เปิดขุมทรัพย์แรงงานเมียนมา “เอ็มไอ” ชี้โอกาสทองธุรกิจไทย

“เอ็มไอ กรุ๊ป” เปิดผลวิจัย “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” เจาะลึกข้อมูลแรงงานกว่า 6.8 ล้านคน ชี้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท/ปี ย้ำโอกาสทองธุรกิจไทย สินค้าจำเป็นยอดฮิต ตั้งแต่ ซิมการ์ด ที่พัก ของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า ยันเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ จับตาจ๊าตอ่อนค่า-ไทยขึ้นค่าแรง ดึงแรงงานเมียนมาเข้าไทยเพิ่มอีกระลอก

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP เปิดเผยว่า ล่าสุด MI BRIDGE หน่วยงานการตลาดในต่างประเทศ ได้ร่วมกับ MI Learn Lab หน่วยงานทำวิจัยทางการตลาด ได้นำเสนอวิจัยล่าสุด เกี่ยวกับข้อมูลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” ที่คาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานเมียนมามีสูงถึง 6.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับ Gen Z ของประชากรไทย ซึ่งสะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนา สินค้า-บริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานนี้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 828,000-1,242,000 ล้านบาท/ปี

การวิจัยครั้งนี้ได้ทำทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ จากกลุ่มตัวอย่าง 212 คน (ทั่วประเทศ) ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566 และสัมภาษณ์เชิงลึก 50 คน (กรุงเทพฯและปริมณฑล) ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2566 เพื่อทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และแรงขับเคลื่อนในการย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานที่ประเทศไทย รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและการใช้เวลาว่างของกลุ่มเป้าหมาย

กราฟฟิก_การใช้จ่ายแรงงานพม่า-01

จากการวิจัยพบว่าแรงงานชาวเมียนมากว่า 88% ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งที่การหารายได้เป็นสำคัญ และการเข้ามาทำงานในไทยสามารถช่วยสร้างรายได้ถึง 10,000-15,000 บาท/เดือน คิดเป็น 3-15 เท่าของเงินเดือนตอนที่อยู่ประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานที่วางเป้าหมายในการหารายได้อย่างชัดเจน ส่วนมากกำหนดระยะเวลาทำงานในไทย 3-5 ปี เพื่อนำเงินกลับไปตั้งตัวและกลับไปใช้ชีวิตที่เมียนมา ขณะที่กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่มองที่เป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องการเก็บให้ครบเป็นสำคัญ และด้วยแรงผลักดันในการเก็บเงินนี้ แรงงานชาวเมียนมาจึงต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้กลุ่มแรงงานมีเวลาน้อย และใช้เวลาว่างไปที่กิจกรรม 2 ประเภท เมื่อมีวันหยุด คือจับจ่ายซื้อของและเล่นอินเทอร์เน็ต

ADVERTISMENT

ขณะที่นายวิชิต คุณคงคาพันธ์ Head of International Business Development, MI GROUP กล่าวเสริมว่า สำหรับแรงงานชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทย สามารถแบ่งช่วงชีวิตออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก โดยแต่ละกลุ่มนี้จะมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป ได้แก่ “ช่วงตั้งหลัก” ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในไทย จะมีความต้องการซิมการ์ด ที่พัก ของใช้ส่วนตัว และเสื้อผ้า โดยจะหาข้อมูลจากเพื่อนชาวเมียนมาด้วยกัน และนายหน้าผ่านการพูดคุยโดยตรง หรือกลุ่มในเฟซบุ๊ก รวมถึงดูจากสื่อนอกบ้านต่าง ๆ

ส่วน “ช่วงตั้งตัว” ที่ทำงานและใช้ชีวิตได้ระยะหนึ่งแล้ว ต้องการเปิดบัญชีเงินฝาก เครื่องใช้ไฟฟ้าพื้นฐาน เช่น หม้อหุงข้าว พัดลม (ราคาระดับพื้นฐาน) สมาร์ทโฟน ราคา 4,000-13,000 บาท เสื้อผ้าแฟชั่น สกินแคร์ สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงซื้อทอง เพื่อการออมในระดับ 16,000-18,000 บาท เน้นการรับสื่อทางเฟซบุ๊กเป็นหลัก รองลงมาเป็นยูทูบ ติ๊กต๊อก และติดต่อกันผ่านเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ และไลน์ นอกจากนี้ ยังเริ่มช็อปปิ้งเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านออนไลน์ในลาซาด้า เฟซบุ๊ก ช้อปปี้ และติ๊กต๊อก

