สัมภาษณ์
สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยหลาย ๆ ประเทศได้ทยอยประกาศเปิดประเทศได้สร้างความตื่นตัวให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่น้อย โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ที่มีการเร่งรีครูตพนักงานทางด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนที่มีการประกาศรับสมัครพยาบาลจำนวนมาก สำหรับการรองรับกลุ่มคนไข้ชาวตะวันออกกลางและชาวจีนที่นิยมเดินทางมารักษาตัวในเมืองไทย อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งพยาบาลด้วยเงินเดือนและสวัสดิการที่จูงใจ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการรับและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล, ให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาล รองรับหลักสูตร รองรับวิทยฐานะของสถาบัน และปริญญาบัตรในการประกอบวิชาชีพ ฯลฯ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและนโยบายการดำเนินงานจากนี้ไป ดังนี้
พยาบาลอยากมีสวัสดิการที่มั่นคง
รศ.ดร.สุจิตราเริ่มต้นการสนทนาว่า “…จริง ๆ พยาบาลในภาครัฐ เขาก็เป็นข้าราชการ ถึงเงินเดือนน้อยไปหน่อย แต่มี security ให้ ทุกคนจึงอยากเข้ารับราชการ แต่การบรรจุเข้ารับราชการก็มีจำกัดขึ้น เช่น กระทรวงสาธารณสุข จะได้รับการบรรจุก็ต่อเมื่อเป็นตำแหน่งที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หากเป็นกรณีในเมืองไม่ได้แล้ว ระบบนี้อาจจะต่างจากพยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบมหาวิทยาลัย ที่ได้ออกนอกระบบราชการไปแล้ว ซึ่งพยาบาลจะถูกจัดอยู่ใน category เป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย และมีอัตราการตอบแทนที่ชัดเจนและมีระบบ security เพิ่มขึ้น มีระบบและสวัสดิการที่ดี ส่วนพยาบาลของ รพ.เอกชน ก็จะมีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่สูง จึงทำให้มีการไหลจากภาครัฐไป รพ.เอกชน”
นายกสภาการพยาบาลยังบอกด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการผลิตตอนนี้ในแต่ละปี สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 101 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัย ราชภัฏ ราชมงคล ฯลฯ สามารถผลิตพยาบาลเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 10,000-12,000 คน แต่เนื่องจากพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ทำงานหนัก แต่ค่าตอบแทนน้อย ทำให้มีจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจลาออก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานไม่ถึงปีหรือปีแรกที่ลาออกไปครึ่งหนึ่ง และปีที่ 2 ก็ออกอีกประมาณ 20% คนที่จะอยู่ไปถึงเกษียณได้ ส่วนใหญ่จะต้องผ่านไปสัก 4-5 ปี หรือช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พยาบาลจำนวนหนึ่งก็อยากจะลาออกเพราะงานที่หนัก
จากสถิติพบว่า อายุการทำงานของพยาบาล ปัจจุบันค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 22.5 ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก เพราะหากทำงานจนเกษียณ 60 ปี อายุการทำงานของพยาบาลก็มีประมาณ 30 กว่าปี
เมื่อถามว่า ภาพของการรีครูตพยาบาลของ รพ.เอกชนที่เกิดขึ้น จะกระทบกับ รพ.มากน้อยอย่างไร หรือไม่
ดร.สุจิตราระบุว่า “ก็ไม่เป็นไร เพราะตรงนี้เรายังมีแผนการผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่ของจำนวนอาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากหลาย ๆ สถาบันอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากร คือ อาจารย์ ประกอบกับจะต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพด้วย”
“ที่น่าสนใจก็คือว่า ความนิยมหรือความต้องการจะเข้าเรียนพยาบาลในปัจจุบันมีสูงมาก แม้ในช่วงที่มีโควิด-19 ก็มีผู้สมัครเรียนจำนวนมาก เยอะมากกว่าจำนวนที่เรารับเข้า ก็แสดงว่าความต้องการเรียนมีสูงมาก”
สถิติยันพยาบาลยังขาดแคลน
ดร.สุจิตราให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ขาดแคลนพยาบาล ซึ่งปัญหานี้มีมานานแล้ว โดยตั้งแต่ช่วงปี 2535 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้อัตราส่วนของพยาบาลต่อประชากรมาเป็นตัวกำหนด คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา จำนวนพยาบาลต่อประชากรจะอยู่ที่ 1 : 500 ส่วน ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 1 : 300 ประเทศที่มีรายได้สูง 1 : 200
