใหญ่ ๆ ต่างกระโดดเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจนี้ค่อนข้างคึกคัก จึงทำให้ความต้องการเภสัชกรมากตามไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลจากสภาเภสัชกรรมชี้แจงชัดว่า ปัจจุบันมี 19-20 มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ที่ผลิตบัณฑิตเภสัชกรเพียงปีละ 1,600-1,800 คนเท่านั้น

Advertisment

ผลเช่นนี้ จึงสอบถาม “รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้อยู่ต้นทางในการผลิตบัณฑิตเภสัชกร เขาจึงตอบว่า คณะเภสัชฯ มหิดล เปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต 140 คน/ปี

และนักศึกษาส่วนใหญ่หลังจากเรียนจบภายใน 6 ปี จะเป็นเภสัชกรประจำร้านยา และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน 100% และปีการศึกษา 2566 ทางคณะมีแผนเปิดหลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติ และจะรับนักศึกษาอีกประมาณ 30 คน รวมทั้งหมดต่อไปเราจะผลิตบัณฑิตเภสัชกรประมาณปีละ 170 คน

“ผมมองว่าปัจจุบันนักศึกษาหันมาสนใจเรียนทางด้านนี้เพิ่มขึ้น และวิชาชีพเภสัชกรได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่จบแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน เงินเดือนยังค่อนข้างสูง ที่สำคัญ ตอนนี้ภาคธุรกิจ healthcare sector ให้ความสนใจด้านนี้มากขึ้น

กอปรกับภาครัฐสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น medical hub ด้วย จึงยิ่งทำให้ความต้องการทางด้านเภสัชกรสูงตามไปด้วย ฉะนั้น ถ้าย้อนหลังไป 5-6 ปีผ่านมา ผมมองว่าอาชีพเภสัชกรมีเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ”

“ในมุมมองของผม ปริมาณเภสัชกรจาก 19-20 มหา’ลัยของรัฐและเอกชนที่ผลิตบัณฑิตมาปีละ 2,000 คน ผมว่าเพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ขณะนี้แล้ว แม้ในอนาคตธุรกิจ healthcare sector จะเปิดเยอะขึ้นมากกว่านี้ก็ตาม แต่ผมกลับมีความเชื่อว่าเราไม่ควรเร่งผลิตเภสัชกรออกมามากเกินไป เพราะจะควบคุมคุณภาพไม่ได้”

ขณะที่ “ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า คณะเภสัชฯของเรารับนิสิตปริญญาตรีปีละ 200 คน โดยแบ่งออกเป็นสาขาเภสัชอุตสาหกรรม และสาขาบริบาลทางเภสัชกรรมสาขาละ 100 คน ถือว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี

เนื่องมาจากอุบัติการณ์ของโรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำให้นิสิตมีความสนใจที่จะเข้ามาเรียนในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยา, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วย

“ที่สำคัญ บัณฑิตเภสัชศาสตร์สามารถประกอบอาชีพเภสัชกรรมทั้งในภาครัฐและเอกชนในสาขาต่าง ๆ ค่อนข้างหลากหลาย และเมื่อดูข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาปี 2563 บัณฑิตเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้ อุตสาหกรรมการผลิตยา 12% ภาคบริการร้านยาและโรงพยาบาล 60% นอกจากนั้น ยังมีส่วนงานอื่น ๆ เช่น นักวิจัยในหน่วยวิจัย, เภสัชกรผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิกอีกประมาณ 28% รวม ๆ แล้วก็ 100% ที่บัณฑิตเภสัชกรของจุฬาฯมีงานทำอย่างแน่นอน”

ผลตรงนี้ จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าถ้าธุรกิจดูแลรักษาสุขภาพเติบโต อาชีพ “เภสัชกร” ยิ่งค่าตัวเพิ่มสูงขึ้น