เปิดประวัติ เฮลซ์บลูบอย (Hale’s Blue Boy) แบรนด์น้ำหวานไทยพันล้าน

เฮลซ์บลูบอย Hale's Blue Boy

เปิดประวัติ เฮลซ์บลูบอย (Hale’s Blue Boy) แบรนด์น้ำหวานของไทย ที่เติบโต มีกำไรเป็นพันล้าน ด้วยพระเอกเพียงคนเดียว

น้ำหวาน หนึ่งในของคู่คนไทยที่เติมความสดชื่นให้กับผู้คนมาแล้วทุกยุคสมัย ตั้งแต่รูปของน้ำหวานแบบชงดื่ม และของหวานสุดยอดนิยม “น้ำแข็งไส” ที่นิยมอย่างมากในช่วงหน้าร้อนของทุก ๆ ปี

และเมื่อพูดถึงแบรนด์น้ำหวานยอดนิยมของคนไทย ชื่อหนึ่งที่มักนึกถึง นั่นคือ “เฮลซ์บลูบอย (Hale’s Blue Boy)” แบรนด์น้ำหวานคู่คนไทย ที่อยู่มานานกว่า 6 ทศวรรษ มีรายได้แต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย และยังมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้โหมทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์หนักเท่าสินค้าอื่น ๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักแบรนด์น้ำหวานผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีให้มากขึ้น

จุดเริ่มต้น “เฮลซ์บลูบอย”

เรื่องราวของแบรนด์น้ำหวานแบรนด์นี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2502 จากการมองเห็นโอกาสและการคิดค้นโดย พี่น้อง 4 คนแห่งตระกูลพัฒนะเอนก ซึ่งขณะนั้นยังทำร้านโชห่วย และเห็นช่องว่างของธุรกิจนี้ เพราะยังมีน้อยมากในตลาดเมืองไทย

จึงได้เริ่มพัฒนาสูตรน้ำหวาน และวางขายที่ร้านของตัวเอง แต่กลับกลายเป็นว่า สินค้าขายดีอย่างมาก จึงมองเห็นโอกาสใหม่ นั่นคือ การสร้างแบรนด์ ซึ่งเฮลซ์บลูบอย ถิอเป็นแบรนด์น้ำหวานลำดับแรก ๆ ของไทยที่สร้างแบรนด์และมีเครื่องหมายการค้าที่ชัดเจน และกลายมาเป็นน้ำหวาน “เฮลซ์บลูบอย” ที่ทุกคนชื่นชอบมาจนถึงตอนนี้

กระทั่งปี 2521 เริ่มจดทะเบียน บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายน้ำหวานเข้มข้น และน้ำตาลก้อนสำหรับใช้กับเครื่องดื่มกาแฟ

หนึ่งในภาพจำสำคัญของแบรนด์นี้ คือ ตัวอักษรและรูปเจ้าหนูบลูบอยที่เป็นโลโก้สำคัญของแบรนด์ ซึ่งทำมาจากการสลักบนแผ่นไม้ด้วยมือทั้งหมด ไม่ได้ผ่านการออกแบบจากคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ทำให้ได้เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และยากต่อการเลียนแบบด้วยเช่นกัน

น้ำหวาน “ขวดแก้ว”

อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญของ “เฮลซ์บลูบอย” คือ การใช้ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งช่วยให้น้ำหวานมีอายุการเก็บรักษาที่นานกว่าเดิม นอกเหนือจากการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี

และสิ่งที่แบรนด์คิด ก็ไม่ได้อนุมานหรือจินตนาการขึ้นมาเอง เพราะมี ข้อมูลยืนยัน ว่า การใช้ขวดแก้ว ช่วยให้คุณภาพของน้ำหวานหรือน้ำเชื่อมต่าง ๆ คงอยู่ได้นานกว่าการใช้ขวดพลาสติก เนื่องจากออกซิเจนสามารถซึมผ่านขวดพลาสติก และทำปฏิกิริยาต่อน้ำหวานหรือน้ำเชื่อมที่บรรจุภายในขวดพลาสติก ซึ่งจะทำให้สีของน้ำหวาน-น้ำเชื่อมมีความเข้มขึ้น และมีผลต่อรสชาติอีกด้วย

