ออเจ้า…ช่วยไม่ไหว ช่อง 3 เปิดเออร์ลี่ คุมรายจ่ายลดต้นทุน

แม้ว่าจะได้รับเสียงชื่นชมล้นหลามกับละครดัง “บุพเพสันนิวาส” ได้ทั้งเรตติ้งคนดู และเม็ดเงินโฆษณา แต่ภาพโดยรวมของกลุ่มบีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 ยังตกอยู่ในภาวะต้องพลิกฟื้นสถานการณ์โดยเร่งด่วน หลังจากผลประกอบการมีปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาที่ทำได้ลดลง ขณะที่มีช่องทีวีภายใต้การดูแลถึง 3 ช่อง ทำให้ตัวเลขรายจ่ายสูงมาก ทั้งต้นทุนบุคลากร และต้นทุนการผลิตรายการ

สะท้อนจากผลประกอบการปี 2560 ล่าสุด ที่มีกำไรเพียง 61 ล้านบาท ต้องงดจ่ายเงินปันผล พร้อมกับแผนเสนอขายหุ้นกู้ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสมดุลต้นทุนทางการเงิน

รายงานข่าวจากกลุ่มบีอีซี เวิลด์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางของกลุ่มช่อง 3 จากนี้ไปจะลดรายจ่ายทุกด้าน ในส่วนต้นทุนพนักงาน ล่าสุดมีแผนเออร์ลี่รีไทร์เริ่มจากฝ่ายข่าว โดยเสนอผลตอบแทนสูงสุดให้ 10 เท่าของเงินเดือนและพนักงานรุ่นเก่าที่เดิมไม่มีกำหนดเวลาเกษียณอายุให้เข้าโครงการนี้ด้วย

“ที่ผ่านมาช่อง 3 เพิ่งมี HR ทีมใหม่เข้ามา ได้มีการกวดขันการทำงานในทุก ๆ ส่วน ทั้งเวลาการเข้างาน ค่าใช้จ่ายการทำงานในต่างจังหวัด”

ในส่วนการผลิตรายการได้ปรับผังใหม่ โดยเฉพาะช่อง 13 ที่มีการปรับผังรายการข่าวออกเกือบทั้งหมด ลดสัดส่วนรายการที่ผลิตเอง และหันใช้คอนเทนต์ที่ซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า และการรีรันคอนเทนต์เดิมเข้ามาทดแทน

ล่าสุด ช่อง 3 ทดลองออกอากาศข่าว 3 มิติ จากเดิม 7 วัน เหลือ 6 วัน เพื่อเช็กเรตติ้งโดยส่งรายการใหม่แนวสยองขวัญ เข้ามาเสียบในคืนวันพฤหัสบดี ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาทดลองโมเดลนี้ 1 เดือน แม้ว่าที่ผ่านมาเรตติ้งข่าว 3 มิติ จะดีมากก็ตาม

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้รับการเปิดทางจากนายประวิทย์ มาลีนนท์ ซึ่งทุกคนทราบดีว่ายังมีอิทธิพลในช่องสูงมาก” รายงานข่าวระบุ

ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้

การเข้ามารับกอบกู้บัลลังก์ให้แก่ช่อง 3 ทั้งด้านเรตติ้ง และรายได้ของ “ประชุม มาลีนนท์” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบีอีซี เวิลด์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องเดินหน้า ย้ำภารกิจหลัก คือลดต้นทุน พร้อม ๆ กับเพิ่มรายได้

ทั้งนี้ ต้นทุนหลักของกลุ่มช่อง 3 คือ บุคลากร และคอนเทนต์ ขณะที่รายได้หลักมาจากช่อง 33 เอชดี (ช่อง 3) เพียงช่องเดียว ส่วนอีก 2 ช่อง คือ ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ ยังไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้

ยอมรับ…เหนื่อย

“ประชุม มาลีนนท์” ฉายภาพกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจทีวีปีนี้ไม่ต่างจากที่ผ่านมา ยังหนัก และเหนื่อยเพราะจำนวนช่องยังเท่าเดิม ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีไม่ได้โตขึ้น ประกอบกับมีการแข่งขันด้านราคาโฆษณาของแต่ละช่อง กลายเป็นปัญหากับโครงสร้างตลาดรวม โดยแข่งขันยังสูง ส่วนแบ่งการตลาดเท่าเดิม แต่การใช้งบฯโฆษณาก็ยังไม่ดี

ทั้งนี้ ช่อง 33 เอชดี ยังเป็นหัวหอกหลักในการสร้างรายได้ ขณะที่ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ เน้นเจาะกลุ่มผู้ชมตามเซ็กเมนเตชั่น มาเติมเต็มในส่วนที่ช่อง 33 เอชดี ขาดไป “ประชุม” ระบุว่า พยายามเพิ่มรายได้จากทุกช่องทาง ทั้งการบริหารศิลปิน ขายคอนเทนต์ละคร พร้อมทั้งพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้แข็งแรง ทั้งแอปพลิเคชั่น MelloThailand และเว็บไซต์ Mello.me

ในส่วนการคืนช่องทีวีดิจิทัลนั้น “ประชุม” ย้ำว่า…คงไม่คืนช่อง เพราะคือ อาชีพของเรา แต่ต้องปรับตัวและรับมือให้ทัน เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน

ทีวีดิจิทัลเดือดไม่หยุด

ด้านมีเดียเอเยนซี่ “ปัทมวรรณ สถาพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด ให้มุมมองว่า ภาพรวมการแข่งขันของทีวีดิจิทัลเพิ่มดีกรีขึ้นต่อเนื่อง หลายช่องมีการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์โดยเบอร์ 2 อย่าง ช่อง 3 ถือว่ามีการปรับตัวที่ดี เริ่มตั้งแต่ปลายปีก่อนด้วยการเสริมทีมผู้บริหารเลือดใหม่เข้ามา รวมถึงความชัดเจนในการขยายช่องทางการรับชมผ่านออนไลน์ “เมลโล่” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงจากทุกมิติที่กำลังเกิดขึ้น …การอยู่ในสนามทีวีดิจิทัลที่ร้อนฉ่าจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”