“ไดกิ้น” ทุ่มงบก้อนโตชิงเม็ดเงินแอร์บ้าน-พาณิชย์

แอร์ไดกิ้น

“ไดกิ้น” อัดงบฯ ส่งเสริมการขาย 4 เท่า หนุนแผนชิงเม็ดเงินทั้งแอร์บ้าน-พาณิชย์ หลังเปิดตัวทัพสินค้าใหม่ ชูไฮไลต์ฟังก์ชั่นประหยัดพลังงาน-สุขภาพ เคลมแอร์บ้านกินไฟต่ำสุด 70 วัตต์ ส่วนแอร์พาณิชย์ประหยัดไฟเพิ่ม 30% แต่ขนาดลดลง 20% พร้อมลุยสร้างการรับรู้ทุกช่องทาง ตั้งเป้ารายได้เติบโต 15%

ไดสุเกะ มุราคามิ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ปี 2566 ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศมีแนวโน้มจะโตขึ้น 3% จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่หนุนให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องมีกำลังซื้อและความต้องการสินค้า สวนทางกับปี 2565 ที่ตลาดร่วมลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 คาดว่ามาจากอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น จนพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

จากแนวโน้มการฟื้นตัวนี้ บริษัทจึงปรับนโยบายเชิงรุก เพิ่มงบฯ ส่งเสริมการขาย 4 เท่า เพื่อหนุนการทำตลาดหลังเพิ่มทัพสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองดีมานด์ให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งลูกค้าครัวเรือน (B2C) และลูกค้าองค์กร (B2B)

ในกลุ่มสินค้าสำหรับครัวเรือนนั้น จะเน้นเครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง (Room Air) ทั้งรุ่น FTKF-X และ FTKQ-X ที่มาพร้อมไฮไลต์อย่าง เทคโนโลยีคอมเพรสเซอร์แบบใหม่ที่ช่วยให้ทำความเย็นได้เร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถลดอุณหภูมิของลมที่เครื่องปล่อยออกมาลงได้ถึง 15 องศาเซลเซียสภายใน 2 นาที อีกทั้งสามารถทำความเย็นอย่างต่อเนื่อง และประหยัดพลังงานมากขึ้น เพราะกินไฟต่ำสุด 70 วัตต์ในเวลากลางคืน และยังมีระบบทำความสะอาดที่สามารถล้างและเป่าคอยล์เย็นได้

ส่วนสินค้าสำหรับลูกค้าองค์กร จะมีหัวหอกเป็นเครื่องปรับอากาศ VRV 6th Generation ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2565 พร้อมจุดเด่นเป็นเทคโนโลยีคอมเพรสเซอร์ใหม่ที่ทำให้ค่าไฟถูกลง 30% เมื่อเทียบกับรุ่นมาตรฐาน อีกทั้งขนาดเครื่องภายนอกที่เล็กลง 20% ช่วยให้สามารถนำพื้นที่ที่เหลือไปเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับตัวอาคารได้

นอกจากนี้ ยังมีระบบโซลูชั่น Modular Chiller Plant ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงานและพื้นที่ เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนตามพื้นที่และการใช้งานของลูกค้าได้

ด้านกลยุทธ์การตลาดนั้น ผู้จัดการใหญ่บริษัทสยามไดกิ้นเซลส์กล่าวว่า การเพิ่มงบฯ ส่งเสริมการขาย 4 เท่านั้น เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาดให้มากขึ้น และสามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบันแบบครอบคลุมทุกด้าน ด้วยการเพิ่มความถี่ในการสื่อสารการตลาด ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ รวมไปถึงสื่อโฆษณากลางแจ้ง (Out of home) ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในจุดที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญ เพื่อเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วประเทศ และสร้างการรับรู้ บอกต่อ ไปจนถึงกระตุ้นยอดขาย

พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ในปี 2566 ไว้ที่ 15% จากปี 2565 ด้วยเม็ดเงินจากทั้งภาคครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและกลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการเปิดตัวเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่เมื่อช่วงปลายปีแล้ว ช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ไดกิ้นได้เคลื่อนไหวทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อโปรโมตทั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พร้อมนำเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนหลายชุด (VRV) เข้าทดสอบเพื่อติดฉลากเบอร์ 5 ก่อนจะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป

หรือมอบอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยระบบปรับอากาศและระบบการระบายอากาศ
ในอาคารให้กับภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และติดตั้ง “ไดกิ้นสตรีมเมอร์” เทคโนโลยีฟอกอากาศของบริษัทในรถไฟฟ้าบีทีเอสจำนวน 5 ขบวน เมื่อช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว

รวมถึงตั้ง “ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 2” ขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม หรือศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) พร้อมให้การสนับสนุนเครื่องปรับอากาศและเครื่องมือสำหรับใช้ในศูนย์ สำหรับให้บริการฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มช่างเครื่องปรับอากาศ และผู้สนใจทั่วไป

รวมถึงจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงและการแก้ไขปัญหาเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เกิดความรู้ความเข้าใจการทำงานขั้นพื้นฐานของระบบเครื่องปรับอากาศ ทั้งสำหรับที่อยู่อาศัย (residential) และเชิงพาณิชย์ (commercial)


ทั้งยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และขยายผลองค์ความรู้ด้านเครื่องปรับอากาศกระจายลงสู่ระดับภูมิภาคอีกด้วย