ADVERTISMENT

และกลุ่มสุดท้าย “ช่วงตั้งใจ” ที่เน้นการติดต่อครอบครัวและเตรียมตัวกลับประเทศ ต้องการบริการด้านสื่อสารและการโอนเงินกลับไปให้ครอบครัวในเมียนมา รวมถึงของฝากที่จะซื้อกลับไปในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ เช่น ยา อาหารเสริม รังนก เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ทีวี หม้อหุงข้าว พัดลม รวมถึงทอง ส่วนการรับสื่อจะไม่แตกต่างจากช่วงอื่น มีเพียงการใช้เทเลแกรมพูดคุยหรือแชร์คอนเทนต์ระหว่างแรงงานด้วยกันที่เพิ่มเข้ามา

“โดยการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจะให้น้ำหนักกับปัจจัยการเข้าถึงได้ง่าย ทั้งการหาซื้อ บริการส่ง และมีคำอธิบาย หรือสามารถพูดคุยในภาษาเมียนมาได้ พร้อมคุณภาพเหมาะสมในราคาจับต้องได้ ส่วนบริการเกี่ยวกับการเงิน จะเน้นความโปร่งใส ปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ”

นอกจากนี้ จากการวิจัยยังพบว่า เพื่อเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย แรงงานชาวเมียนมาออมเงินได้ถึง 44% หรือเกือบครึ่งของรายรับ ซึ่งการออมเงินดังกล่าวจะเป็นเงินที่ส่งกลับบ้านประมาณ 2 ใน 3 เพื่อให้ครอบครัวที่เมียนมามีเงินใช้และมีเงินออม และเหลือเงินเก็บที่ตัวเองเพียง 1 ใน 3 เมื่อพิจารณาในด้านค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ แรงงานชาวเมียนมายังมีการควบคุมรายจ่ายราว 56% จากรายได้ทั้งหมด โดยมีค่าใช้จ่ายสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 37% ค่าที่อยู่อาศัย 16% ค่าโทรศัพท์ 3%

นายวิชิตกล่าวต่อไปว่า แม้คนกลุ่มนี้จะมีเป้าหมายด้านการออมเงินและส่งเงินกลับประเทศเป็นหลัก แต่ยังมีความต้องการสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งของจำเป็นในการใช้ชีวิต และของฟุ่มเฟือยบางอย่าง ซึ่งมีทั้งการซื้อในตลาด เช่น ย่านประตูน้ำ ตลาดนัดจตุจักร ตลาดบางบอน และการช็อปออนไลน์ผ่านมาร์เก็ตเพลซ และโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการไทยหรือต่างชาติเข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้แบบเฉพาะเจาะจงมากนัก จึงมีการแข่งขันต่ำ และเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะรุกเข้าทำตลาด ปัจจุบันมีเพียงค่ายมือถือและธนาคารที่จับกลุ่มแรงงานเมียนมาอย่างชัดเจน ด้วยการติดตั้งสื่อโฆษณาภาษาเมียนมาบริเวณชายแดน ทำซิม-แพ็กเกจ หรือบริการโอนเงินแบบเฉพาะ มีคอลเซ็นเตอร์ภาษาเมียนมา ลงพื้นที่ทำตลาดในย่านนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แรงงานเมียนมาในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลเมียนมามีแนวโน้มส่งออกแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือปัญหาเงินจ๊าตอ่อนค่า ขณะที่ไทยต้องการแรงงานเพิ่มตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และการขึ้นค่าแรงก็เป็นแรงจูงใจดูดแรงงานเข้ามา รวมถึงในอนาคตกลุ่มชนชั้นกลางของเมียนมาจะเดินทางเข้ามาทำงานด้านธุรการตามออฟฟิศในไทยมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีชาวเมียนมาเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

“แม้ขณะทำวิจัยเมื่อต้นปี 2566 จะมีแรงงานเมียนมาในไทยประมาณ 6.8 ล้านคน แต่เชื่อในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีจำนวนสูงกว่านี้มาก ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่เดินทางกลับประเทศไปและกำลังเดินทางกลับเข้ามาอีกครั้ง” นายวิชิตกล่าว