ช่วงนั้นประเทศไทยมีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากร เท่ากับ 1 : 1,392 ตัวเลขนี้สะท้อนว่าประเทศไทยขาดแคลนมาก จากนั้นก็ช่วยกันพัฒนาช่วยกันผลิตพยาบาลขึ้นมาทั้งจำนวนและคุณภาพ แต่ตอนนี้ก็ยังขาดแคลนอยู่ ล่าสุดเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ตัวเลขอยู่ที่ 1 : 371 ซึ่งกว่าจะได้ตัวเลขนี้มา ต้องใช้เวลา 20 กว่าปี
และอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องแก้ไขก็คือ การกระจายตัว เพราะตอนนี้พยาบาลจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ อีกเรื่องหนึ่งที่สภาให้ความสำคัญก็คือ การธำรงรักษาพยาบาลที่มีอยู่ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่อยากจะสูญเสียไปมากกว่านี้
เน้นธำรงรักษา-ไม่ลาออก
นายกสภาการพยาบาลยังอธิบายต่อไปว่า สาเหตุที่พยาบาลจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ตัดสินใจลาออกในปีแรก ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากพยาบาลนั้นเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก ประกอบกับการเป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่
ดังนั้น เราจะต้องเข้าไปช่วยดูแล ด้วยความสนิทสนม ทำให้เขาเห็นคุณค่าในวิชาชีพ ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน หรือในแง่รายได้ จริง ๆ แล้วน้องพยาบาลจบใหม่ เงินเดือนหรือรายได้ก็ถือว่าโอเคและสามารถอยู่ได้ นอกจากเงินเดือน ก็ยังมีรายได้จากโอที การเฝ้าไข้ที่ top up เข้ามา ต่อไปต้องให้เขาอยู่อย่างสบายใจ ไม่รู้สึกแปลกหน้า
ตอนนี้เรามีการศึกษาวิจัยออกมาแล้ว และจะทำเป็นยุทธศาสตร์เรื่องการธำรงรักษา โดยที่เราจะต้องรู้ว่าเขา talent หรือมีความสามารถ เก่งเรื่องอะไร ก็สนับสนุนให้เขาใช้ความสามารถด้านนั้น ๆ ซึ่งก็จะเป็นการธำรงรักษาเขาไว้
สำหรับช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา น้อง ๆ พยาบาลหลายคนอยากจะลาออก ทันทีที่พบว่ามีพยาบาลคนใดมี intention to leave เราก็รีบแก้ไข เช่น เข้าไปพูดคุยให้เขาเห็นว่าถึงความมีคุณค่าในวิชาชีพ รวมถึงการช่วยกันสร้างบรรยากาศการทำงานให้ดี หรือที่อยากจะออก เพราะช่วงนั้นอาจจะทำงานหนักและเหนื่อย เราก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของสวัสดิการและค่าตอบแทน เป็นต้น เพื่อธำรงให้เขาไม่ลาออกและอยู่ต่อ
กางแผนสร้าง Education Hub
พร้อมกันนี้ นายกสภาการพยาบาลยังให้สัมภาษณ์ถึงแผนงานและยุทธศาสตร์ของสภาการพยาบาลตามในปี 2566 นี้ว่า หัวใจหลักคือการผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพ ตอนนี้ระบบการศึกษาพยาบาลของประเทศไทยถือว่าอยู่ในชั้นแนวหน้า และจะมุ่งไปที่การยกระดับคุณภาพของการศึกษาสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น เช่น การสนับสนุนให้สถานศึกษาต่าง ๆ ในการเปิดรับนักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียนกับเรามากขึ้น
ตอนนี้นักศึกษานานาชาติให้ความมั่นใจกับเรื่องหลักสูตรพยาบาล ทั้งในระดับ ป.โท กับ ป.เอก ของสถาบันการศึกษาของไทยมาก และสภาต้องการจะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น และขณะนี้หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนที่กำลังขยายจำนวนของการผลิตพยาบาล รวมทั้งจีน ก็ส่งนักศึกษามาเรียน ป.โท ป.เอก เป็นจำนวนมาก เช่น นักศึกษานานาชาติในระดับ ป.เอก มี 200-300 คน กระจายหลายสถาบัน เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น
นอกจากนี้ก็มีแผนจะยกระดับให้เป็น education hub ด้วยการเพิ่มจำนวนสถาบันการศึกษาด้านพยาบาล ควบคู่กับการให้ความสำคัญในเรื่องของการผลิตผลงานวิจัย ผลิตนักวิชาการ ที่เป็นระดับนานาชาติเข้าสู่ระบบมากขึ้น (ตามแผน 5 ปี)
“มีอีกเรื่องหนึ่งต้องประชาสัมพันธ์ ตอนนี้ หลักสูตรพยาบาล 4 ปี ได้มีการปรับคุณสมบัติของการรับสมัคร จากเดิมที่จะรับเฉพาะสายวิทย์ (มัธยมปลาย) ก็รับทุกสาย ทุกสาขา ซึ่งตอนนี้เปิดรับมา 3-4 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ เหมือนกับพยาบาลศาสตรบัณฑิต แต่รับคนที่จบปริญญาตรีแล้วทุกสาขา เรียนต่ออีก 2 ปีครึ่ง ซึ่งก็เปิดไปแล้ว 4-5 แห่ง ดีมาก เพราะว่านักศึกษาพยาบาลหลักสูตรนี้ ซึ่งเขามีปริญญา (ตรี) แล้ว เขามีวุฒิภาวะ และการที่ได้เข้ามาเรียนทางด้านพยาบาลเพิ่ม จะทำให้เขาสามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้ สามารถที่จะนำไปต่อยอดในเชิงของธุรกิจ เช่น สปา เวลเนส เนิร์สซิ่งโฮม ฯลฯ”