อีกหนึ่งความเจ๋งของน้ำหวาน คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องแนะนำหรืออธิบายการใช้งานให้มากมาย เพราะสามารถใช้ชงกับน้ำดื่มหรือโซดา เป็นเครื่องดื่มเย็น ๆ ชื่นใจได้เลย หรือจะหยิบมาครีเอตเป็นเมนูของหวานต่าง ๆ ได้ตามใจ

ส่อง Line-Up ความหวานของ “เฮลซ์บลูบอย”

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ เฮลซ์บลูบอย มีเพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ น้ำหวานเข้มข้น และน้ำตาลก้อน

โดยน้ำหวานเข้มข้น เพียงผลิตภัณฑ์เดียว มีมากถึง 9 กลิ่น คือ ครีมโซดา องุ่น มะลิ สับปะรด กุหลาบ สละ ซาสี่ สตรอว์เบอรี่ และแคนตาลูป แต่กลิ่นที่นิยมที่สุดของหลาย ๆ ครัวเรือน คงหนีไม่พ้น กลิ่นสละ และกลิ่นครีมโซดา

และน้ำหวานเข้มข้น ก็เป็นสินค้าพระเอกของแบรนด์ ที่ยังขายดีเป็นล่ำเป็นสัน ทำกำไรให้บริษัทต่อปีมากถึงหลักพันล้านบาท

Hale's Blue Boy
ภาพจาก halesblueboy.co.th

นอกจาก น้ำหวานเข้มข้น ที่เป็นพระเอกของแบรนด์นี้แล้ว เฮลซ์บลูบอย ยังมีผลิตภัณฑ์น้ำตาลก้อนที่ใช้กับกาแฟอีกด้วย

น้ำตาลก้อน Hale's Blue Boy
ภาพจาก bigc.co.th

ยิ่งไปกว่านั้น น้ำหวานของเฮลซ์บลูบอย ต่อยอดจากการเป็นน้ำหวานเข้มข้น ชงดื่มได้เอง สู่การเป็นตู้กด โพสต์-มิกซ์ (Post-Mix) ซึ่งมีการจำหน่ายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 11 ปากซอย 12 และจำหน่ายทั้งหมด 6 รสชาติ คือ สละ ครีมโซดา มะลิ องุ่น แคนตาลูป และซาสี่

เว็บไซต์ Breakfast & Friends เคยนำเสนอเรื่องราวจากคำบอกเล่าของคุณป้าเจ้าของร้านไว้ว่า เริ่มเปิดขายมาตั้งแต่ปี 2547 โดยบริษัทดูแลทุกกระบวนการ ตั้งแต่การส่งวัตถุติบน้ำหวาน โซดา ไปจนถึงการดูแลเครื่องกดน้ำ

ตู้กด Hale's Blue Boy
ภาพจาก Twitter KP ตะลอนแหลก

ส่องผลประกอบการ เฮลซ์บลูบอย

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 60 ล้านบาท และมีผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2560-2564 เป็นดังนี้

พ.ศ. 2560

  • รายได้รวม 2,594,036,000.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,003,858,000.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 465,097,000.00 บาท

พ.ศ. 2561

  • รายได้รวม 2,888,963,000.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,953,730,000.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 749,186,000.00 บาท

พ.ศ. 2562

  • รายได้รวม 3,768,881,000.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,394,970,000.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,099,086,000.00 บาท

พ.ศ. 2563

  • รายได้รวม 3,319,766,000.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,999,857,000.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,057,203,000.00 บาท

พ.ศ. 2564

  • รายได้รวม 3,563,337,165.83 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,140,796,076.67 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,137,320,288.98 บาท
ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566