คอลัมน์ : Market Move
หลังจากอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย ฯลฯ
ล่าสุดถึงคิวของโซนตะวันออกกลาง รวมไปถึงแอฟริกาเหนือที่เกิดกระแสฮิตทานอาหารญี่ปุ่น จนมีร้านอาหารญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบผุดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อิสราเอล และจอร์แดน อีกทั้งประเทศเหล่านี้ยังเริ่มนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มจากญี่ปุ่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 ญี่ปุ่นส่งอาหารเครื่องดื่มไปตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นถึง 65% จนเมื่อปี 2565 ตัวเลขการส่งอาหารไปตะวันออกกลางมีมูลค่าสูงถึง 1.25 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 3 พันล้านบาท) และเมื่อดูตามรายประเทศยอดส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ช่วงปี 2562-2565 โตเกินเท่าตัว แตะ 7.2 พันล้านเยน ส่วนคูเวตโตถึง 2.5 เท่า ขณะที่อิสราเอลและกาตาร์โตเกือบเท่าตัว
ขณะที่นิกเคอิเอเชียรายงานว่า อาหารญี่ปุ่นกำลังเป็นเมนูฮอตฮิตอินเทรนด์ของผู้บริโภคในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้บรรดาร้านอาหาร และผู้ผลิตอาหาร-เครื่องดื่ม รวมถึงผู้นำเข้าสินค้าในตะวันออกกลางพากันหาวัตถุดิบ-สินค้าของญี่ปุ่นมาใช้ในธุรกิจหรือนำเข้ามาขาย
สาเหตุที่ความนิยมอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในหลายประเทศของภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นฐานลูกค้าชนชั้นกลาง ช่วยให้อาหารญี่ปุ่นกลายเป็นอาหารที่ผู้บริโภคจับต้องได้ง่ายมากขึ้น ต่างจากยุคก่อนที่อาหารญี่ปุ่นนับเป็นอาหารระดับหรูสำหรับคนรวยเท่านั้น
ตัวอย่างหนึ่งคือ ปัจจุบันในช่วงเย็นของดูไบนั้น เชนร้านซูชิในห้างสรรพสินค้าต่างคลาคล่ำไปด้วยลูกค้า ทั้งผู้บริโภคท้องถิ่นชาวอาหรับและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มานั่งทานอาหาร ด้วยแรงดึงดูดจากระดับราคาที่สบายกระเป๋ากว่า แม้เมนูในร้านจะหนักไปทางสไตล์ฟิวชั่น อย่าง แคลิฟอเนียโรล และเกี๊ยวต่าง ๆ มากกว่าซูชิต้นฉบับแบบญี่ปุ่นที่มักจะมีราคาแพงกว่ามากก็ตาม
ขณะเดียวกัน จำนวนเชนร้านซูชิและราเม็งกำลังเติบโตเป็นดอกเห็ดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยองค์การค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่มจาก 196 แห่ง เมื่อปี 2559 เป็น 288 ร้าน ในปี 2564
และไม่เพียงแค่อาหาร แต่เมนูอาหารญี่ปุ่นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบเกอรี่ รวมไปถึงวัตถุดิบของญี่ปุ่นเองยังได้รับความนิยมในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน หลังชาโตเรเซ่ (Chateraise) ร้านเบเกอรี่สัญชาติญี่ปุ่นเข้าไปปักธงสาขาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมด้วยเมนูเบเกอรี่และกาแฟสไตล์ตะวันตก แต่ใช้วัตถุดิบนำเข้าตรงมาจากญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับผลรวบรวมสุดยอด 50 ร้านอาหารในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของสำนักพิมพ์วิลเลียม รีด ซึ่ง 15 อันดับเป็นร้านอาหารหรืออาหารญี่ปุ่นสไตล์ฟิวชั่ันที่อยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย โมร็อกโก ฯลฯ รวมเสิร์ฟเมนูหลากหลายนอกเหนือจากซูชิ เช่น ยากิโทริ หรือไก่ย่างเสียบไม้ และทาโกะยากิ
ความนิยมนี้ทำให้เมื่อช่วงต้นปีบรรดาผู้เกี่ยวข้องในทั้งในและนอกวงการอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ว่าจะเป็นเชฟ ผู้นำเข้าอาหาร และอื่น ๆ มารวมตัวกันที่บ้านพักของกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในดูไบ เพื่อทดลองชิม เห็ดชิตาเกะ (เห็ดหอม) ของญี่ปุ่น โดยในงานนี้มีการเสิร์ฟเมนูอาหารจากเห็ดชิตาเกะที่ปรุงโดยเชฟระดับมิชลินประจำภัตตาคารในกรุงดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ซึ่งญี่ปุ่นเชิญตัวมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
“โนโบรุ เซคิกุจิ” กงสุลใหญ่ประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อธิบายว่า เห็ดชิตาเกะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของเมนูอาหารญี่ปุ่น เนื่องจากสามารถให้รสอูมามิ หรือรสอร่อยออกมาได้ และถึงแม้ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ ในดูไบจะเริ่มมีวัตถุดิบจากญี่ปุ่นอย่างเห็ดชิตาเกะและเห็นเอโนกิ (เห็ดเข็มทอง) วางขายบ้างแล้ว แต่เห็ดที่ปลูกในญี่ปุ่นจริง ๆ นั้นยังเป็นของหายากอยู่
นอกจากนี้ “คาซุฮิเดะ ซุกิโมโตะ” หัวหน้าผู้จัดจำหน่ายเห็ดชิตาเกะของบริษัทซุกิโมโตะ ยังอธิบายว่า เห็ดชิตาเกะที่ปลูกในญี่ปุ่นยังมีความพิเศษแตกต่างจากแหล่งอื่น ๆ เนื่องจากการปลูกบนไม้ชนิดพิเศษที่มีกรดกัวนิลิกที่ทำให้เกิดรสอูมามิสูง
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันทั้งดีมานด์และผู้ปลูกในญี่ปุ่นเริ่มลดลง ทำให้บริษัทเริ่มมองหาลู่ทางขยับขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันบริษัทผ่านการรับรองมาตรฐานโคเชอร์ หรือมาตรฐานสำหรับศาสนายิวแล้ว
แม้จะมีกระแสฮิตอาหารญี่ปุ่นเกิดขึ้น แต่ตลาดตะวันออกกลางยังมีสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าการส่งออกอาหารของญี่ปุ่น หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกไปยังยุโรปตะวันตก เนื่องจากความท้าทายด้านกฎเกณฑ์อย่างข้อจำกัดด้านแอลกอฮอล์และมาตรฐานฮาลาล ทำให้อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่ญี่ปุ่นจะสามารถรุกเข้าสู่ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มของตะวันออกกลางได้อย่างเต็มที่