“มาม่า” โกยรายได้ 27,429 ล้านบาท เหตุเศรษฐกิจปี’65 ฟื้น-โควิดสงบ

มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

“ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ผู้ผลิตบะหมี่มาม่า กวาดรายได้ปี 2565 รวม 27,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.95% เหตุสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การบริโภคเพิ่มขึ้นหลังซบเซามากว่า 2 ปี เผยตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2565 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้าน มาม่ายังครองแชมป์

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA แจ้งผลการดำเนินงานปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทมีรายได้รวม 27,429.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,018.88 ล้านบาท หรือ 7.95% มีรายได้จากการขายรวม 26,481.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,024.69 ล้านบาท เติบโต 8.28%

มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 2,785.92 ล้านบาท ลดลง 788.72 ล้านบาท หรือลดลง 22.06% มีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 10.16% ของรายได้รวม และมีกำไรส่วนของงบฯเฉพาะกิจการ จำนวน 1,925.50 ล้านบาท ลดลง 28.33%

สำหรับสาเหตุหลักมาจากต้นทุนการขายและค่าใช้จ่ายในการขายที่สูงขึ้น เมื่อแยกรายผลิตภัณฑ์ ในส่วนของบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศ 10,453.84 ล้านบาท เติบโต 8.29% โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโต 6.8% จากกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ส่วนเส้นขาว โจ๊กและข้าวต้ม เติบโต 27.72% ทั้งนี้สาเหตุที่กลุ่มอาหารกึ่่งสำเร็จรูปเติบโตได้ดีมาจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น

ผลการดำเนินงาน ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มาม่า
ผลการดำเนินงาน TFMAMA ปี 2565

ส่วนการส่งออกมียอดขาย 5,150.11 ล้านบาท เติบโต 12.66% โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโต 10.59% เส้นขาว โจ๊กและข้าวต้ม เพิ่มขึ้น 22.36% เป็นผลมาจากการปรับราคาขาย เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนวัตถุดิบและวัสดุที่สูงขึ้น และมูลค่าการขายเพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่า รวมถึงสถานการณ์ค่าระวางเรือได้เริ่มปรับลดลง ในช่วงไตรมาส 3/2565 และทยอยลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายยุโรปเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สินค้าเบเกอรี่ มียอดขายในประเทศ 7,528.76 ล้านบาท, ขนมปังกรอบ มียอดขายในประเทศ 752.64 ล้านบาท ส่งออก 35.62 ล้านบาท, น้ำผลไม้ ยอดขายในประเทศ 232.60 ล้านบาท ส่งออก 823.38 ล้านบาท, บรรจุภัณฑ์ ยอดขายในประเทศ 1,156.49 ล้านบาท ส่งออก 25.36 ล้านบาท

ด้านต้นทุนการขายอยู่ที่ 18,876.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,749.31 ล้านบาท หรือ 17.05% เนื่องจากวัตถุดิบหลักและค่าพลังงานเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ยืดเยื้อ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนต้นทุนขายต่อรายได้จากการขายเท่ากับ 71.28% สูงกว่าปีก่อนหน้า 5.34%

รายได้จากการขายแยกตามผลิตภัณฑ์ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์

“ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจปี 2565 เป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจซบเซามากว่า 2 ปี ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว แต่กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวจากหลายปัจจัย อาทิ เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น”

โดยมูลค่าตลาดบะหมี่และเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 17,106 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 12.2 จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการปรับราคาขายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 ซึ่งแบรนด์มาม่าสามารถรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดรวมร้อยละ 49

ในปี 2565 บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน จำนวน 3,313.43 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุน และจากการจัดหาเงินจำนวน 1,937.90 ล้านบาท และ
1,119.26 ล้านบาท ตามลำดับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน
3,827.28 ลา้นบาท สูงกว่าปี 2564 เป็นเงิน 238.70 ล้านบาท

ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดปี 2565 ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันปาล์มที่เป็นวัตถุดิบหลักใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นเท่าตัวมาตั้งแต่ปลาย 2564 ส่งผลให้ต้นทุนขายรวมของกลุ่มบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มบะหมี่และอาหารสำเร็จรูปเป็นรายได้หลักของกลุ่มบริษัท

โดยมีสัดส่วนการขายกึ่งหนึ่งของรายได้จากการขายรวม ประกอบกับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายภายในประเทศไทยเป็นสินค้าควบคุมราคาขายปลีกโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในได้อนุมัติให้บริษัททยอยปรับราคาขายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ในช่วงไตรมาส 3 เพื่อให้กระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืนหรือ ESG ภายใต้หลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัล ASEAN Asset Class PLCs ประจำปี 2564 ทำคะแนนได้ตั้งแต่ 97.50 จากการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน

“อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยและอิทธิพลหลักที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต ทั้งจากสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และความเสี่ยงทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อที่ขยายวงกว้าง รวมถึงวิกฤตราคาพลังงาน” เอกสารตอนหนึ่งที่รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯระบุในตอนท้าย